จีนกับปัญหาประชากรหด
สนง.สถิติแห่งชาติของจีนสำรวจข้อมูลประชากรครั้งใหญ่ในรอบ 10 ปี พบว่าประชากรจีนเพิ่มขึ้นต่ำที่สุด นับตั้งแต่มีการสำรวจอย่างเป็นระบบทุก 10 ปี
การสำรวจข้อมูลประชากรอย่างเป็นระบบทุก 10 ปี เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1953 โดยปัจจุบัน ประชากรจีนมี 1,410 ล้านคน เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 5.4 จากเมื่อ 10 ปีที่แล้ว (1,340 ล้านคน) ตัวเลขหนึ่งที่น่าสนใจมากก็คือ จำนวนคนต่อหนึ่งครัวเรือน ปัจจุบันครัวเรือนจีนมีจำนวนคนเฉลี่ยเพียง 2.62 คน เปรียบเทียบกับในปี ค.ศ. 1964 ที่ครัวเรือนจีนมีจำนวนเฉลี่ยที่ 4.43 คน และในปี ค.ศ. 1990 ที่ 3.1 คน
จีนแต่ไหนแต่ไรมาเคยเป็นสังคมครอบครัวขนาดใหญ่ ปู่ย่าตายายพี่ป้าน้าอาลูกพี่ลูกน้องอยู่ร่วมกันในครัวเรือนหรือในชุมชน มีนักวิชาการตั้งข้อสังเกตได้อย่างน่าคิดว่า วัฒนธรรมขงจื๊อ ซึ่งเป็นแก่นของวัฒนธรรมจีนนั้น มีรากฐานที่สายสัมพันธ์ภายในครอบครัวขนาดใหญ่
แต่ในปัจจุบันจีนกำลังกลายเป็นสังคมครอบครัวขนาดเล็ก เนื่องจากการใช้นโยบายลูกคนเดียวมาเป็นเวลายาวนาน คนจีนรุ่นใหม่จะไม่มีลูกพี่ลูกน้อง ไม่มีลุงป้าน้าอาแบบครอบครัวใหญ่ในอดีตอีกต่อไป
น่าคิดครับว่า การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างครอบครัวจีนจะส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของคนจีนรุ่นใหม่หรือไม่ อย่างไร คนจีนรุ่นใหม่อาจจะมีลักษณะความคิดอิสระแบบปัจเจกชนนิยม (individualism) มากขึ้นกว่าความคิดเชิงกลุ่มหรือเชิงสายสัมพันธุ์เช่นในอดีต
สำหรับเรื่องวิกฤตการหดตัวของประชากรจีนนั้น ภูมิภาคที่ตัวเลขดูหนักหนาสาหัสที่สุดคือ พื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลเมื่อ 10 ปี ที่แล้ว ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ได้แก่ มณฑลเหลียวหนิง จีหลิน และเฮยหลงเจียง มีประชากรลดลงถึง 11 ล้านคน หรือลดลงเกือบร้อยละ 10
ในจีนตอนนี้ มีการพูดกันถึงความแตกต่างอย่างชัดเจนของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของพื้นที่ภาคเหนือและภาคใต้ พื้นที่ภาคเหนือเศรษฐกิจโตช้าโตต่ำ เพราะติดหล่มอุตสาหกรรมเก่าที่กำลังตาย (เช่นอุตสาหกรรมเหล็กและซีเมนต์) ขณะที่พื้นที่ภาคใต้เศรษฐกิจโตรุ่งโตเร็ว เพราะขึ้นรถด่วนขบวนเศรษฐกิจใหม่และเทคโนโลยีใหม่ได้สำเร็จ
เมื่อดูตัวเลขการหดตัวของประชากรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่รุนแรงกว่าพื้นที่อื่น ยิ่งจะเป็นตัวกดศักยภาพในการพัฒนาทางเศรษฐกิจของพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้เผชิญความท้าทายหนักกว่าเดิม
หลายคนสงสัยว่า เหตุใดอัตราการเกิดของจีนจึงต่ำ ถึงแม้ว่าจีนได้ยกเลิกนโยบายลูกคนเดียวและเปลี่ยนมาใช้นโยบายลูกสองคนตั้งแต่ 5 ปีที่แล้ว คำตอบก็คือ เมื่อพิจารณาจากรายได้ต่อหัวประชากร ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรของจีนถือว่าสูงที่สุดในโลก
ยิ่งในอนาคตเมื่อพื้นที่ส่วนใหญ่ในจีนกลายเป็นสังคมเมือง ซึ่งมีค่าครองชีพสูง อัตราการเกิดของจีนจึงยังน่าจะลดลงอย่างต่อเนื่อง จนคาดกันว่าจีนจะมีอัตราการเกิดต่ำที่สุดประเทศหนึ่งในโลก
ปัญหาวิกฤตประชากรจีนจึงกลายเป็นวาระแห่งชาติ หลายคนเห็นว่ารัฐบาลจีนต้องเปลี่ยนจากแนวคิด “คุมกำเนิด” ในอดีต มาเป็นแนวคิด “คลายกำเนิด” คือต้องหันมาสนับสนุนให้คนจีนมีลูก บางคนถึงกับเสนอว่าต้องมีการให้เงินสนับสนุนการเลี้ยงดูบุตรอย่างเป็นระบบ ชนิดเหมือนให้รางวัล
จากประสบการณ์ของประเทศอื่น ไม่ว่าจะเป็นในเอเชียตะวันออก เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน หรือสังคมตะวันตกอย่างสหรัฐฯ และยุโรป ถึงแม้หลายพื้นที่จะพยายามใช้นโยบายในการจูงใจให้คนมีลูก แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จในการเพิ่มอัตราการเกิด เพราะอัตราการเกิดมักลดลงสอดคล้องกับระดับการพัฒนาของประเทศที่สูงขึ้นและการก้าวสู่ความเป็นสังคมเมือง เรียกว่าเป็นทิศทางที่ยากจะย้อนกลับ
นักวิชาการอีกฝั่งจึงอยากให้สังคมจีนเริ่มยอมรับความจริง และเน้นที่การรับมือกับปัญหาประชากรหดและอัตราการเกิดต่ำที่จะกลายเป็น “ความปกติใหม่” ของสังคมจีน โดยให้เน้นที่การดูแลคุณภาพชีวิตของประชากรและการลดภาระของครอบครัว โดยดูตัวอย่างเช่นแผนสวัสดิการครอบครัวมูลค่า 1.8 ล้านล้านดอลล่าสหรัฐฯ ของไบเดนที่ใช้ชื่อว่า The American Families Plan ที่มุ่งทั้งให้การสนับสนุนเรื่องการเลี้ยงดูบุตรหลานและสวัสดิการผู้สูงอายุ
ประชากรหดย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนในระยะยาวด้วยเช่นกัน รัฐบาลจีนมีนโยบายขยายเวลาการเกษียณอายุออกไป เพื่อคงกำลังแรงงานในระบบ และกำลังวางแผนระยาวเกี่ยวกับการรับแรงงานอพยพจากต่างประเทศ นอกจากนั้น เมื่อประชากรหด ซึ่งจะทำให้เงินออมสะสมในระบบเศรษฐกิจลดลง ก็อาจส่งผลกระทบถึงอัตราการลงทุน นักเศรษฐศาสตร์จีนหลายคนมองว่า รัฐบาลจีนจะต้องพยายามชะลอไม่ให้อัตราการลงทุนในจีนลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว โดยต้องใช้การลงทุนจากภาครัฐเป็นตัวนำต่อไปในการพยุงเศรษฐกิจในยุคประชากรหด
จีนเคยคุ้นเคยกับปัญหาประชากรล้น และแต่เดิมก็ต้องการจำกัดการเพิ่มของจำนวนประชากร ปัญหาประชากรหดของจีนในวันนี้จึงไม่ได้อยู่ที่จำนวนที่ลดลง เท่ากับความเร็วและความแรงของการลด โจทย์ทางนโยบายที่สำคัญจึงต้องพยายามประคองและพยุง รวมทั้งบรรเทาปัญหา ไม่ให้ประชากรหดเร็วและแรงจนช็อคโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม.