1500 มาได้ไปได้ด้วย ‘สุรา นารี พาชี กีฬาบัตร’
จั่วหัวด้วยตัวเลข 1500 อาจทำให้คนเข้าใจผิดว่า นักรัฐศาสตร์อย่างผมกลายมาเป็นนักวิเคราะห์หุ้นหรือมาเอาดีหากินทางเศรษฐศาสตร์กระนั้นหรือ
จริงๆ มีนักรัฐศาสตร์ที่มาเอาดีทางด้านเศรษฐกิจเป็นถึง รัฐมนตรีคลังของประเทศก็มีมาแล้ว เช่น อาจารย์โฆษิต ปั้นเปี่ยมรัฐ อันเป็นแบบอย่างให้นิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ รุ่นหลังหลายคนพยายามเดินรอยตามแต่เท่าที่เห็นเวลานี้ยังห่างไกลนัก
เรื่องที่จั่วหัวไว้ว่า “1500” ไม่ใช่ตัวเลขที่รัฐบาลจะแจกเงินรอบใหม่จากโควิด แต่ด้วยความสังเกตและเฝ้าติดตามข่าวสารต่างๆ ทั้งโลกแห่งความเป็นจริงและโลกเสมือนจริง ดูเหมือนตัวเลขที่ว่านี้อยู่ในความสนใจของคนทั่วไป ในตลาดหลักทรัพย์นักวิเคราะห์ก็มักจะเอาตัวเลขนี้เป็นดัชนีชี้วัดว่าตลาดจะโงหัวหรือเชิดหัวพ้นจุดที่ว่านี้ได้หรือจะรูดไปถึงพันต้นๆ กระทั่งต่ำกว่าพันหากโควิดยังระบาดต่อเนื่อง ขณะที่ทางสาธารณสุขกับผู้เกี่ยวข้องเหมือนจะลุ้นให้ตัวเลขไม่หนีเกิน 1500 เพราะตัวเลขที่ ศบค. ชี้แจงในแต่ละวัน 1400 กว่าๆ ต่อเนื่องมาหลายวัน (ที่ผมให้เครดิตว่าเป็นตัวเลขอย่างเป็นทางการ) หลายคนยังพูดว่า ดูทรงๆ หรือเหมือนจะเอาอยู่ จัดเป็นปัจจัยทางจิตวิทยาได้ดี แม้จะมีคนส่งไลน์จะข่าวจริงข่าวปลอมไม่อยากนำมาอ้าง ที่อาจให้ผลแย้งกันค่อนข้างมากก็ตาม ถึงกระนั้นต้องยอมรับว่า สาธารณสุขกับ ตลาดหุ้น มอง 1500 ไปคนละทาง ข้างหนึ่งอยากให้เกิน อีกข้างคือทางฝ่ายคนที่สู้กับไวรัสถ้าทำได้คงอยากให้หายไปเลย
ผมเองก็มีภารกิจสำคัญหลายเรื่องทำให้ห่างหายจากคอลัมน์ประจำไปราวๆ สองสามเดือน ด้วยวิสัยของคนเป็นนักวิชาการแบบเถรตรง (ไม่ใส่สีไม่เลือกข้าง) เมื่อเห็นอะไรพิลึกพิลั่นก็ต้องส่งเสียงหรือขีดเขียนให้สังคมได้เกิดความตื่นรู้และตระหนักถึงข้อพิจารณาของผมไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้ตรงกับ “หัวเรื่อง” ข้างต้น จำเป็นต้องเริ่มที่ดัชนีอีกตัวที่ผมติดตามเป็นประจำทุกปี คือ ค่าความเชื่อมั่นของคนต่างขาติต่อความโปร่งใสของประเทศเรา ที่เขาเรียกว่า CPI (Corruption Perception Index) ที่ทาง ป.ป.ช.ให้ความสำคัญ พยายามจะทำให้ค่าคะแนนตรงนี้ของเราไปอยู่เบอร์ต้นๆ ของโลกให้ได้
ความจริงเรากำลังไปได้สวยมาก ตั้งแต่การแก้ปัญหาโควิดระบาดรอบแรก มาในรอบสองถึงจะหลวมๆ การ์ดไม่นิ่งไปบ้างก็พอทำเนา แต่เมื่อมาถึงรอบสาม ด้วยพฤติกรรมการแพร่ระบาดที่มาในแนวเดียวกับเหตุการณ์ครั้งแรก เมื่อมีนาคมปีกลาย ทั้ง “สุรา นารี พาชี กีฬาบัตร” คือ อบายมุขที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวสามสี่อย่างนี้เป็นตัวพังทลายความเชื่อมั่นและความพยายามจะผลักประเทศเราให้พ้นกับดักของการวนเวียนกับเรื่องสีเทาๆ
ผู้ใหญ่ที่ผมเคารพนับถืออย่างยิ่งให้สติผมว่า “การทำดีนั้นทำยาก” ผมเพิ่งเข้าใจอย่างถ่องแท้วันนี้เอง เพราะ การกระทำและพฤติกรรมของคนจำนวนมากที่ดึงประเทศกลับมาสู่ “ภาวะวิกฤติ” แบบไม่ยั้งคิดและขาดสติสำนึก คือ ต้นเหตุแห่งปัญหาทั้งมวล ถ้าเขาคิดจะ “ทำดี” ซึ่งทำยาก เรื่องราวคงไม่ลุกลามบานปลายกระทั่งส่งผลกระทบชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในทุกวันนี้ เรายังคิดกันอยู่ว่า รอบแรกรัฐบาลสู้อุตส่าห์หาเงินมาเยียวยากันได้เกือบถ้วนหน้า ตามมาด้วยรอบสอง ยิ่งสะท้อนว่า ฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศมั่นคง แข็งแกร่งมาก อันจะตรงกับคำของท่าน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่กล่าวไว้นานแล้วว่า “หากบ้านเมืองเราไม่มีการทุจริตฉ้อฉล ถนนจะปูด้วยทองคำย่อมเป็นไปได้”
มีลูกศิษย์ลูกหาที่มาปรึกษาเรื่องกฎหมาย ผมบอกเขาด้วยประสบการณ์ของผมเองว่า ถ้าเลือกได้ให้เธอเลือกการมีคดีฟ้องร้องกันให้เป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะมัน “ราคาแพง” และมี “ความเสี่ยง” ด้วยเหตุปัจจัยหลายประการ อันเป็นทัศนคติที่ต่างกับเมื่ออดีตที่ผมเคยมองกระบวนการยุติธรรมด้วยความเชื่อถือดีงามด้วยใจบริสุทธิ์ ขนาดได้เข้าไปทำหน้าที่สำคัญหลายเรื่อง ที่ดีใจมากงานหนึ่งคือ “การเป็นกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ)” ในเวลานั้นหวังอย่างสุดหัวใจว่า เป็นโอกาสที่จะได้ใช้วิชาความรู้และความตั้งใจทำองค์กรนี้ให้เป็นที่พึ่งที่หวังของประชาชนให้สำเร็จได้ในชีวิตนี้ของเรา แต่นานวันเข้าหลายเรื่องกลับหนักข้อขึ้น คนบางส่วนในองค์กรเองก็อาจยอมรับที่จะให้มันเป็นแบบนี้ เหมือนวิทยานิพนธ์ของผมใช้คำว่า “the persistence of institutional corruption” ซึ่งผมไม่ได้หมายถึงตำรวจแต่พูดในภาพรวมขององค์กรในกระบวนการยุติธรรมว่า หลายองค์กรยอมรับการปฏิบัติที่มีเส้นแบ่งความดีความเลวใกล้เคียงกันเป็นสิ่งที่ยอมรับได้
ตรงนี้เป็นเรื่องอันตราย ถ้าเราเพียงสลับที่ปรับเปลี่ยนคนให้เรื่องเงียบแล้วกลับมาใหม่ได้ หรือมีตำแหน่งใหญ่โตไปในที่อโคจรแล้วสังคมก่นด่าประณามแล้วก็ไม่เห็นเป็นอะไร คนทำผิดกฎหมายยังหาคนมาติดคุกแทนได้ คนมั่งมีหลบหนีคดีขนาดทำลายกระบวนการยุติธรรมยังมีหน้ามีตาในสังคม เรายังไม่กล้าตัดสินใจในเรื่องที่ท้าทายสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม เพราะเกรงใจ เกรงกลัว การจะให้โอกาสคนทำผิดกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไม่ใช่เรื่องแปลก ธุรกิจบางอย่างเขาก็ทำกันแต่ “โลกะวัชชะ” หรือสังคมติเตียน ก็ควรรับฟังไว้บ้าง สิ่งทั้งหลายทั้งปวงดังคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า “เกิดมาแต่เหตุปัจจัย ”
การที่คนต่างชาติจะเชื่อมั่นในความแข็งแกร่งก็ดีหรือความโปร่งใสมากน้อยในกาลต่อแต่นี้ไป เขาจะย้อนไปดูวิธีการแก้ปัญหาบ้านเมืองของเราที่ได้หยิบยกมาเป็นอุทาหรณ์ในวันนี้เป็นประการสำคัญ.