พลังงานสะอาด เขื่อนยักษ์ และอนาคตจีน
หัวข้อใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่งในแผนพัฒนาฉบับใหม่ของจีน ก็คือ เรื่องพลังงานสะอาด ซึ่งจะเป็นตัวตอบโจทย์เศรษฐกิจยุคใหม่ของจีน
เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ได้จัดงานเสวนาในหัวข้อพลังงานสะอาดกับอนาคตจีน โดยผมได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญสองท่านคือ อาจารย์ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก ซึ่งกำลังทำวิจัยและศึกษาปริญญาเอกด้านนโยบายพลังงานที่มหาวิทยาลัยเซี่ยเหมิน และอาจารย์ ดร.ภวิษร ชื่นชุ่ม ซึ่งเชี่ยวชาญด้านพลังงานน้ำจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยชิงหัว
อาจารย์ศุภวิชญ์ ได้ให้ภาพรวมเกี่ยวกับยุทธศาสตร์พลังงานสะอาดของจีน เป้าหมายเรื่องพลังงานสะอาดของจีนเป็นเป้าหมายที่รู้กันทุกคนทุกบ้านในจีน กล่าวคือ ในปี ค.ศ. 2030 จีนจะเข้าสู่จุดสูงสุดของการปล่อยคาร์บอน และในปี ค.ศ. 2060 จีนจะเป็นประเทศปลอดคาร์บอน
แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 14 (ค.ศ. 2021-2025) นั้น บางคนเรียกว่าเป็นแผนพัฒนาสีเขียว เพราะเน้นที่การพัฒนาพลังงานสะอาด ไม่ว่าจะเป็นพลังงานน้ำ พลังงานนิวเคลียร์ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานไฮโดรเจน
จีนตั้งเป้าว่าจะภายในปี ค.ศ. 2030 จีนจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ให้ได้ 1200 กิกะวัตต์ จากปัจจุบันอยู่ที่ 530 กิกะวัตต์
ทราบไหมครับว่า พื้นที่ยุทธศาสตร์ด้านพลังงานของจีนก็คือ พื้นที่ซินเจียง อ.ศุภวิชญ์เล่าว่า แผนพัฒนาฉบับใหม่ของจีนมีนโยบาย “3 ฐาน 1 ช่องทาง” สำหรับซินเจียงโดยเฉพาะ
“3 ฐาน” หมายถึง 1.) พื้นที่ซินเจียงจะเป็นฐานผลิต แปรรูป และสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ 2.) ซินเจียงจะเป็นฐานการผลิตพลังงานถ่านหิน เป็นแหล่งวัตถุดิบถ่านหิน และฐานการผลิตเคมีภัณฑ์ที่เกิดขึ้นจากถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดของจีน และ 3.) ซินเจียงจะ เป็นฐานพลังงานลมที่ใหญ่ที่สุด
ส่วน “1 ช่องทาง” หมายถึง ช่องทางการขนส่ง ซินเจียงจะกลายเป็นพื้นที่หลักในการเชื่อมต่อพลังงานจากภูมิภาคตะวันตกไปสู่ภูมิภาคตะวันออกที่มีความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าในปริมาณที่สูง
อ.ศุภวิชญ์ยังได้เล่าถึงโครงการยักษ์ใหญ่เรื่องพลังงานน้ำที่ปรากฎในแผนพัฒนาฉบับใหม่ของจีน นั่นคือ การศึกษาเพื่อพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ (เขื่อน) ขนาดใหญ่ในแม่น้ำยาร์ลุงซางโปในทิเบต
หากสำเร็จ เขื่อนใหม่นี้จะกลายเป็นเขื่อนที่มีขนาดใหญ่และมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสูงที่สุดในโลก ซึ่งใหญ่กว่าเขื่อนสามผาที่เป็นเขื่อนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม คงไม่ได้สร้างได้ง่ายๆ เพราะน่าจะเป็นโครงการที่สร้างความขัดแย้งในเวทีระหว่างประเทศ เนื่องจากกระทบอินเดีย รวมทั้งพื้นที่ทิเบตก็เป็นพื้นที่ต้นน้ำของแม่น้ำหลายสายของโลก จึงย่อมกระทบระบบนิเวศมหาศาล
เมื่อมาถึงเรื่องเขื่อน อ.ภวิษร ซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องนี้โดยตรง ได้รับลูกต่อ โดยฉายภาพให้เห็นการวางแผนระยะยาวเรื่องพลังงานน้ำของจีนที่ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในสมัยนี้ แต่ย้อนหลังไปหลายสิบปี
โครงการลือลั่นโลกเมื่อ 20 ปี ก่อน ก็คือ โครงการเขื่อนสามผา (Three Georges Dam) ที่แม่น้ำแยงซีเกียง ซึ่งใช้เวลาวางแผนและก่อสร้างเป็นเวลาเกือบ 17 ปี ความมหัศจรรย์ของเขื่อนสามผาคือมีความสูงเท่ากับตึก 60 ชั้น มีความยาวมากกว่า 2 กิโลเมตร สำหรับเขื่อนที่กำลังวางแผนจะสร้างในแม่น้ำยาร์ลุงซางโปในทิเบตก็มีการวางแผนก่อนหน้านี้มานับสิบๆ ปี เช่นเดียวกัน
จุดเด่นของเทคโนโลยีการก่อสร้างเขื่อนของจีน อยู่ที่การปรับปรุงศักยภาพของกังหันน้ำ ซึ่งจีนมีการวิจัยและประยุกต์ให้ดีขึ้นอยู่เสมอ
การสร้างเขื่อนนี่เป็นเหมือนเหรียญสองด้านครับ ในด้านหนึ่ง สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าปริมาณมหาศาลป้อนให้กับการบริโภคภายในจีน แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็ส่งผลต่อระบบนิเวศอย่างต่อเนื่อง
ตั้งแต่มีเขื่อนสามผา ก็พบว่าปลาบางชนิดในแม่น้ำแยงซีเกียงหายไป หรือตะกอนที่เป็นแหล่งอาหารของสัตว์น้ำหมดไป ปริมาณน้ำจืดบริเวณท้ายน้ำที่เคยผลักน้ำเค็มออกไปลดลง ทำให้น้ำเค็มรุกล้ำน้ำจืด นอกจากนั้น ยังมีผลกระทบจากการกัดเซาะของแม่น้ำ ทำให้ตลิ่งบริเวณท้ายน้ำของเขื่อนถล่ม ในส่วนเหนือเขื่อน ก็เจอภาวะน้ำท่วมทั้งพื้นที่ป่าไม้และที่อยู่อาศัย
เขื่อนสามผาที่ออกแบบมาเมื่อ 20 ปี ก่อน แต่พอมาถึงวันนี้ กลับเผชิญความท้าทายเพิ่มเติมจากภาวะโลกร้อนอีกด้วย ทำให้สภาวะแวดล้อมต่างจากเดิมมาก เมื่อเกิดฝนตกห่าใหญ่ในปี ค.ศ. 2020 เขื่อนสามผาจึงระบายน้ำไม่ได้ ทำให้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ ปัจจุบัน เพื่อแก้ปัญหา จีนได้ออกแบบอุโมงค์ผันน้ำเพิ่มเติม โดยร่วมกับโครงการ South North Diversion Project โอนย้ายน้ำจากภาคใต้ที่มีปริมาณน้ำเยอะไปยังภาคเหนือที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า
สำหรับเรื่องเขื่อนจีนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับไทย ก็คือ ผลกระทบต่อแม่น้ำโขงตอนล่างจากการที่จีนสร้างเขื่อนในลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน ปัจจุบันจีนมีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่จำนวน 6 เขื่อน ในแม่น้ำโขงตอนบนภายในประเทศจีน
อ.ภวิษรเล่าว่า นี่เป็นประเด็นที่ต้องอาศัยความร่วมมือและประสานหาทางออกด้วยกลไกระหว่างประเทศ เพราะไม่ใช่เพียงจีนเท่านั้น แต่ในลาว ซึ่งก็อยู่ช่วงบนของแม่น้ำโขงเช่นเดียวกัน ก็จะมีแผนการสร้างเขื่อนอีกจำนวนมาก โดยใช้เทคโนโลยีและการสนับสนุนจากจีน เพราะลาวเองก็ตั้งใจว่าเป็นผู้ป้อนพลังงานให้กับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค รวมทั้งให้แก่ไทยด้วย
แต่ผลกระทบต่อระบบนิเวศของแม่น้ำโขงตอนล่างก็คือ แม่น้ำแห้ง เปลี่ยนสีเป็นสีใส ปลาบางพันธุ์หายไปเช่นปลาบึก อย่างในกัมพูชา โตนเลสาบ ซึ่งเป็นทะเลสาบใหญ่ที่สุดในภูมิภาค และเป็นแหล่งประมงของกัมพูชา ปัจจุบันปลาหายไปเกือบร้อยละ 60 เลยทีเดียว ในเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศท้ายน้ำเองก็ประสบปัญหาระบบนิเวศอย่างมาก
นโยบายพลังงานสะอาดของจีน โดยเฉพาะเรื่องการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตพลังงาน จึงไม่ได้มีผลต่ออนาคตของจีนเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับอนาคตของประเทศรอบจีนด้วยเช่นกัน.