Priceless opportunity in Chinese Consumers

Priceless opportunity in Chinese Consumers

ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา การเติบโตของเศรษฐกิจจีนเป็นไปด้วยความรวดเร็ว

 จากนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการเปลี่ยนจีนจากที่เคยเป็นโรงงานโลกสู่ประเทศแห่งการผลิตสินค้าไฮเทค และมุ่งเน้นการบริโภคในประเทศให้เป็นเครื่องยนต์ของการเติบโตใหม่ ด้วยโครงสร้างประชากรชนชั้นกลางที่มีมากกว่าประชากรของสหรัฐอเมริกาทั้งประเทศ และประชากรเหล่านี้กำลังมีรายได้เพิ่มสูงขึ้นตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ทำให้การบริโภคสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เติบโตสูงที่สุดในจีน โดยเฉพาะการบริโภคในสินค้าฟุ่มเฟือย หรือที่เรียกว่า Consumer Discretionary  ซึ่งจัดว่าเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมใหม่ (New Economy) ที่มีมูลค่าตลาดเพียงครึ่งหนึ่งของสหรัฐฯ ซึ่งมีประชากรเพียง 1 ใน 4 ของจีน ทำให้มองว่าการบริโภคในจีนยังมีช่องว่างของการเติบโตอย่างมากในอนาคต

หากนึกถึงการบริโภคในสินค้าฟุ่มเฟือย อันดับแรกจะนึกถึงสินค้าประเภท Luxury แต่แท้จริงแล้วสินค้าประเภท Luxury ยังมีมูลค่าตลาดที่น้อย หากเทียบกับอุตสาหกรรมอย่างรถยนต์ไฟฟ้า และ E-commerce ซึ่งทั้งสองอุตสาหกรรมนี้มีมูลค่าตลาดถึง 50% ของอุตสาหกรรมสินค้าฟุ่มเฟือยในจีน และเป็นสองอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา

อุตสาหกรรมรถยนต์ในจีนมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลก คิดเป็น 30% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมด ด้วยการตั้งเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนและการบริโภคน้ำมัน ทำให้รัฐบาลจีนต้องการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ด้วยการให้สิทธิประโยชน์แก่บริษัทผู้ผลิตและผู้บริโภค เช่น การปรับลดภาษีสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อจูงใจให้เปลี่ยนจากรถยนต์เครื่องสันดาปภายในไปเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งปี 2020 ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าและไฮบริดของจีนอยู่ระดับ 1.3 ล้านคัน หรือคิดเป็น 41% ของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าและไฮบริดทั่วโลก รองจากยูโรโซนที่ 42Canalys ประเมินว่า ในปี 2021 ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าและไฮบริดในจีนจะแตะระดับ 1.9 ล้านคันจากการเปิดตัวรถยนต์ใหม่ที่มากขึ้น ซึ่งคิดเป็นการเติบโตจากปี 2020 ถึง 51% และคิดเป็นสัดส่วน 9% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมดในจีน จะเห็นได้ว่าตลาดรถยนต์ในจีนซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลก หากเริ่มมีการเปลี่ยนจากรถยนต์เครื่องสันดาปภายในเป็นรถยนต์ไฟฟ้านั้น จะทำให้มีการเติบโตอย่างมากในอนาคต

อีกหนึ่งอุตสาหกรรมหลักที่เป็นเครื่องยนต์หลักของการเติบโตเศรษฐกิจจีน คือ E-commerce ในปัจจุบันยอดขายของ E-commerce ในจีนมีมูลค่าถึงครึ่งหนึ่งของโลก ด้วยยอดขายในปี 2020 สูงถึง 2.2 ล้านล้านดอลลาร์ มีสัดส่วนการซื้อสินค้าผ่านช่องทาง E-commerce เทียบกับช่องทางค้าปลีกแบบดั้งเดิมที่ 45% สูงกว่าเกาหลีใต้ที่ (28%) และสหรัฐฯ (15%) และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นแตะ 58% ในปี 2024 หรือคิดเป็นการเติบโตแบบทบต้นปีละ 12% จุดเปลี่ยนที่สำคัญ คือ อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ระบบการชำระเงินแบบ Digital Payment และการเกิดขึ้นของ E-commerce ที่ใหญ่ที่สุดในจีนอย่าง Alibaba ทำให้วงการค้าปลีกแบบดั้งเดิมเริ่มถูก E-commerce เข้ามาแทนที่ หลังจากนั้นก็ได้มีบริษัท อย่าง JD.com และ Pinduoduo ที่เข้ามาเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค โดยมีกลยุทธ์ทางธุรกิจที่มีความแตกต่างกันออกไป นอกจากการซื้อสินค้าบน E-commerce ยังมีบริษัทที่มีกลยุทธ์ทางธุรกิจเป็นผู้ให้บริการ เช่น Meituan Dianping ซึ่งนอกจากจะเป็นผู้บริการ Food Delivery อันดับ 1 ในจีน ยังมีความโดดเด่นเรื่องการเป็น Super App ให้บริการตั้งแต่การรีวิวและจองร้านอาหารไปจนถึงร้านทำผม 

ด้วยการเติบโตของยอดขายและการเพิ่มส่วนแบ่งตลาดอย่างรวดเร็วในธุรกิจ E-commerce โดยเฉพาะ Alibaba ทำให้ทางรัฐบาลตัดสินใจเข้าควบคุมเพื่อลดการผูกขาด ส่งผลให้ Alibaba ถูกรัฐบาลสั่งปรับเป็นจำนวนเงิน 3,600 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์จีน ค่าปรับดังกล่าวคิดเป็นกว่า 10% ของยอดขายของบริษัท และยังมีคำสั่งให้บริษัทปรับตัวและเปลี่ยนกติกาไปในแนวทางที่รัฐบาลเห็นว่า บริษัทไม่ได้มีอำนาจเหนือตลาดมากจนเกินไป ราคาหุ้นของ Alibaba ปรับตัวลดลง -22%, Meituan Dianping -37%, JD.com -31% และ Pinduoduo -35%  ส่งผลให้ดัชนี Global x China Consumer Discretionary ETF ปรับตัวลดลง -24% จากจุดสูงสุดในเดือน ก.พ. และทำให้ค่า P/E ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 33 เท่า และคาดการณ์ Forward P/E ในปี 2021 ไว้ระดับ 23 เท่า คิดเป็นการเติบโตของผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนกว่า 43% เป็นรองเพียงแค่อุตสาหกรรม Healthcare เท่านั้น

ประเด็นเรื่องการควบคุมการผูกขาด ทำให้ราคาหุ้นของกลุ่มธุรกิจ E-commerce และตลาดหุ้นจีนปรับตัวลดลง ซึ่งมองว่าผลกระทบดังกล่าวจะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว และยังคาดหวังกำไรที่มาจากการดำเนินธุรกิจปกติที่ยังเติบโตได้ดี หลังจากมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างในการดำเนินธุรกิจ ทำให้ราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลงจนมีระดับ Valuation ที่ถูกลง หากเทียบกับในอดีต จึงมีความน่าสนใจในการเข้าลงทุน จากภาพของการฟื้นตัวของการบริโภคที่จะเกิดขึ้นทั่วโลกในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว และเศรษฐกิจแบบบริโภคนิยมในจีน นอกจากจะเข้ากับ Lifestyle  ของประชากรจีนที่มีรายได้สูงขึ้นแล้วนั้นยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลตามนโยบาย Dual Circulation ที่เน้นการบริโภคภายในประเทศ เพื่อเป็นเครื่องยนต์สำหรับขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะยาวด้วย