Wellness Economy: หยุดรวยกระจุก โตแบบกระจาย
สถานการณ์โควิด-19 เป็นวิกฤตที่ชี้ให้เห็นความเปราะบางของโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ได้อย่างชัดเจน
ที่ผ่านมาแม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะดูเติบโตสูงจากการท่องเที่ยวสูงถึงร้อยละ 18.6 ของ GDP แต่การเติบโตจากท่องเที่ยวนั้นก็เป็นภาพที่สวยหรูและกระจุกตัวอยู่ในไม่กี่พื้นที่เท่านั้น ยิ่งเมื่อเราได้ดูตัวเลขแล้วจะตกใจว่าการท่องเที่ยวมากกว่าครึ่งกระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ รองลงไปอีกประมาณร้อยละ 10 อยู่ที่จังหวัดภูเก็ต ขณะที่เหลือไม่ถึงร้อยละ 40 กระจายอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ
จึงไม่น่าแปลกใจ เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 คนเดินทางมาเที่ยวกรุงเทพ มาเที่ยวภูเก็ตไม่ได้ เศรษฐกิจไทยในภาพรวมจึงได้รับผลกระทบอย่างสูงด้วยเช่นเดียวกัน ภาพสะท้อนเหตุการณ์นี้เริ่มชัดขึ้นตั้งแต่เหตุการณ์เรือนักท่องเที่ยวจีนล่มที่จังหวัดภูเก็ตในปี 2561 ทำให้รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติหดตัวร้อยละ 2 และวิกฤตโควิด-19 ล่าสุดนี้ก็ยิ่งชี้ชัด เพราะทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวไทยหายไปกว่าร้อยละ 13 ของ GDP ที่สำคัญกลุ่มที่ได้รับผลกระทบไม่ได้มีแค่ภาคการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังเกิดผลเป็นโดมิโน่ไปยังหลากหลายธุรกิจ ผู้คนและครัวเรือนเป็นวงกว้าง
โครงสร้างเศรษฐกิจไทยไม่ควรเปราะบางต่อวิกฤตภายนอกอีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโลกอนาคตข้างหน้านี้มีทั้งความเสี่ยงและความไม่แน่นอนสูง เศรษฐกิจไทยจึงควรมีโครงสร้างที่กระจายการเติบโตอย่างทั่วถึงและพร้อมรับกับวิกฤต
เศรษฐกิจแห่งความเป็นอยู่ที่ดี (Wellness Economy) หรือจะเรียกว่า เศรษฐกิจแบบสบายๆ น่าจะเป็นหนึ่งในคำตอบสำหรับประเทศไทย นอกจากจะมีศักยภาพในการสร้างการเติบโตให้ประเทศแล้ว ยังจะช่วยให้เกิดกระจายรายได้และการเข้าถึงบริการสาธารณสุขมากขึ้นอีกด้วย
เรื่องนี้เป็นไปได้จริง และไม่ไกลเกินฝันเนื่องจากประเทศไทยมีจุดแข็งในด้านการแพทย์และการท่องเที่ยวเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว มีส่วนช่วยในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการท่องเที่ยว โดยการขยาย value-chain เชื่อมโยงการท่องเที่ยวเข้ากับบริการด้านสาธารณสุขในพื้นที่ เนื่องจากนักท่องเที่ยวที่เน้นเรื่องนี้มักดำเนินวิถีชีวิตในระหว่างการท่องเที่ยวอย่างเป็นมิตรต่อสุขภาพด้วย เช่น บริโภคอาหารสุขภาพ ออกกำลังกาย ทำสมาธิ ชื่นชมแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและทางวัฒนธรรม เป็นต้น ซึ่งช่วยสร้างโอกาสสำหรับท้องที่ ในการพัฒนาธุรกิจมูลค่าสูงอีกด้วย
ที่สำคัญ Wellness Economy จะช่วยทำให้มีการขยายตัวเศรษฐกิจแบบครอบคลุมหลายธุรกิจ มีโอกาสเป็นเครื่องยนต์ที่สร้างการเติบโตใหม่ และการช่วยกระจายรายได้มากขึ้น รวมถึงยังมีส่วนในการช่วยดึงศักยภาพของ Medical Tourism ในประเทศไทยด้วย เนื่องจาก Medical Tourism ของไทยมีลักษณะกระจุกตัวในพื้นที่เมืองใหญ่ที่มีศักยภาพทางการแพทย์สูงเท่านั้น เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ต และสงขลา เป็นต้น การเติบโตของ Wellness Economy จะมีผลให้ Medical Tourist ซึ่งมีพฤติกรรมดูแลสุขภาพอยู่แล้ว ออกไปท่องเที่ยวในจังหวัดอื่นที่ตอบสนองกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีหลังจากรับบริการทางการแพทย์เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการกระจายรายได้ของนักท่องเที่ยว Medical Tourist ซึ่งเป็นกลุ่มใช้จ่ายสูง ไปสู่จังหวัดอื่นที่ไม่ใช่จังหวัดใหญ่มากขึ้น รวมถึงการกระจายตัวของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะเป็นแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนในระบบสาธารณสุขในพื้นที่มากขึ้น ทำให้คนในท้องถิ่นได้ประโยชน์จากการเข้าถึงบริการสาธารณะที่ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ Wellness Economy ยังอาจมีบทบาทในการพลิกวิกฤตสำคัญ 2 ประการของประเทศไทยให้กลายเป็นโอกาสได้
- พลิกวิกฤตปัญหาความเสื่อมโทรมสู่ความยั่งยืน ทรัพยากรการท่องเที่ยวเสื่อมโทรมจากปัญหาการท่องเที่ยวเกินขนาด (Over tourism) ที่ผ่านมา ก้าวสู่ Wellness economy ที่ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีวิถีชีวิตคำนึงถึงสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ช่วยลดผลกระทบจากการท่องเที่ยวลง
- พลิกวิกฤตสังคมผู้สูงอายุสู่โอกาสทางธุรกิจ Silver Market เรื่องสังคมสูงอายุเป็นวิกฤตและความท้าทาย แต่อย่างไรก็ดีตลาดผู้สูงอายุก็มีโอกาสสูงและน่าจับตามองเช่นกัน ซึ่งเป็นโอกาสในการขยายการเติบโตของ Wellness Economy
การส่งเสริม Wellness Economy ให้เกิดประโยชน์ทั่วถึงและยั่งยืนเกิดขึ้นได้ โดยที่
- ส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่าง ภาค Health Care และ ภาคการท่องเที่ยวรวมถึงภาคส่วนอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับ Wellness Economy โดยตรง ให้เชื่อมโยงจากเมืองใหญ่ไปเมืองย่อย เพื่อให้เกิดการกระจายนักท่องเที่ยว และเกิด Supply Chain เชื่อมต่อกันระหว่าง Medical Tourism และ Wellness Tourism
- ส่งเสริมความมั่นคงทางการเงินให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มประชากรที่กำลังจะเป็นผู้สูงอายุในอนาคต เนื่องจากประชากรผู้สูงอายุเป็น Driving Force ที่สำคัญสำหรับWellness Economy
- สนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กในพื้นที่ และ Start up ด้าน Wellness โดยสนับสนุนด้านเงินทุน องค์ความรู้และปรับกฎระเบียบให้คล่องตัวมากขึ้น เพื่อให้ท้องที่ได้ดึงศักยภาพด้าน Wellness ออกมาอย่างเต็มที่
- สนับสนุนทักษะแรงงานและการเข้าถึงงาน ในภาคส่วน Wellness economy ให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ และการขยายการเติบโต
ในยุคอนาคตที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว Wellness Economy เป็นโอกาสสำหรับประเทศไทย ในการหยิบยกจุดเด่นด้านการท่องเที่ยวและด้านการแพทย์ที่เดิมกระจุกตัวอยู่ไม่กี่พื้นที่ มาขยายผลเชื่อมโยงและบูรณาการ เพื่อเพิ่มมูลค่าและกระจายผลประโยชน์ไปสู่สังคมอย่างถ้วนหน้า หน่วยงานภาครัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ต้องร่วมกันออกแบบนโยบายอย่างมองการณ์ไกลและรอบด้าน เพื่อให้ Wellness Economy เป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนสังคมถ้วนหน้าได้อย่างแท้จริง
Wellness Economy เศรษฐกิจแบบสบายๆ เครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่สไตล์ไทยๆ ที่จะหยุดการรวยกระจุก แต่มาเติบโตแบบกระจาย
อนาคตประเทศไทยต้องเริ่มเดินหน้าใหม่ และเราต้องเริ่มเดินแบบเติบโตไปด้วยกัน.
บทความโดย...
ประกาย ธีระวัฒนากุล
ไท วัฒนา
สถาบันอนาคตไทยศึกษา