EQ ... สิ่งที่ต้องมี
EQ คือ ความฉลาดทางอารมณ์ เป็นสิ่งที่มนุษย์เราพึงมี เพราะจะเป็นตัวส่งเสริมให้บุคคลนั้น สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายชีวิตที่วางไว้ได้
EQ (Emotional Quotient หรือ Emotional Intelligence) คือ ความฉลาดทางอารมณ์ ซึ่งหมายถึง ความสามารถในการบริหารจัดการและสื่อสารทางอารมณ์ของตนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ในทางบวก รวมไปถึงการตระหนัก รับรู้ และเข้าใจอารมณ์ของผู้อื่น ซึ่งนำไปสู่การสร้างมนุษยสัมพันธ์ที่ดี
นักวิชาการหลายท่านที่ศึกษาเรื่อง EQ ได้ระบุไปในทิศทางเดียวกันว่า การที่บุคคลหนึ่งมีสติปัญญา (Intelligence Quotient) หรือ IQ ที่สูง อาจสามารถเรียนจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ซึ่งจะเป็นใบเบิกทางให้ได้รับโอกาสเข้าทำงานในหน่วยงานที่ดี หากแต่ความสำเร็จในชีวิตหาใช่เกิดจาก IQ เพียงอย่างเดียว EQ ต่างหากที่จะเป็นตัวส่งเสริมให้บุคคลนั้น สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายชีวิตที่วางไว้ได้
ทั้งนี้เป็นเพราะการรู้จักบริหารจัดการอารมณ์ของตน และการตระหนักรู้ถึงอารมณ์ของผู้อื่นนั้นเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับความสัมพันธ์ระหว่างตนและคนรอบข้าง ซึ่งจะช่วยลดความตึงเครียดที่อาจนำไปสู่ปัญหา หรือสามารถร่วมกันแก้ปัญหาได้เมื่อปัญหาเกิดขึ้น และสิ่งเหล่านี้ย่อมเป็นบันไดที่นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายในชีวิต
กล่าวได้ว่า EQ นั้นประกอบไปด้วย 5 องค์ประกอบหลักคือ การตระหนักรู้อารมณ์ตนเอง (Self – awareness) การบริหารจัดการอารมณ์ตนเอง (Self – management) การกระตุ้นตนเอง (Self – motivation) การตระหนักรู้อารมณ์ผู้อื่น (Social awareness) และ การบริหารความสัมพันธ์กับผู้อื่น (Relationship management)
การตระหนักรู้อารมณ์ตัวเองถือเป็นความสำคัญขั้นพื้นฐานในการใช้ชีวิต คนเราควรรู้เท่าทันอารมณ์ ความรู้สึกของตน รู้ถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดอารมณ์ ความรู้สึกนั้น รวมถึงสามารถคาดคะเนถึงผลลัพธ์ของอารมณ์ ความรู้สึกนั้นที่มีต่อความนึกคิดและพฤติกรรมของตน เพื่อควบคุมมิให้ตนเองมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมหรือขัดแย้งกับอารมณ์ ความรู้สึกที่มี เช่น เราชื่นชมบุคคลหนึ่ง แต่ถ้าเราไม่สามารถรู้เท่าทันอารมณ์ที่แท้จริงของตนได้ เราอาจแสดงพฤติกรรมใด ๆ ที่ไม่เป็นที่ประทับใจของบุคคลที่เราแอบชื่นชมได้
คนที่ตระหนักรู้ถึงอารมณ์ของตนย่อมเป็นคนที่รู้จุดอ่อน จุดแข็งของตนเอง และเมื่อคนเรารู้จุดอ่อน จุดแข็งของตน ก็ย่อมเป็นคนที่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง เมื่อเราตระหนักรู้อารมณ์ของตนเองแล้ว เราก็จำต้องสามารถบริหารจัดการอารมณ์ของตนเองได้ด้วย กล่าวคือ ต้องสามารถควบคุมอารมณ์ (ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์รัก โกรธ ผิดหวัง ฯลฯ) และสามารถบริหารจัดการอารมณ์ และพฤติกรรมของตนไปในทางที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและคนรอบข้าง
หลายคนที่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตน มักจะมีพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดปัญหาขึ้นมาได้ในภายหลัง เช่น บางคนถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ แล้วเกิดอารมณ์โกรธ จึงระบายผ่านทางเครือข่ายสื่อสังคม (Social Network) ต่าง ๆ ซึ่งอาจไปกระทบต่อบุคคลอื่นจนเกิดปัญหาให้ต้องตามแก้ไขในภายหลัง หรือการกล่าวให้ร้ายผู้อื่นลับหลัง ก็ถือเป็นพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นถึงการบริหารจัดการอารมณ์ที่ผิดพลาด เพราะผู้ที่รับฟังย่อมรับรู้ถึงระดับวุฒิภาวะของผู้ที่กล่าวให้ร้าย และย่อมไม่ชอบ เพราะเกรงว่าในวันข้างหน้า ตนอาจจะเป็นผู้ที่ถูกกล่าวให้ร้ายลับหลังเองก็ได้
คนที่สามารถบริหารจัดการอารมณ์และพฤติกรรมของตนเองได้ มักเป็นคนที่ใจกว้าง เปิดใจยอมรับและปรับตัวได้อย่างรวดเร็วในทุกสถานการณ์ แม้จะเป็นสถานการณ์ที่วิกฤตก็ตาม และเมื่อผ่านพ้นวิกฤตไปได้ก็จะเก็บสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนไว้ใช้แก้ปัญหาในอนาคต
เมื่อเราตระหนักรู้ถึงอารมณ์ของตนและสามารถบริหารจัดการอารมณ์และพฤติกรรมของตนจนผ่านพ้นสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ เราก็ต้องรู้จักการกระตุ้นตนเอง กล่าวคือ การให้กำลังใจตนเองด้วยการนำอารมณ์ ความรู้สึกที่มีมาสร้างเป็นพลังเพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในการปฏิบัติภารกิจในวันข้างหน้า เพื่อบรรลุ ตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ เช่น การนำเอาประสบการณ์ที่ผ่านมาทั้งด้านบวกและด้านลบของตน มาสร้างเป็น กำลังใจให้กับตนเอง เพื่อใช้เผชิญกับปัญหาและอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างไม่ย่อท้อ
ดังที่กล่าวข้างต้น EQ มิได้มุ่งเน้นเฉพาะการตระหนักรู้ และการบริหารจัดการอารมณ์ของตนเองเท่านั้น หากแต่ยังต้องตระหนักรู้ถึงอารมณ์ ความรู้สึกของผู้อื่นหรือคนรอบข้างด้วย นั่นคือการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ทำให้เราสามารถเข้าใจอารมณ์ ความรู้สึกของผู้อื่น ซึ่งจะทำให้เรามีจิตใจที่อยากจะช่วยเหลือผู้อื่น และที่สุดแล้วเราจะสามารถตอบสนองความต้องการของคนรอบข้างได้เป็นอย่างดี เมื่อใดก็ตามที่เราเข้าใจอารมณ์ ความรู้สึกของผู้อื่น ก็จะส่งผลให้เราสามารถบริหารความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้เป็นอย่างมีประสิทธิภาพ
ประโยชน์สำคัญของความสามารถในการบริหารความสัมพันธ์กับผู้อื่น คือ การลดความขัดแย้งและอุปสรรคต่าง ๆที่เกิดขึ้น ซึ่งสามารถนำไปสู่ทางออกร่วมกันในการแก้ปัญหาที่เหมาะสมที่สุด บุคคลที่มีความสามารถในการบริหารความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี มักจะเป็นบุคคลที่มีการสื่อสารที่ดี ชัดเจนและถูกต้องตรงตามความต้องการของผู้อื่น จนสามารถโน้มน้าวจูงใจให้บุคคลอื่นคล้อยตามความเห็นของตนได้อย่างนุ่มนวลและแนบเนียน ซึ่งถือเป็นหลักการสำคัญหนึ่งในการบริหารความขัดแย้ง และการที่จะทำเช่นนี้ได้ก็เป็นเพราะ บุคคลนั้นเป็นผู้ที่ตระหนักรู้ในอารมณ์ ความรู้สึกของผู้อื่นเป็นอย่างดี
จะเห็นได้ว่า EQ หรือความฉลาดทางอารมณ์ เป็นสิ่งที่มนุษย์เราพึงมี เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว เราจึงควรเรียนรู้และเข้าใจ EQ และต้องหมั่นพัฒนา EQ ในตัวของเราอยู่เสมอ.