วิเคราะห์หลังโควิด-19 ทุกอย่างจะเปลี่ยนไป
ถึงตอนนี้แล้วชื่อของโควิด-19 กลายเป็นอาวุธชีวภาพที่สร้างความหวาดหวั่นไปทั่วทุกมุมโลก ส่งผลให้การจะลงมือแก้ไขภาวะวิกฤติมีความยากลำบากที่สุด
- บทความโดย ดร.ภัทร์ฐิตา ทุมเกิด เลขานุการคณะกรรมาธิการติดตามหนี้สินแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร
วิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ ทำให้เราได้พบปรากฏการณ์ใหม่ใน 2 รูปแบบ คือ สังคมที่เราเชื่อกันว่ามั่นคง ที่แท้อ่อนไหวมาก เมื่อต้องเจอกับวิกฤติที่นับว่าวิกฤติจริงๆ ผลกระทบที่ต้องเยียวยา รับมือกันแทบไม่ไหว และรูปแบบที่สอง คือ เป็นวิกฤติที่ส่งผลเชิงพฤติกรรมสุขภาพและเทคโนโลยี
สังคมต้องใช้วิกฤติเป็นตัวพลิกเกมเปลี่ยนแปลงมิติทั้งเทคโนโลยีและชีวิต ต้องใช้แนวคิด ด้านการจัดการ และการสื่อสาร เพื่อนำมาใช้แก้ไขวิกฤติ ทำให้ประเทศกลับมาสร้างโอกาสและเข้าสู่การฟื้นฟูให้เร็วที่สุด ต้องยอมรับว่าพฤติกรรมเชิงโครงสร้างและการตระหนักถึงความสำคัญของสุขอนามัย ไม่ว่าจะเป็น การทำความสะอาดมือบ่อยครั้ง การเว้นระยะห่างทางกายภาพ การติดป้ายกำกับที่มองเห็นได้ชัดเจน การสนับสนุน ประชุมที่ปลอดภัย การทำงานร่วมกันในสไตล์ใหม่ ๆ เหล่านี้จะถูกแทนที่พฤติกรรมแบบเดิมและกลายเป็นชีวิตปกติใหม่ของโลก
อนาคตข้างหน้าของมนุษยชาติ ได้เปลี่ยนไปแล้ว โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ทางการเมือง-ความมั่นคง เศรษฐกิจ รูปแบบทางสังคมและวัฒนธรรม ที่เป็นเสาหลักการดำเนินชีวิตในโลก กำลังถูกเปลี่ยนแบบยกแผง พฤติกรรมของโลกสีน้ำเงิน เปลี่ยนแบบหัวทิ่ม ความหวาดระแวงหมู่ จากชุมชนถูกยกระดับไต่สูงขึ้น ๆ จนพุ่งทะยานสุดขีดเป็นความระแวงหมู่ระดับโลก ทำให้สังคมไม่สามารถก้าวออกไปทำอะไรอย่างที่ต้องการได้แบบเดิมอีกต่อไป ชนิดที่เรียกว่าถอดของเก่าแล้วเอาของใหม่เสียบแทนทั้งดุ้นเลยทีเดียว วิถีเก่า ๆ ถูกโยนทิ้งไปแบบไม่ต้องเยเส ใครไม่ยอมปรับเปลี่ยนตามก็ไม่รอด
ความไม่เหมือนเดิมในหลายรูปแบบ อย่างเช่น ความเปลี่ยนแปลงรูปแบบภูมิรัฐศาสตร์ สังคมต้องทำความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีดิจิทัล การประชุมออนไลน์ เงินดิจิทัล ดูหนังออนไลน์ สิ่งเหล่านี้นำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมแบบสังคมดิจิทัลเต็มรูปแบบ ในขณะที่แนวโน้มอุตสาหกรรม เกิดการดำรงชีวิตแบบไม่พึ่งพาระบบ การประกอบธุรกิจท่องเที่ยว ค้าส่งและค้าปลีก บันเทิง ร้านอาหารและร้านค้า ธุรกิจสตาร์ทอัพ จะเป็นเรื่องที่ยากขึ้น เฉพาะสตาร์ทอัพกลุ่มดิจิทัลและกลุ่มเทคโนโลยีขั้นสูงที่จะอยู่รอด
สถานการณ์ขณะนี้ นับว่าส่งผลกับธุรกิจ SMEs อย่างเป็นด้านหลักด้วย ธุรกิจร้านขายปลีกเสื้อผ้า ร้านค้าเบ็ดเตล็ด ธุรกิจในภาคบริการ มีความเสียหายอย่างรุนแรง ดังนั้น ความพยายามที่จะรักษาฐานลูกค้าเดิมไว้ ยังไม่พอ ต้องหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่ เช่น มีการผุดแพลตฟอร์มออนไลน์เพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้า การดีลิเวอรี่สินค้าถึงบ้าน ผ่านช่องทางออนไลน์ หรือแม้แต่การทำ SEO (search engine optimization) ไม่ว่าจะเป็นหน้าร้านบน Google Business หรือเพจ Facebook และ Instagram เป็นการสร้างโอกาสในการทำให้ธุรกิจออนไลน์
อย่างไรก็ตาม การฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ คงต้องอาศัยภาครัฐและธุรกิจขนาดใหญ่ สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าผู้ที่ยังสามารถดำเนินธุรกิจได้ก็คงจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีเงินสำรองสูง สายป่านยาวหน่อย หรือประเภทที่มีธุรกิจรองรับหลากหลาย หรือแม้แต่กลุ่มที่อยู่ในภาคการผลิต น่าจะเป็นกลุ่มที่มีความพร้อมจะกลับมาได้รวดเร็ว
รูปแบบสังคมไทยที่เป็นวิถีชีวิตใหม่ ต้องปรับเพื่อก้าวข้ามวิกฤติ 4 ด้านหลัก คือ
1.ด้านสุขภาพ ผู้คนจะต้องตระหนักให้ความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพของตน ไม่ให้เสี่ยงต่อโรคมากขึ้น
2. ด้านเศรษฐกิจ กลุ่มคนองค์กรที่ใช้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงได้ผลกระทบน้อยที่สุด กลุ่มคนว่างจากวิกฤติระบาดของโรคอาจจะนำไปสู่การทางเลือกคือการเน้นเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้น ในชีวิต
3. ด้านสังคม การเคลื่อนย้ายแรงงานน้อยลง บทบาทเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่
4.ด้านการศึกษา จะมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เต็มรูปแบบ จัดการเรียนการสอนออนไลน์เข้ามามีอิทธิพลต่อระบบการศึกษา ผลต่อการศึกษาของชาติในระยะยาวจะเปลี่ยนไป
วิถีชีวิตใหม่ในการดูแลสุขภาพ การตระหนักถึงโรคหรือสิ่งที่บันทอนชีวิตที่นอกเหนือการคาดการณ์ว่าจะมีโรคใหม่ๆเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ การทำความเข้าใจต่อโรคต่ออื่นๆมากขึ้น ปรากฏการณ์ทางสังคมที่จะปรากฎปกติหลังการแพร่ระบาดของโรคสิ้นสุดลง ผู้คนในสังคมให้ความสำคัญและแวดระวังโรคติดต่อมากขึ้น
สิ่งที่ผู้คนส่วนหนึ่งยังปฏิบัติเป็นปกติวิถีชีวิตใหม่คือการสวมหน้ากากในที่สาธารณะ การเว้นระยะห่างระหว่างกันมากขึ้น การเดินทาง ผู้จัดกิจกรรมการท่องเที่ยวเน้นให้ความสำคัญกับผลกระทบด้านสุขภาพมากขึ้น แบบแผนการดำเนินชีวิตส่วนบุคคล ใส่ใจดูแลสุขภาพตนเองมากขึ้น ตรวจสุขภาพมากขึ้น การใส่ใจบุคคลรอบข้างและครอบครัวมากขึ้น เพราะในช่วงโควิดการไปมาหาสู่ได้ยากสืบเนื่องจากมีข้อจำกัดของการเคลื่อนย้ายระหว่างพื้นที่ แบบแผนชีวิตด้านสุขภาพทางสังคม มีการเว้นระยะห่างความระมัดระวังการรวมกลุ่มมากขึ้น วิถีชีวิตใหม่ด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมจะไม่เหมือนเดิม
ความปกติใหม่ที่ดีต้องอยู่ภายใต้ความรู้ ความเข้าใจและมีระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด ให้อยู่ในระดับที่พอดำเนินชีวิตต่อไปได้ภายใต้สถานการณ์ที่กำลังเผชิญ เป็นส่วนที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งในการจัดการชีวิตปกติใหม่ ท่ามกลางภัยพิบัติไวรัสโควิด-19 อยู่อย่างปลอดภัย การพัฒนาเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะในระดับประเทศหรือระดับประชาคมโลก ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของสังคม นั่นหมายความว่าการพัฒนาต้องทำให้คนในสังคมเข้มแข็ง มีความเข้าใจตัวเอง เข้าใจบริบทความเปลี่ยนแปลงของโลก และที่สำคัญต้องเข้าใจให้ชัดว่าหลังโควิด-19 โลกและทุกอย่างได้เปลี่ยนไปแล้ว ไม่ว่าระบบเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม คงต้องลุ้นว่าการเมืองไทยจะเปลี่ยนไปด้วยหรือไม่ คงต้องจับตากันต่อไป.