ซิโนฟาร์มVSโมเดอร์นา 'ต้นทุน-ค่าบริการ' สำหรับคนไทย
วัคซีนทางเลือก! ซิโนฟาร์มVSโมเดอร์นา "ต้นทุน-ค่าบริการ" สำหรับคนไทย
การแถลงข่าว "ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์" วานนี้ 28 พ.ค. 2564 ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ความร่วมมือนำเข้าวัคซีนโควิดทางเลือก "ซิโนฟาร์ม" (Sinopharm) จำนวน 1 ล้านโดส
มีประเด็นเกิดคำถามขึ้นในสังคมว่า จะมีการคำนวณ "คิดค่าบริการ" วัคซีนโควิดทางเลือก อย่างไร
ความชัดเจนล่าสุด ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ อธิบายวันนี้ 29 พ.ค. 2564 ว่า ถ้าทุนที่ซื้อวัคซีนมา = X , ค่าขนส่ง = Y , ค่าเก็บรักษา = Z , ค่าประกัน = V ราชวิทยาลัยจะจัดให้ องค์ภาครัฐ องค์กรภาคเอกชนที่ต้องการนำไปฉีดให้กับบุคลากรภายในที่มีชื่อตัวตนระบุชัดเจนในราคา X+Y+Z+V เท่านั้น ไม่มีการบวกเพิ่มแม้แต่บาทเดียว
เงื่อนไขขอซื้อวัคซีนจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ สรุปความคือ
1. เอาไปขายให้บุคลากรหรือคนอื่นต่อไม่ได้เป็นอันขาด
2. จ้างสถานพยาบาลใดๆฉีดให้ จะไปคิดค่าบริการอื่นใด เป็นข้อตกลงระหว่างสถานพยาบาล และองค์กรที่รับวัคซีนจากราชวิทยาลัย ซึ่งประชาชนที่องค์กรนั้นจะดูแล จะได้รับบริการฉีดวัคซีน "ฟรี"
3. ถ้าเป็นบริษัทเอกชน ราชวิทยาลัยมีข้อกำหนดว่า ต้องซื้อวัคซีนเพิ่มอีกร้อยละสิบ (10%) เพื่อบริจาคให้รัฐนำไปฉีดให้กับประชาชนที่ด้อยโอกาส (อ้างอิง)
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีวิวาทะเรื่องการจัดซื้อ "วัคซีนทางเลือก" เรื่องการเก็บภาษีและคิดค่าบริการ
หากอิงเกณฑ์ องค์การเภสัชกรรม ที่ นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผอ.องค์การเภสัชกรรม เคยบอกไว้ว่า การซื้อวัคซีนทางเลือก ซึ่งในหลักปฏิบัติทางโรงพยาบาลเอกชนจะมีการสั่งซื้อจากบริษัทผู้ผลิตวัคซีน เมื่อเจรจาได้แล้วจำนวนเท่าไหร่ ก็จะต้องนำจำนวนวัคซีนที่ได้ไปบวกเพิ่มค่าจัดส่ง ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการประมาณ 3-5 % และค่า Vat 7% จากนั้นก็นำงบประมาณตามจำนวนนี้ มาให้องค์การเภสัชกรรม เป็นผู้ทำการซื้อวัคซีนต่อไป (อ้างอิง)
ขณะที่ นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี (กลุ่มธุรกิจพลังงาน) ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เคยชี้แจงว่า ยกตัวอย่างเช่น ผู้นำเข้าวัคซีนได้นำเข้าวัคซีนมาในราคา 100 บาท มีภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT จากการนำเข้า 7% คิดเป็นภาษีซื้อ 7 บาท (ภาษีซื้อนี้ผู้นำเข้าสามารถนำมาขอคืนได้หรือเอาไปหักออกจากภาษีขายได้) และเมื่อผู้นำเข้าขายวัคซีนออกไปในราคา 100 บาทเช่นกัน (กรณีไม่มีการชาร์จ 10% ตามที่เป็นข่าว) ก็จะเสียภาษีขาย 7% คือ 7 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณได้ คือ ภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อ (7 บาท – 7 บาท) = 0 บาท (อ้างอิงกรุงเทพธุรกิจ)
ถามว่า ราคาต้นทุนรวมค่าบริการแล้ว กรณีคนไทยในประเทศ ฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม Sinopharm จะคิดเป็นเงินบาทที่เท่าไหร่ ซึ่งศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ประเมินเบื้องต้นว่า
"วัคซีนชนิดนี้จะมีการรวมราคาค่าประกันในการขายอยู่แล้ว แต่ตอนนี้ยังไม่ได้กำหนดราคาชัดเจน เพราะการพิจารณาต้องดูต้นทุน ราคาขนส่ง และราคาจัดเก็บ แต่ทั้งหมดจะไม่ได้เป็นการดำเนินการเพื่อหากำไร การนำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์ม ไม่ได้เป็นการหากำไร ซึ่งขณะนี้มีหน่วยงานที่เข้ามาติดต่อแล้ว ได้แก่ สภาอุตสาหกรรม จำนวนซื้อ 3 แสนโดส และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ส่วนที่อื่นๆ กำลังพิจารณาอยู่สำหรับผู้ที่ฉีดนั้น จะมีการกำหนดราคาขายราคาเดียวกันทั่วประเทศ คาดว่าราคาของวัคซีนจะอยู่ราวๆ ไม่เกิน 1,000 บาทต่อเข็ม" (อ้างอิง)
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น "ไบโอจีนีเทค" ผู้นำเข้าวัคซีนทางเลือกซิโนฟาร์ม มอง ระบบโลจิสติกส์มีความสำคัญ ถือเป็นหัวใจของวัคซีน เพราะมีเรื่องการประกันคุณภาพหลังจากที่ผลิตวัคซีนแล้ว ซึ่งจะมีการควบคุมคุณภาพและอุณหภูมิ 2-8 องศาตลอด 24 ชั่วโมง
ส่วนราคาซื้อขายวัคซีนต้องรอสรุปกับทางโรงงานที่ประเทศจีนก่อน เนื่องจากเรายังมีสัญญาซื้อขาย ข้อกำหนดและการกระจายสินค้าต่างๆ
พูดถึงวัคซีนทางเลือกแล้ว นอกจาก "ซิโนฟาร์ม" ก่อนหน้านี้ก็มีเอกชนจะนำเข้า "โมเดอร์นา"
กรณี "ต้นทุนวัคซีน" ของ "โมเดอร์นา" ที่นำเข้ามาผ่านองค์การเภสัช ประมาณการณ์อยู่ที่ 37-38 ดอลลาร์สหรัฐฯ ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ขณะที่ราคาให้บริการของสมาชิกโรงพยาบาลเอกชนตกลงกันคิดเท่ากันทุกโรงพยาบาลไม่เกิน 2,000 บาท/เข็ม ประกอบด้วย ค่าวัคซีน ค่าบริการของโรงพยาบาล และค่าประกัน "วัคซีนโควิด-19" เพื่อคุ้มครองผู้ได้รับวัคซีนหากเกิดผลข้างเคียงขึ้น โดยค่าประกันจะเก็บเพียงครั้งเดียวในเข็มแรก ดังนั้น คาดว่าราคาค่าบริการ"ฉีดวัคซีนโควิด-19" ทั้ง 2 เข็มของสมาชิกโรงพยาบาลเอกชนจะอยู่ที่ประมาณ 3,000 -4000 กว่าบาท ซึ่งเบื้องต้น คาดว่าจะมีวัคซีนเข้ามาประมาณ 5 ล้านโดส แต่ยังไม่กำหนดเวลาการส่ง (อ้างอิง)
ดังนั้น การที่ "ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์" สั่งซื้อวัคซีนซิโนฟาร์ม กับ "กลุ่มโรงพยาบาลเอกชน" สั่งซื้อวัคซีนโมเดอร์นา ผ่านองค์การเภสัชฯ จึงมีการเปรียบเทียบในเรื่องของต้นทุน
พูดง่ายๆ วัคซีนซิโนฟาร์ม ไม่เกิน 1,000 บาท ส่วนวัคซีนโมเดอร์นา ไม่เกิน 2,000 บาท ส่วนต่างคือ 1,000 บาท และซิโนฟาร์มสามารถนำเข้าได้เดือนมิถุนายน แต่โมเดอร์นายังไม่กำหนดเวลาการส่ง
กล่าวคือ คำว่า "วัคซีนทางเลือก" เริ่มน่าเชื่อถือไม่ใช่แค่วาทกรรมทางการเมือง ดูเหมือนประชาชนมีทางเลือกเพิ่มขึ้น
ต้องยอมรับความจริงว่า สถานการณ์วิกฤติโควิดระบาดในประเทศไทยขั้นรุนแรง ท่ามกลางปัญหา "วัคซีนหลัก" ที่รัฐบาลจัดหาเตรียมฉีด ยังรวดเร็วไม่พอ ไม่ทันความต้องการของประชาชน!!