การอนุญาตสิทธิเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในประเทศไทย
การขยายตัวอย่างรวดเร็วของธุรกิจแพร่ภาพกระจายเสียง ทำให้หลายๆ ประเทศจำเป็นต้องพัฒนา และเกิดการแข่งขันใจกิจการดาวเทียมเพิ่มขึ้น
การเปิดเสรีทางด้านกิจการดาวเทียมนั้น ถือว่าเป็นทางเลือกที่ได้ถูกหยิบยกขึ้นพิจารณาเป็นทางเลือกที่สำคัญ เพื่อเปิดให้ดาวเทียมต่างชาติสามารถเข้ามาให้บริการแก่ผู้ใช้บริการภายในประเทศได้ ทั้งนี้หลายประเทศได้มีการให้สิทธิผู้ประกอบการต่างชาติในการใช้สิทธิวงโคจรดาวเทียมที่ประเทศตนครอบครองอยู่ เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคในประเทศตนมากยิ่งขึ้นทั้งในแง่คุณภาพการบริการ และในแง่อัตราค่าบริการที่ลดลง
สำหรับการเปิดเสรีทางด้านการให้บริการกิจการดาวเทียมนั้น ไม่ได้ถูกกำหนดไว้โดยเฉพาะในบัญชีสาขาบริการที่จะทำการเปิดตลาดของ WTO แต่ต่อมาภายใต้การเจรจา Fourth Protocol ประเทศภาคีได้มีการตกลงให้บริการดาวเทียมเป็นการให้บริการตามหลักความเป็นกลางทางเทคโนโลยี ซึ่งหมายถึงการให้บริการต่าง ๆ ที่สามารถใช้บริการดาวเทียมเป็นตัวส่งบริการได้ ก็ถือว่าบริการนั้นเป็นหนึ่งในการสื่อสารเพื่อส่งผ่านข้อมูล
และเพื่อให้ประเทศภาคีเข้าใจตรงกันจึงได้มีการประกาศว่าบริการโทรคมนาคมขั้นพื้นฐาน รวมถึงการให้บริการผ่านดาวเทียมที่อยู่ในบริการแพร่ภาพกระจายเสียงด้วย ซึ่งบริการดังกล่าวนี้เป็นบริการที่มีประเทศสมาชิกจำนวนน้อยที่เปิดตลาด เนื่องจากมักมีความเกี่ยวพันกับความมั่นคงของรัฐ
สหภาพยุโรปได้เปิดเสรีในตลาดบริการโทรคมนาคมในระดับสูง คือเปิดให้ผู้ประกอบการจากสมาชิกประเทศอื่นเข้าสู่ตลาดได้โดยไม่มีอุปสรรค ดังนั้น ผู้ประกอบการดาวเทียมต่างชาติจึงสามารถเข้าไปให้บริการในตลาดของสหภาพยุโรปได้โดยเสรี แต่สำหรับบริการแพร่ภาพกระจายเสียง สหภาพยุโรปได้มีการเจรจาขอยกเว้นการปฏิบัติตามหลักปฏิบัติอย่างชาติที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่ง (MFN) นั่นคือสหภาพยุโรปสามารถเลือกปฏิบัติกับดาวเทียมต่างชาติที่ขอเข้ามาให้บริการแพร่ภาพกระจายเสียงได้
สำหรับประเทศไทย คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างนโยบายการพิจารณาอนุญาตให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศไทย โดยให้นิยามว่าดาวเทียมต่างชาติ คือ GSO (Geo-stationary Earth Orbit) และ Non- GSO (Non- Geo-stationary Earth Orbit) ที่ใช้สิทธิข่ายงานดาวเทียมของประเทศอื่น โดยมีขอบเขตของนโยบายนี้ใช้กับดาวเทียมสื่อสารที่อย่างน้อยต้องรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมตามกฎหมายไทย
ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช) ได้มีการออกประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม พ.ศ. 2563 ขึ้น โดยสอดคล้องกับข้อบังคับวิทยุของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนตามแผนการบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ซึ่งถือเป็นการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมโดยระบบการอนุญาตของประเทศไทย
ประกาศดังกล่าวได้นิยามถึงสิทธิการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมเป็นสองประเภท คือ สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมขั้นต้น และสิทธิการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมขั้นสมบูรณ์ ซึ่งทั้งสองสิทธินี้มีความแตกต่าง ดังนี้
“สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมขั้นต้น” หมายความว่า สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ที่เกิดขึ้นเมื่อประเทศไทยได้แจ้งขอใช้ข่ายงานดาวเทียมต่อสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศและอยู่ใน ขั้นตอนการจัดพิมพ์ข้อมูลล่วงหน้าหรือขั้นตอนการประสานงานคลื่นความถี่ แต่ยังไม่ได้รับการแจ้งจดทะเบียน และบันทึกไว้ในทะเบียนความถี่หลักระหว่างประเทศ (Master International Frequency Register - MIFR) แห่งสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU)
“สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมขั้นสมบูรณ์” หมายความว่า สิทธิในการเข้าใช้วงโคจร ดาวเทียมที่ประเทศไทยได้รับเมื่อข่ายงานดาวเทียมได้รับการแจ้งจดทะเบียนและบันทึกไว้ในทะเบียน ความถี่หลักระหว่างประเทศ (Master International Frequency Register - MIFR) แห่งสหภาพ โทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU)
สำหรับผู้ที่ประสงค์จะใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมเพื่อใช้ในการให้บริการเชิงพาณิชย์ จะต้องได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมขั้นสมบูรณ์และใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สามตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการโทรคมนาคมด้วย
ผู้ขอรับอนุญาตเพื่อใช้ในการให้บริการเชิงพาณิชย์จะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
(1) เป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย
(2) มีสถานประกอบการในประเทศไทย
(3) ต้องมิใช่เป็นคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว โดยมีอัตราค่าธรรมเนียมการอนุญาตให้ใช้สิทธิ 2,000,000 บาท ต่อหนึ่งสิทธิในการเข้าใช้วงฌโคจรดาวเทียม
และสำหรับการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมตามแผน (Plan) และสิทธิ ในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมสำหรับข่ายงานดาวเทียมที่มีอยู่เดิมที่ไม่มีการใช้งานตามสัญญา ดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ กสทช. จะประกาศกำหนดต่อไป
ผู้ขอรับอนุญาตเพื่อใช้ในภารกิจของหน่วยงานหรือเพื่อใช้งานเฉพาะกิจ โดยไม่ใช้เพื่อการให้บริการเชิงพาณิชย์ ต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
(1) เป็นส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐ
(2) เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และต้องมิใช่เป็นคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมการอนุญาตให้ใช้สิทธิ)
ทั้งนี้ระยะเวลาการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม จะแบ่งตามประเภทสิทธิที่ได้รับอนุญาต กล่าวคือ สิทธิขั้นสมบูรณ์จะมีระยะเวลาการอนุญาต 15 ปี นับแต่วันที่ได้รับสิทธิ และสำหรับสิทธิขั้นต้นจะมีระยะเวลาการอนุญาตนับแต่วันที่ได้รับสิทธิไปจนถึงวันที่จะได้รับสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมขั้นสมบูรณ์
ประกาศฉบับดังกล่าวถือเป็นครั้งแรกที่เปลี่ยนมาสู่ระบบการอนุญาต หรือเปิดตลาดเสรีในกิจการดาวเทียมของไทยที่ไม่ใช่ลักษณะการให้สิทธิแบบระบบสัมปทานในรูปแบบเดิม อีกทั้งในอนาคตยังมีการเข้ามาแข่งขันจากดาวเทียมจากต่างชาติเพิ่มขึ้นด้วย จึงเป็นที่น่าจับตามองว่าการให้บริการกิจการดาวเทียมของไทยนั้นจะมีการเดินหน้าต่อยอดอย่างไรให้โปร่งใสและเป็นธรรมต่อไป.
บทความโดย ดร.อรัชมน พิเชฐวรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์