อนาคตไทย อนาคตที่สร้างใหม่ได้
ตอนที่เราแข็งแรงไม่มีโรคมีภัย ก็อาจจะไม่ได้สนใจสุขภาพเท่าไรนัก แต่เมื่อไรที่โรคมาเยือน นั่นแหละถึงรู้ว่า การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ
ในยุคโควิดนี้ยิ่งชัดเลย คงไม่มีใครอยากติดโควิด ที่ผ่านมาเราอาจละเลยบางอย่างไป เราอาจลืมไปว่า แค่การมีเวลาอยู่ด้วยกัน การได้ใช้ชีวิตและได้ทำงานแบบปกตินั่นก็คือความสุขแล้ว ทุกวันนี้เอาแค่การมีชีวิตแบบปกติ ได้อยู่ใกล้ๆคนที่รัก ครอบครัว เพื่อนฝูง ก็ดูจะเป็นเรื่องยาก
ปีกว่าที่ผ่านไป นับเป็นวิกฤตที่สาหัสสำหรับหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย เราต้องเผชิญกับวิกฤติด้านสุขภาพและวิกฤติด้านเศรษฐกิจ เรียกว่า วิกฤติซ้อนวิกฤติ เลยทีเดียว นี่ก็ยังไม่รู้ว่าการระบาดระลอกใหม่อาจจะเกิดขึ้นมาได้อีกเมื่อไหร่และอีกกี่ระลอก เศรษฐกิจการท่องเที่ยวที่ซบเซาจะฟื้นเมื่อไหร่ ในขณะที่การฉีดวัคซีนหรือการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ก็คงไม่สามารถทำได้ในเร็ววัน
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เราต้องทบทวนกับสถานการณ์ นับเป็นความท้าทายทั้งตัวประชาชน ธุรกิจเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาครัฐ และเพื่อที่จะก้าวไปข้างหน้า เราจำเป็นต้องเปลี่ยนอย่างน้อย 3 ประการ
ประการแรก เปลี่ยนไปสู่นโยบายต้องอยู่บนฐานความเข้าอกเข้าใจ (Empathy-Based Policy) จากนี้ไปการจะออกนโยบายนั้น จะนั่งคิดนั่งฝัน โดยไม่ได้อยู่บนพื้นฐานความจริงไม่ได้แล้ว การคิดและออกแบบนโยบาย ต้องกลั่นออกมาจากความทุกข์ จุดเจ็บปวดของชาวบ้านพ่อค้าแม่ขายประชาชนจริงๆ
คนอาชีพหลากหลายก็ปัญหาแตกต่าง ต้องลงไปฟัง ฟังให้ลึกถึงสิ่งที่อยู่ในใจ ฟังจนกระทั่งให้ได้ยินสิ่งที่ไม่ได้พูดออกมา แต่มันท่วมท้นอยู่ คนที่ทุกข์ ก็รู้ว่าบางปัญหาแก้ยาก อาจต้องใช้เวลา แต่ขอเพียงเข้าใจกันถึงความยากลำบาก ความทุกข์ร้อนและพยายามช่วยกันแก้ไขปัญหาจริงๆ นั่นก็นับเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินไปด้วยกันแล้ว
เรื่องนี้เองก็ไม่ใช่เรื่องง่าย บางครั้งถ้าไม่ได้เจอกับตัว ก็ไม่มีวันเข้าใจหรอก โดยเฉพาะโลกยุคใหม่ โลกที่มีความซับซ้อน อาชีพการงานของผู้คนก็ต้องเปลี่ยนไปตามโลกและวิถีชีวิตยุคใหม่ นี่ก็เป็นโจทย์ที่ภาครัฐทั่วโลกก็เผชิญปัญหาและหาหนทางจะแก้เช่นเดียวกัน ตัวอย่างล่าสุดเราได้เห็นข่าวคราวข้าราชการใหญ่กรุงปักกิ่ง ปฏิบัติการปลอมตัวลงไปขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ส่งอาหารเดลิเวอรี่ รับรู้ถึงปัญหา ความทุกข์ใจของผู้ใช้แรงงาน
เมื่อได้อาสาลงพื้นที่ขี่มอเตอร์ไซค์ด้วยตนเอง ถึงได้พบกับสารพัดปัญหาที่ผู้ทำอาชีพส่งอาหารต้องพบเจอในแต่ละวัน ทำให้แม้จะขยันตั้งใจทำงานเต็มที่ ขี่รถส่งของ 12 ชั่วโมง แต่เหลือค่าเหนื่อยประมาณ 200 บาทเท่านั้นทั้งที่ค่าครองชีพปักกิ่งสูงกว่าเมืองไทย การลงไปทดลองใช้ชีวิตเหมือนคนที่มีอาชีพขี่มอเตอร์ไซค์ส่งอาหารนั่นย่อมทำให้อินและได้ข้อมูลลึกไปถึงขั้วหัวใจของคนที่ลำบากมากกว่าการนั่งอ่านรายงานและคิดๆเขียนๆนโยบายจากห้องทำงานแน่ๆ
ประการที่สอง เปลี่ยนไปใช้นโยบายบนฐานของข้อมูล (Data-Driven Policy) การจะก้าวไปข้างหน้าได้เราต้องมีข้อมูล ฉะนั้น Data-Driven Policy ต้องมา โลกวันนี้เราวัดกันที่ความจริง ฟ้องกันด้วยข้อมูล
ในวันนี้เทคโนโลยีเอื้อให้เอาข้อมูล Big Data มาทำอะไรได้มากมาย การค้าทำธุรกิจในวันนี้ก็ต้องแข่งกันด้วยข้อมูล พฤติกรรมผู้บริโภค ในด้านการบริการภาครัฐ รวมถึงการออกแบบนโยบายเองก็จำเป็นต้องใช้ข้อมูลเช่นกัน นโยบายต้องมาจากฐานของข้อมูล เพื่อใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และยกระดับศักยภาพของประเทศได้อย่างแท้จริง
ประการที่สาม เปลี่ยนไปสู่อนาคตที่ดีกว่าด้วยนโยบายที่มองไปข้างหน้า เราจำเป็นต้องมองภาพอนาคต เพื่อเตรียมความพร้อมรับกับทุกสถานการณ์ ก่อนหน้านี้เราอาจยังไม่คุ้นชิน ไม่ได้กังวลกับความไม่แน่นอนมากนัก แต่วิกฤตโควิด-19 ทำให้คนทั้งประเทศตระหนักถึงการจำเป็นต้องเปลี่ยน
ในยุค New Normal ในยุควิกฤตโควิด ในวันนี้ไม่ว่าจะเป็นคน หรือประเทศ ถ้าไม่เปลี่ยนก็อยู่ไม่ได้ เราต้องใช้ความรู้ใหม่ ทักษะใหม่ วิธีการใหม่ เทคโนโลยีใหม่
นอกจากจะมีนโยบายเยียวยาดูแลกันระยะสั้นแล้ว นโยบายต้องมองไปข้างหน้าสร้างอนาคตร่วมกันด้วย การสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนเชิงรุก (Active Engagement) มีความสำคัญ จากนี้ไปจำเป็นต้องเปิดช่องทางให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมนำเสนอแนวคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ในการพัฒนานโยบายและบริการภาครัฐในอนาคต การร่วมสร้างนโยบายเป็นสิ่งสำคัญ การมี Policy Platform เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์(co-create) เป็นกลไกหนึ่งในการหาคำตอบร่วมกัน เราจำเป็นต้องมีพื้นที่ทางความคิด แปลงความคิดไปสู่การเปลี่ยนแปลงของประเทศในทิศทางที่ดีขึ้น แข็งแกร่งขึ้น
ที่ผ่านมาบางครั้งเราก็อยู่ด้วยความหวังว่า อดทนไปแล้วอะไรๆ จะดีขึ้นเอง แต่ ณ วันนี้อาจไม่เป็นเช่นนั้น เราจะรออยู่เฉยๆ ไม่ได้แล้ว เราต้องคิดที่จะเปลี่ยน กล้าที่จะเปลี่ยน อย่ารอที่จะเปลี่ยน และลุกขึ้นมาเปลี่ยน อนาคตสร้างใหม่ได้ ตั้งแต่วินาทีนี้ที่เราเริ่มเปลี่ยน…แล้วอนาคตไทยจะเปลี่ยนไป.
บทความโดย ประกาย ธีระวัฒนากุล