ปรับ เปลี่ยน และประสานพลังเพื่ออนาคตสีเขียว
สวัสดีครับ เราต่างทราบดีว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม
ได้อยู่ในความสนใจของผู้ให้บริการทางการเงินมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว ประเด็นที่มีการหยิบยกมาพูดถึงอยู่บ่อยครั้งคือการชดเชยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) โดยนิยามของการชดเชยคาร์บอนให้เป็นศูนย์คือการสร้างความสมดุลระหว่างการปล่อยและการดูดซับก๊าซเรือนกระจกจากชั้นบรรยากาศแล้วนำมาเก็บไว้ในแหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Sinks) ซึ่งเราเรียกกระบวนการนี้ว่าเป็นการกักเก็บคาร์บอน โดยแหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่สำคัญสำหรับโลกของเรา ได้แก่ ป่าไม้ ดิน และมหาสมุทร และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทุกประเทศทั่วโลกจำเป็นต้องมีมาตรการที่จำเป็นสำหรับการสร้างความสมดุลระหว่างการปล่อยและการจัดเก็บก๊าซเรือนกระจก
อีกวิธีที่ช่วยลดการปล่อยมลพิษและชดเชยคาร์บอนให้เป็นศูนย์คือลดการปล่อยมลพิษที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง ซึ่งสามารถทำได้โดยเน้นการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน รวมถึงนำเทคโนโลยีสะอาดมาปรับใช้ในกระบวนการธุรกิจ ทั้งนี้การชดเชยคาร์บอนให้เป็นศูนย์สามารถบรรลุได้โดยการคำนวณและลดการปล่อยคาร์บอน พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพภายในองค์กรและสนับสนุนโครงการด้านต่างๆ ที่จำเป็น อาจจะเป็นเรื่องยากที่จะมุ่งเน้นการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์เพียงอย่างเดียว แต่หากบริษัทสามารถกำหนดทิศทางที่ชัดเจนในการชดเชยและสร้างสมดุลระหว่างทั้งการลดและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมทั้งคำนึงถึงความโปร่งใสของโครงการด้วย ถือได้ว่านี่เป็นย่างก้าวที่สำคัญในการก้าวสู่สั่งคมที่ยั่งยืน
เมื่อเร็วๆ นี้กลุ่มธนาคารนานาชาติ 43 แห่งรวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้เข้าร่วมในโครงการของ UN เพื่อบรรลุเป้าหมายในการชดเชยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ให้ได้ภายในปี 2593 โดยธนาคารระดับโลกหลายแห่ง อาทิ Barclays, HSBC, Bank of America, Deutsche Bank และ BNP Paribas ได้ร่วมเป็นภาคีสมาชิกในนามกลุ่ม "Net Zero Banking Alliance" พร้อมให้คำมั่นว่าจะร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการการให้เงินกู้ยืมและปรับพอร์ตการลงทุนเพื่อสอดคล้องกับเป้าหมาย Net-Zero ภายในปี 2593 หรืออาจจะเร็วกว่านั้น โดยจะมีการรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี CDP (Carbon Disclosure Project) ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรและเป็นผู้สร้างระบบตรวจวัดรายงาน และเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม ได้ตีพิมพ์รายงานชื่อว่า "The Time to Green Finance" ได้ให้ข้อมูลว่าโลกยังไม่ใกล้ความจริงในการบรรลุเป้าหมายการชดเชยคาร์บอนให้เป็นศูนย์นัก จากที่ได้ทำการสำรวจสถาบันทางการเงินมากกว่า 330 แห่งเพื่อเก็บข้อมูลด้านการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ มีผู้ตอบแบบสำรวจเพียงร้อยละ 25 เท่านั้นที่เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการปล่อยมลพิษที่เกิดจากกิจกรรมทางการเงิน การลงทุน หรือการประกันภัยขององค์กรตนเองอย่างโปร่งใส
ตัวเลขนี้นับว่าต่ำมากเมื่อพิจารณาจากการประมาณการของธุรกิจสถาบันการเงินซึ่งแสดงให้เห็นว่ากิจกรรมเหล่านี้จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยอ้อมมากกว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรงถึง 700 เท่า อย่างไรก็ตาม สถาบันการเงินบางแห่งได้แสดงความสนใจในการปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุนของตนให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของข้อตกลงปารีส ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ร้อยละ 45 มุ่งมั่นที่จะปรับโครงสร้างการให้สินเชื่อเพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ด้านสภาพอากาศ ในขณะที่นักลงทุนสถาบันร้อยละ 48 และบริษัทที่ให้การบริการทางการเงินร้อยละ 46 กล่าวว่าได้เริ่มปรับพอร์ตการให้สินเชื่อของตนเองเรียบร้อยแล้ว
CDP ได้ระบุประเด็นที่น่าสนใจคือสถาบันการเงินมุ่งเน้นไปที่โอกาสทางการตลาดที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจมากกว่าความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามเพื่อให้เกิดการชดเชยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ เราจำเป็นต้องบรรลุเป้าหมายทั้งด้านการแสวงหาโอกาสธุรกิจใหม่ๆ และการเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางเศรษฐกิจ รายงานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าสถาบันการเงินร้อยละ 76 ให้ความสนใจด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มุ่งเน้นการสร้างความยั่งยืน อาทิ สินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (Sustainability Linked Loan) หรือตราสารหนี้สีเขียว (Green Bond) ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ
ด้านสถาบันทางการเงินฝั่งเอเชีย กลุ่มสถาบันการเงิน MUFG (Mitsubishi UFJ Financial Group) ได้ออกประกาศ "MUFG Carbon Neutrality Declaration" ซึ่งเป็นคำมั่นสัญญาในการบรรลุเป้าหมายการปล่อยมลพิษสุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2593 จากการปรับโครงสร้างการให้เงินกู้ยืม และภายในปี พ.ศ. 2573 จากการดำเนินงานการภายในองค์กร และด้วยความมุ่งมั่นนี้ MUFG จะกลายเป็นธนาคารญี่ปุ่นแห่งแรกที่เข้าร่วม Net-Zero Banking Alliance (NZBA) ซึ่งก่อตั้งโดย United Nations Environment Program Finance Initiative (UNEP FI) เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา
ผู้ให้บริการทางการเงินควรให้ความสำคัญกับทั้งโอกาสและความเสี่ยงในพอร์ตการลงทุนเพื่อให้แน่ใจว่าเราจะไม่เพียงแค่บรรลุเป้าหมายที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ต้องสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมสำหรับอุตสาหกรรมทางการเงินไปพร้อมๆ กันด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้บริการทางการเงินปรับตัวและเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการชดเชยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ที่เราทุกคนตั้งมั่นไว้ครับ