วัคซีนทางการเงินในโลกที่เปลี่ยนแปลง
สมัยยังเด็ก ผมรับรู้ข่าวการโกงแชร์ โดยเฉพาะแชร์แม่ชม้อย ข่าวการตกทองในตลาดและกลโกงในธุรกิจเครือข่ายบางราย ด้วยความรู้สึกตื่นตาตื่นใจ
บทความโดย ธราธร รัตนนฤมิตศร
เมื่อโตขึ้น ผมก็พบว่ากลโกงแบบนี้อยู่คู่กับสังคมไทยมาโดยตลอด ผมยังได้ยินข่าวการหลอกลวงทางการเงินเกิดขึ้นรอบตัวโดยเห็นประจำทั้งในสื่อมวลชน หรือรับฟังเรื่องเล่าจากคนรอบตัว ในยุคใหม่นี้ ผมได้ยินเทคนิควิธีใหม่ๆ เพิ่มขึ้นตามความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี
กลโกงที่ผมได้ยินกันบ่อยๆ เช่น กลโกงแบบโรแมนซ์สแกม (romance scam) หรือที่เรียกกันว่าแก๊งแสร้งรักออนไลน์ โดยคนร้ายหลอกให้รัก หลอกให้หลง สร้างเรื่องราวจูงใจให้โอนเงิน เมื่อคนหมดตัวแล้วจึงตีจาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแก๊งชาวต่างชาติ
กลโกงในโลกดิจิทัลอีกแบบที่พบบ่อยคือฟิชชิ่ง (Phishing) ซึ่งเป็นการสร้างเว็บเพจเลียนแบบของจริง แล้วจึงหลอกคนให้เข้าไปทำธุรกรรมบนเว็บปลอมที่เสมือนจริง จนได้ข้อมูลและรหัสผ่านไปขโมยเงินจากบัญชีจริงของเจ้าของไปได้ หากไม่รู้เท่าทัน ไม่สังเกตความผิดปกติ หรือ URL ของเว็บที่ปลอมก็อาจถูกหลอกได้ง่ายๆ
ไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผมก็ได้ยินเรื่องใหม่ๆ ที่น่าสนใจผ่านการสร้างเรื่องราวของคริปโทเคอร์เรนซี่บางเจ้าที่ดูเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น เพราะตั้งอยู่บนพื้นฐานของเทคโนโลยีบล็อคเชนและการเข้ารหัส เป็นระบบกระจายอำนาจที่มักถูกใจคนสมัยใหม่ และท้าทายสกุลเงินหลัก เช่น กรณีคริปโทเคอร์เรนซี่วันคอยน์ (Onecoin) ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่ม “คอยน์หลอกลวง” ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพราะเมื่อถึงวันที่จะใช้คอยน์เพื่อจับจ่ายใช้สอยในโลกจริงก็กลับพบว่าใช้ไม่ได้ เจ้าของที่ดูน่าเชื่อถือก็หลบหนีเข้ากลีบเมฆไป
ดังนั้น ผมคิดว่าการให้วัคซีนทางการเงินเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อกลโกงทางการเงินสารพัดแบบจึงมีความสำคัญไม่แพ้วัคซีนด้านสุขภาพ และการให้ความรู้ด้านทักษะทางการเงิน (Financial Literacy) ให้กับประชาชนควรมองในมุมที่กว้าง นอกจากการเรียนรู้เกี่ยวกับดอกเบี้ย ดอกเบี้ยทบต้น อัตราเงินเฟ้อ การวางแผนการออม การลงทุนแล้ว สิ่งสำคัญอีกประการที่ขาดไม่ได้ก็คือความรู้เกี่ยวกับการหลอกลวงทางการเงินเหล่านี้
ในสารคดี Money ใน Netflix ได้กล่าวถึงการกลโกงทางการเงินไว้อย่างน่าสนใจในตอน “Get Rich Quick” โดยความอยากรวยเร็วของคนเป็นเหตุผลเบื้องลึกในใจที่มิจฉาชีพจับความต้องการได้ แล้วออกแบบกลโกงสารพัดเปรียบเสมือนเสือขี้โกงที่ออกมาล่าลูกกวางน้อยที่ขาดความรู้ทางการเงิน
ในสารคดีได้จัดกลุ่มกลโกงทางการเงินที่ยอดนิยมเป็น 5 กลโกง กลโกงแบบแรกเรียกว่า “Advance Fee” ตัวอย่างเช่น วันหนึ่ง มีจดหมายจากคนแปลกหน้ามาหาเรา แล้วบอกว่าถูกรางวัลเป็นเงินมหาศาลนับพันล้าน แต่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพื่อไปรับรางวัลก่อน จึงอยากขอเงินค่าธรรมเนียมจากเรา แล้วจะแบ่งส่วนแบ่งจากการถูกรางวัลให้หลายร้อยล้าน คนที่หลงเชื่อก็โอนเงินค่าธรรมเนียมไปให้ เพื่อหวังจะรวยเป็นร้อยล้าน แต่สุดท้ายก็ถูกเชิดเงินหนีไป
กลโกงแบบที่สองที่พบบ่อยคือ “Pump and Dump” คือ ปั่นแล้วเท วิธีนี้คือการกล่อมผู้คนให้มาลงทุนในของบางอย่างที่ดูไม่มีราคา แต่สร้างเรื่องราวได้น่าสนใจ เพื่อปั่นราคาให้สูงขึ้น ดึงคนใหม่เข้ามามากขึ้น ปั่นราคาให้สูงขึ้น แล้วจึงเทขายตอนที่ราคาถึงจุดสูงสุด และของกลับมาไม่มีราคาดังเดิม
กลโกงแบบที่สามเรียกว่า “Ponzi” คล้ายๆ กับแชร์ลูกโซ่ หลักการคือการจ่ายผลกำไรให้นักลงทุนโดยใช้เงินจากนักลงทุนใหม่ ไม่ได้มาจากกำไรของการลงทุนจริงๆ ซึ่งหากทุกคนถอนเงินพร้อมกันหรือไม่มีคนใหม่เข้ามาในระบบ ระบบก็จะล้ม การหลอกลวงแบบพอนซี่ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลกคือคดีอื้อฉาวการลงทุนแมดอฟฟ์ ซึ่งเป็นถึงอดีตประธานแนสแด็กในสหรัฐอเมริกา
กลโกงแบบที่สี่เรียกว่า “Pyramid” เป็นการหลอกลวงในลักษณะคล้ายกับรูปแบบปิรามิด โดยเจ้ามือจะให้ส่วนแบ่งกำไรกับกลุ่มคนด้านล่างที่ไปดึงคนใหม่เข้ามา หากไม่มีคนเข้ามาใหม่ ระบบจะล้ม รูปแบบนี้จะคล้ายกับธุรกิจเครือข่ายแบบหลอกลวง และกลโกงแบบที่ห้า เรียกว่า “Coaching Scheme” เป็นการจูงใจให้คนจ่ายเงินเพื่อแลกกับการเรียนการฝึกอบรมหลักสูตรรวยเร็วต่างๆ โดยจูงใจและการันตีว่าจบหลักสูตรจะทำให้ได้เคล็ดลับซึ่งจะนำไปสู่ความร่ำรวย เช่น หลักสูตรรวยจากอสังหาริมทรัพย์ที่หลอกลวง แล้วสุดท้ายก็เสียเงินเป็นค่าเรียนไปแลกกับเคล็ดลับที่ไม่มีอยู่จริง
ผมคิดว่าการหลอกลวงทางการเงินเหล่านี้เป็นเรื่องใกล้ตัวและเกิดขึ้นรอบตัวเป็นประจำ หลายครั้งเราจะพบว่ารูปแบบการหลอกลวงมักจะปรับเปลี่ยนไป แต่แก่นวิธีการหลอกลวงก็ยังซ้ำแบบเดิม คนหลอกลวงมักจะบอกความจริงที่เราอยากได้ยิน เช่น ถ้าไปร่วมกับเขา จะทำให้เรารวยเร็ว และระวัง หากไม่เข้าร่วม จะตกขบวนความรวยนี้ ทั้งที่หากมองให้ดีๆ ด้วยมุมมองของคนนอกที่เป็นกลาง กลลวงต่างๆ มักจะเป็นสิ่งที่ดีเกินกว่าจะเป็นจริง ดังนั้น วัคซีนทางการเงินเพื่อสร้างภูมิต้านทานป้องกันการหลอกลวงทางการเงินจึงสำคัญไม่น้อยทีเดียวครับ.