วิถีชีวิตที่ใกล้ชิดและเป็นมิตรกับพรุควนเคร็ง จ.นครศรีธรรมราช

วิถีชีวิตที่ใกล้ชิดและเป็นมิตรกับพรุควนเคร็ง จ.นครศรีธรรมราช

พรุ ถูกจัดเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ (wetland) ลักษณะหนึ่ง ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ แต่กำลังถูกคุกคามอยู่ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงพรุควนเคร็ง

หลายๆ คน คงยังไม่คุ้นเคยกับคำว่า “พรุ” จึงขอเล่าก่อนว่าพรุเป็นคำที่ชาวบ้านทางภาคใต้เรียก “บริเวณที่เป็นที่ลุ่มชุ่มชื้น มีน้ำจืดแช่ขังติดต่อกัน และมีซากผุพังของต้นไม้และพันธุ์พืชที่ทับถมกันหนามาก เวลาเหยียบย่ำจะยุบตัวและมีความรู้สึกหยุ่นๆ คล้ายกับการเดินบนฟองน้ำ

สำหรับพรุควนเคร็ง จ. นครศรีธรรมราช  ที่กล่าวถึงอยู่นี้ เป็นป่าพรุที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากป่าพรุโต๊ะแดง ใน จ.นราธิวาส  นับเป็นฐานทรัพยากรที่สำคัญของผู้ที่อยู่อาศัยรอบพื้นที่พรุ ซึ่งได้ประโยชน์ทั้งในด้านการเก็บหากพืช สัตว์น้ำ น้ำผึ้ง ผักป่า ใช้เป็นทุ่งหญ้าสำหรับเลี้ยงสัตว์ และใช้น้ำจากพื้นที่พรุ อีกทั้งยังช่วยบรรเทาภัยแล้งและลดผลกระทบจากน้ำท่วมด้วย

162376838475

  • การตัดกระจูด ชุมชนจะตัดกระจูดที่ขึ้นกระจายในบริเวณพื้นที่พรุซึ่งเป็นที่ลุ่มใกล้ชุมชนได้เกือบตลอดทั้งปี โดยในช่วงน้ำหลากจะเก็บหาได้น้อยลง การตัดกระจูดจะใช้เคียวหรือมีดตัดและน้ำมารวบรวมเป็นมัด ใช้เรือหรือคนแบกออกมาบริเวณถนน แล้วขนส่งต่อโดยรถจักรยานยนต์หรือรถพ่วงข้าง จากนี้ จะต้องนำกระจูดมาผ่านกรรมวิธีคลุกกับดินโคลนเพื่อให้อ่อนตัวดีขึ้น คัดขนาดเพื่อทำเป็นกำเล็ก ๆ เตรียมไว้ขายเป็นกระจูดสด หรือนำมาตากแห้งเตรียมไว้สำหรับจักสานเป็นผลิตภัณฑ์ขายต่อไป
  • การหาผักป่า ชุมชนจะหาผักป่าไว้บริโภคในครัวเรือนมากกว่าการหาเพื่อขาย จึงเก็บมาจำนวนค่อนข้างน้อยในแต่ละครั้ง ผักหลากหลายชนิดที่พบในพื้นที่พรุควนเคร็ง ได้แก่ ผักบุ้ง ผักกะเฉด ผักขี้ใต้ ผักตบ ผักริ้น ลำเพ็ง พาโหม เถาว์ดิน และมีเห็ด 2 ชนิดที่บางส่วนหาขายด้วย คือ เห็ดเสม็ด และเห็ดแครง
  • การหาปลาและสัตว์น้ำ ชุมชนรอบพรุควนเคร็งสามารถหาปลาและสัตว์น้ำ ในช่วงที่มีน้ำหลาก ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมีนาคม มีบางส่วนยังคงหาในช่วงฤดูแล้งโดยการวางกับดักตามลำคลองและบึงที่มีน้ำท่วมขังในพื้นที่พรุ หรือการติดตั้งยอทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ไว้ตามลำคลองธรรมชาติ ปลาน้ำจืด ที่หาได้ แต่สัตว์น้ำก็ได้ลดลงไปมาก ทำให้ชุมชนต้องหันกลับมาคิดและฟื้นฟูระบบนิเวศกันอย่างจริงจัง 
  • 162376841232
  • การหาน้ำผึ้ง การหาน้ำผึ้งมีทั้งเข้าไปหาเพียงคนเดียว และไปเป็นกลุ่ม โดยส่วนใหญ่จะเข้าไปเป็นกลุ่ม ๆ ตั้งแต่ 2 คน ถึง 8 คน เมื่อหามาได้ก็จะแบ่งปันกัน นำไปขายให้แก่ผู้ซื้อที่สั่งเป็นประจำ หรือฝากญาติขายในพื้นที่ต่าง ๆ โดยผู้ซื้อวางใจได้ว่าเป็นน้ำผึ้งแท้จากพรุควนเคร็ง แม้มีราคาค่อนข้างสูงกว่าน้ำผึ้งทั่วไป แต่ได้รับการยอมรับ ในคุณภาพว่ามีกลิ่นหอมจากดอกเสม็ด ซี่งเป็นจุดขายสำคัญ การหาตัวต่อและไข่มดแดง ชุมชนบางส่วนเข้าไปหาตัวต่อและไข่มดแดงทั้งเพื่อบริโภคและเพื่อขาย ในช่วงเวลาเดียวกับการหาน้ำผึ้ง ทั้งตัวต่อและไข่มดแดงมีราคาค่อนข้างดี ผู้ซื้อส่วนใหญ่เป็นคนในชุมชนเอง บางส่วนส่งให้กับพ่อค้าแม่ค้าที่เข้ามาซื้อไปขายตามตลาดหรือร้านอาหารพื้นบ้านในท้องถิ่น
  • การเลี้ยงสัตว์ ในแต่ละปีมีการปล่อยวัวและควายเข้าไปหากินหญ้าในพื้นที่พรุควนเคร็งในช่วงฤดูแล้งเป็นระยะเวลาประมาณ 9-10 เดือน ในตำบลเคร็ง และ 6-9 เดือน เพื่อให้สัตว์เลี้ยงได้เล็มกินหญ้าในบริเวณพรุ สลับกับการปล่อยในสวนปาล์มและสวนยางพารา ส่วนครัวเรือนที่ไม่มีที่ดินหรือที่ดินน้อยจะอาศัยพื้นที่พรุเป็นหลัก ในช่วงน้ำหลากจะเลี้ยงในคอกใกล้บ้าน แล้วตัดหญ้าหรือซื้อฟางอัดก้อน ให้เป็นอาหาร พรุควนเคร็งจึงเป็นเสมือน แหล่งอาหารของสัตว์เลี้ยงที่ช่วยเกษตรกรประหยัดต้นทุน
  • การใช้น้ำ ชุมชนรอบพรุควนเคร็งได้ใช้ประโยชน์จากน้ำบาดาล และน้ำผิวดินซึ่งมีความเชื่อมโยงกับพื้นที่พรุ โดยการดึงน้ำ มาทำเป็นน้ำประปากระจายให้แก่ครัวเรือนในชุมชน สถานที่ราชการสำคัญๆ เช่น โรงเรียน วัด และสำนักงานของหน่วยงาน ต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ในติดกับชุมชน ครัวเรือนจำนวนหนึ่งยังได้ต่อระบบน้ำไปใช้ในสวนผลไม้และการปลูกผัก

 

วิถีความเป็นอยู่และการใช้ประโยชน์ทางตรงจากพรุควนเคร็งของผู้คนที่อาศัยรอบพื้นที่พรุ  ได้ช่วยลดรายจ่ายด้านอาหาร  สืบสานอาชีพซึ่งช่วยสร้างรายได้  รวมทั้งได้อาศัยเป็นแหล่งน้ำดิบสำหรับการทำน้ำประปา  ประกอบกับเป็นการดำรงภูมิปัญญาการใช้และจัดการทรัพยากรซึ่งยังคงมีการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น  จึงทำให้การใช้ประโยชน์จากพรุควนเคร็งยังคงเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตหลากหลายวัยและหลายกลุ่ม ได้ในการเข้าถึงและได้รับประโยชน์จากพรุควนเคร็งแห่งนี้  ขณะที่การเตรียมความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยคุกคามต่างๆ ก็ต้องทำควบคู่กันไป.

 เรียบเรียงโดย พวงผกา ขาวกระโทก นักวิจัย สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย