ความอ้างว้างจากการ Work from home
ทุกคนคงจะคุ้นชินกับการต้องทำงานที่บ้าน หรือ Work from home ซึ่งดูจากความเป็นไปได้ต่างๆ แล้วคงจะต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่องอีกระยะหนึ่งพอสมควร
การ Work from home ก็มีข้อดีอยู่หลายประการ แต่เมื่อต้อง Work from home ไปนานๆ เข้าก็จะเริ่มพบข้อเสียที่สำคัญประการหนึ่งนั้นคือ ความโดดเดี่ยว อ้างว้าง จากที่ต้องทำงานที่บ้าน หรือ ที่ฝรั่งเรียกว่า Work from home loneliness
การที่ต้อง Work from home หรือติดอยู่ที่บ้านไม่ได้ออกไปไหน ทำให้เกิดภาวะหนึ่งที่เรียกว่า Social Isolation หรือความโดดเดี่ยวทางสังคมขึ้นถึงแม้ว่าในบ้านอาจจะมีครอบครัว บุตร หลาน อยู่กันพร้อมหน้า แต่ปฏิสัมพันธ์ที่เคยมีกับเพื่อนร่วมงานหรือในระหว่างการทำงานนั้นหายไป โดยเฉพาะปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่คนในครอบครัว ซึ่งนำความแตกต่างและหลากหลายมาสู่ชีวิตในแต่ละวัน
ต้องอย่าลืมว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม ดังนั้นการได้พบเจอ พูดคุยกับบุคคลอื่น จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ถึงแม้ท่านอาจจะไม่ได้เป็นเพื่อนหรือสนิทชิดชอบกับเพื่อนร่วมงานเท่าใด แต่ปฏิสัมพันธ์เล็กๆ น้อยๆ ในแต่ละวันไม่ว่าจะเป็นการทักทาย พูดคุย หรือ นินทาบุคคลอื่นในที่ทำงาน ล้วนแล้วแต่พื้นฐานที่สำคัญของพฤติกรรมมนุษย์ และการขาดโอกาสในการปฏิสัมพันธ์เหล่านี้ไป ก็นำไปสู่ภาวะ Work from home loneliness
จากช่วงการระบาดของโควิดในต่างประเทศ ทำให้เริ่มมีงานวิจัยเกี่ยวกับความเหงา ความอ้างว้างจากการ Work from home ออกมามากขึ้น และทุกงานก็ชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า เกินกว่าครึ่งของพนักงานองค์กรต่างๆ ที่ต้อง Work from home จะประสบกับภาวะของความโดดเดี่ยว ความเหงา หรือ ความอ้างว้างทางสังคม ซึ่งส่งผลต่อระดับความพอใจในการทำงานที่ลดน้อยลง และที่สำคัญคือความเหงา ความโดดเดี่ยวดังกล่าว ก็ส่งผลต่อความสามารถในการทำงานอีกด้วย
ถ้าเป็นสถานการณ์ปกติ การ Work from home นั้นยังมีโอกาสที่จะได้พบเจอเพื่อนร่วมงานตามห้องประชุม หรือ พบเจอผู้อื่นตามร้านกาแฟ หรือ Co-working space บ้าง แต่ในภาวะที่ทุกคนต้องระมัดระวังตัวทำให้โอกาสได้พบเจอและมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นยิ่งน้อยลงไป ถึงแม้ Work from home จะทำให้ได้ใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้น แต่เมื่ออยู่ด้วยกันนานๆ หัวข้อสนทนาก็จะค่อยๆ น้อยลง แถมมีสถิติในต่างประเทศชี้ให้เห็นว่าสามีภรรยาที่ Work from home และต้องอยู่ด้วยกันนานๆ โอกาสในการทะเลาะ ทำร้ายร่างกาย และหย่าร้างกันก็สูงมากขึ้นด้วย
นอกจากจะมองปัญหาของความเหงาหรือโดดเดี่ยวเป็นปัญหาที่แต่ละบุคคลต้องเผชิญแล้ว ผู้บริหารก็ควรจะมองว่าปัญหาดังกล่าวก็เป็นปัญหาขององค์กรด้วยเช่นเดียวกัน เมื่อบุคลากรของท่านจะต้อง Work from home นานๆ โอกาสที่จะเกิดภาวะโดดเดี่ยว อ้างว้างก็จะมากยิ่งขึ้น และสุดท้ายส่งผลต่อสุขภาพจิต ขวัญกำลังใจ การขาดความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของทีมและความสามารถในการทำงานของบุคลากร
ผู้ที่เป็นเจ้านายจะต้องหมั่นติดต่อ พูดคุย และสอบถามข่าวคราวของลูกน้องที่ทำงานแบบ Work from home อยู่เสมอ และ ที่สำคัญคือการที่เจ้านายจะดูแลจิตใจและบรรเทาความอ้างว้างของลูกน้องคือการต้องโทรศัพท์ไปพูดคุยเท่านั้น ซึ่งย้ำว่าโทรศัพท์เป็นหลัก เพราะถ้าผ่านช่องทางที่ใช้ประชุมออนไลน์ ก็มักจะทำให้ดูเป็นทางการ และต้องเพ่งสายตาเข้าไปในจอคอมพิวเตอร์เพื่อสังเกตสีหน้าท่าทางของอีกฝ่ายผ่านจอเล็กๆ ส่วนการอีเมลหรือส่งไลน์ไปก็ไม่ทำให้ลูกน้องสามารถจับกระแสความห่วงใยที่ออกมาพร้อมกับน้ำเสียงหรือคำพูดได้
องค์กรจะต้องมองปัญหาของ Work from home loneliness ของลูกน้องเป็นปัญหาในด้านการจูงใจพนักงาน เหมือนกับเมื่อคนหิวก็จะต้องกิน ดังนั้นเมื่อคนเหงาก็จะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนในที่ทำงาน ขณะเดียวกันบรรดาพนักงานที่ต้อง Work from home ก็ต้องหมั่นดูแลจิตใจตนเองด้วย และพยายามที่จะมองสถานการณ์ที่เลวร้ายให้เป็นบวก อีกทั้งมีเป้าหมายในการทำงานในแต่ละวันให้ชัดเจน.