การแก้หนี้ให้ประชาชน
ข่าวใหญ่เมื่อกลางสัปดาห์ที่แล้วคือการประกาศนโยบายแก้หนี้ประชาชน 'โดยมาตรการระยะสั้นจะทำให้เกิดขึ้นให้ได้ภายใน 6 เดือน' ซึ่งจะเขียนถึงวันนี้
อีกทั้งยังมีการกล่าวอีกด้วยว่า “ก่อนปี 2557 (ที่คสช.ยึดอำนาจ) หนี้ครัวเรือนมีอัตราเพิ่มขึ้นเดือนละ 8.8 หมื่นล้านบาท แต่จากปี 2557 จนถึงปัจจุบันมีการเพิ่มขึ้นเดือนละประมาณ 5 หมื่นล้านบาท” ซึ่งคงจะหมายความหรือไม่ว่ารัฐบาลนี้ได้มีส่วนในการช่วยลดอัตราการเพิ่มของหนี้ครัวเรือนไปก่อนหน้าแล้ว?
ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์นั้นการก่อหนี้ของครัวเรือนนั้น ย่อมจะเป็นการตัดสินใจโดยอิสระของบุคคลไม่ใช่การสั่งการจากรัฐบาลและย่อมขึ้นอยู่กับตัวแปรมากมาย ดังนั้น ผมจึงของกล่าวถึงแนวโน้มของหนี้ครัวเรือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปรียบเทียบกับจีดีพีซึ่งเป็นการวัดศักยภาพในการสร้างรายได้ของประชาชนในประเทศ ทั้งสองส่วนคือรายได้กับหนี้ย่อมจะต้องเดินไปด้วยกันเพราะหากไม่มีรายได้ (และไม่มีความมั่นใจว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นในอนาคต) คนกู้ก็คงจะไม่อยากกู้เงินและคนให้กู้เงินก็จะไม่ยอมให้กู้เงินเช่นกัน
ตัวเลขหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี (ตามที่ CEIC รวบรวมมา) ทำให้เห็นแนวโน้มที่พอจะสรุปได้ดังนี้
1.หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยนั้นเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ จากระดับประมาณ 50% ของจีดีพีเมื่อ ต้นศตวรรษมาอยู่ที่ 52% ต่อจีดีพีเมื่อปี 2007 ส่วนหนึ่งก็น่าจะเป็นผลมาจากครัวเรือนที่มีรายได้และความมั่งมีเพิ่มขึ้น ตลอดจนพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่ทำให้เจ้าหนี้ (ธนาคาร) สามารถประเมินความเสี่ยงของลูกหนี้รายย่อยได้แม่นยำขึ้นและความจำเป็นที่จะต้องแสวงหาลูกค้ารายใหม่เพราะบริษัทขนาดใหญ่สามารถออกพันธบัตร (กู้เงินโดยตรงจากประชาชน) แทนการกู้เงินจากธนาคารได้มากขึ้น
2.หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดมาเป็น 57.9% ของจีดีพีในปี 2009 ซึ่งเป็นช่วงที่ธนาคารกลางสหรัฐดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนปรนอย่างไม่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ (ดอกเบี้ยระยะสั้นปรับลดลงเหลือศูนย์และพิมพ์เงินใหม่ออกมาซื้อพันธบัตรหรือมาตรการคิวอี) ทำให้เงินท่วมโลก ต้นทุนในการก่อหนี้ลดลงอย่างมากและยังทำอย่างต่อเนื่อง (มาจนทุกวันนี้) ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นมาเป็น 66.2% ในปี 2011 และเพิ่มขึ้นไปอีกเป็น 81.2% ในปี 2015
3.หลังจากนั้นหนี้ครัวเรือนปรับตัวลดลงไปอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 80% ส่วนหนึ่งเพราะรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยก็แสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนโดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ก่อหนี้อย่างรวดเร็วเกินความสามารถของการหารายได้ของตัวเอง
4.แต่ที่หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงหลังนี้นั้นต้องไปกล่าวโทษกับ COVID-19 ซึ่งการระบาดทำให้เศรษฐกิจไทยเสื่อมถอยลงอย่างรุนแรง จีดีพีปรับตัวลดลง 6% ในปี 2020 และปีนี้มีความเป็นไปได้ว่าแทบจะไม่ขยายตัวเลย ในขณะที่รัฐบาลบอกว่าหนี้ครัวเรือนก็คงจะยังเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 5 หมื่นล้านบาท ดังนั้นหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีจึงได้เพิ่มขึ้นเอย่างก้าวกระโดดจาก 80.2% ในเดือนเมษายน 2020 มาเป็น 89.3% ในเดือนธันวาคม 2020 ซึ่งเป็นตัวเลขล่าสุดที่มีอยู่ ณ วันนี้
ดังนั้นในความเห็นของผมการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ถูกต้องตรงประเด็นและยั่งยืนมากที่สุดคือ การที่ประเทศไทยจะมีแผนการและยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการพลิกฟื้นและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถขยายตัวได้ปีละ 5-6% หากทำได้เช่นนี้หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีก็จะค่อยๆ ลดลง แต่ที่สำคัญคือประชาชนจะมีรายได้เพียงพอที่จะมีความเป็นอยู่ที่ดี พร้อมไปกับการจ่ายดอกเบี้ยได้ตามนัดและจ่ายคืนเงินต้นเพื่อลดปริมาณหนี้หากจำเป็น
ตรงนี้เป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญเพราะหากรายได้ประชาชนตกต่ำ (เช่นกรณีของพนักงานของการบินไทยที่ถูกเลิกจ้างหรือผู้ที่ทำงานในภาคบริการอีกหลายล้านคนที่ตกงาน) การจะเพียงแต่กดดันให้ธนาคารลดดอกเบี้ยเงินกู้ ก็จะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาได้มากนักและดำริที่จะให้มีองค์กรและกลไกในการประนอมหนี้ก็ไม่น่าจะเป็นผลสำเร็จได้มากนัก หากลูกหนี้ไม่สามารถแสดงให้เห็นได้ว่าในอนาคตอันใกล้จะมีศักยภาพในการหารายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
หมายความว่าการปรับโครงสร้างหนี้ที่ประสบความสำเร็จนั้นย่อมต้องเริ่มต้นจากศักยภาพในอนาคตของลูกหนี้ (debtor viability) ว่ามีมากหรือน้อยเพียงใดแล้วจึงจะสามารถประเมินได้ว่าการลดดอกเบี้ยหรือผ่อนปรนหนี้ที่เหมาะสมนั้นจะมีลักษณะเช่นใด แต่หากแนวโน้มการฉีดวัคซีนและการฟื้นตัวของประเทศยังขาดความชัดเจนเช่นนี้ การปรับโครงสร้างหนี้หรือประนอมหนี้น่าจะทำได้ด้วยความยากลำบากอย่างยิ่ง
อีกประเด็นหนึ่งคือการกล่าวถึงนโยบายที่ “ต้องดำเนินการให้ครอบคลุมทั้งระบบ” โดยกล่าวถึงในลำดับแรกคือหนี้กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ก.ย.ศ.) 3.6 ล้านคน ผู้ค้ำประกัน 2.8 ล้านคน หนี้ครู ข้าราชการ 2.8 ล้านบัญชี ก่อนหน้ากลุ่มอื่นๆซึ่งผมมีข้อสังเกตว่าทั้งสองกลุ่มนี้เป็นลูกหนี้ของภาครัฐบาลเป็นหลัก โดยเฉพาะ ก.ย.ศ. และเป็นปัญหามานานหลายปีก่อน COVID-19 แล้ว สำหรับหนี้สินของครูนั้นก็เป็นหนี้สินที่มีมานานแล้วและเชื่อว่าครูในสังกัดของภาครัฐนั้นไม่ได้รับผลกระทบมากนักในทางการเงินจากการระบาดของ COVID-19
นอกจากนั้นการกล่าวถึงบัญชีของประชาชนถึง 51.2 ล้านบัญชีนั้นผมไม่แน่ใจว่าจะมีปัญหาทั้ง 51.2 ล้านบัญชีจริงหรือ แต่ประเด็นที่สำคัญกว่าคือการเรียงลำดับความสำคัญของการแก้หนี้ประชาชนว่ากลุ่มใดมีความสำคัญก่อนและกลุ่มใดรองลงมา ประเด็นนี้หากไม่มีความชัดเจนก็จะสามารถเกิดความสับสนได้เช่นเดียวกับการจัดสรรแจกจ่ายวัคซีนที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ครับ.