ใครเจ๋งจริงในยูโร 2020
ยูโร 2020 มีผลการแข่งขันที่พลิกความคาดหมายหลายนัด แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่ต่างจากที่บรรดาคอบอลคาดกันไว้
ยูโรปีนี้แข่งกันดุเดือดสมราคา ทีมที่ถูกมองว่านอนมาหลายทีมหืดจับกว่าจะเข้ารอบได้ หากมองย้อนกลับไปตั้งแต่เริ่มการแข่งขันรอบนี้ เราได้เห็นผลการแข่งขันที่พลิกความคาดหมายหลายนัด มีทีมสมหวัง ทีมผิดหวัง แต่หากเราสวมแว่นของนักเศรษฐศาสตร์ เราจะไม่เอาการเข้ารอบตกรอบมาเป็นไม้บรรทัดวัดความสำเร็จ เพราะไม้บรรทัดแบบนี้มันเบี้ยวมาตั้งแต่เกิดแล้ว
สิ่งที่เราต้องพิจารณา คือ “ทุนเดิม” ของทีมเหล่านี้ ว่ามาจากประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจระดับไหน ลีกในประเทศเป็นอย่างไรแล้ว เราจะได้แว่นอันใหม่ที่ใช้ประเมินได้ว่าทีมจากประเทศไหนที่ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น ผู้เขียนขอสรุปข้อค้นพบจากการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ฟุตบอลที่พบว่าปัจจัย 5 อย่างที่มีผลต่อการความเก่งของทีมในแต่ละประเทศ คือ
- สมดุลของการแข่งขันของลีกในประเทศ หมายถึงความแตกต่างของคะแนนระหว่างทีมหัวตารางกับทีมท้ายตาราง หากทีมหัวตารางไม่กี่ทีมได้แต้มสูงกว่าทีมท้ายตารางเยอะ ลีกในประเทศจะไม่เข้มแข็งเท่ากับลีกของประเทศที่ทีมส่วนใหญ่มีฝีมือสูสีกัน เพราะเมื่อสูสีกันแต่ละทีมต้องหานักเตะฝีมือดีมาร่วมทีมให้มากขึ้น แม้จะเป็นนักเตะจากต่างชาติ แต่ยังช่วยให้คนในทีมที่เป็นในประเทศได้เรียนรู้จากคนเก่ง ช่วยยกระดับความเก่งของตัวเองให้สูงขึ้นตามไปด้วย
- ระดับรายได้ต่อหัวของประเทศ ยิ่งรายได้ต่อหัวของประเทศสูงขึ้น โอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการแข่งขันก็ยิ่งมีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์นี้เป็นจริงถึงระดับหนึ่งเท่านั้น เมื่อใดที่ระดับรายได้ต่อหัวสูงเกินกว่า 21,836 เหรียญสหรัฐต่อปีแล้ว ปัจจัยตัวนี้กลับจะส่งผลในทางลบ ทำให้โอกาสในการประสบความสำเร็จลดลง เนื่องจากคนที่มีรายได้สูงย่อมมีทางเลือกในการพักผ่อนหย่อนใจหลายทาง แทนที่จะเล่นฟุตบอล อาจไปเล่นเทนนิส กอล์ฟ หรือหันไปหากิจกรรมอื่นๆ แทนก็ได้
- ระดับอุณหภูมิที่สูงกว่าหรือต่ำว่าสิบสี่องศาเซลเซียส เมื่อพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างอุณหภูมิและคะแนนที่ได้จากการจัดอันดับของฟีฟ่าพบว่า ประเทศที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีสูงหรือต่ำกว่าสิบสี่องศามาก มีความสามารถตำกว่าประเทศที่มีอุณหภูมิใกล้เคียงกับสิบสี่องศา
- การเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ประเทศเคยเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกมีคะแนนจากการจัดอันดับสูงกว่าประเทศที่ไม่เคยมีโอกาสเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกเลย
- ประชากรและวัฒนธรรมแบบลาติน ลำพังการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรเพียงอย่างเดียว ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าคะแนนการจัดอันดับจะดีขึ้น สิ่งที่ต้องนำมาพิจารณาควบคู่กันไปคือวัฒนธรรมของประเทศนั้นว่ามีความสนใจฟุตบอลมากน้อยเพียงใด ซึ่งพบว่าจำนวนของประชากรและการมีประชากรที่มีวัฒนธรรมแบบลาตินอยู่ในประเทศมีผลต่อคะแนนในทางบวก ยิ่งประเทศมีประชากรกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นก็มีโอกาสมีนักบอลที่เก่งมากขึ้นตามไปด้วย
ถ้าเราจำกัดการประเมินไว้เฉพาะบอลยูโรปีนี้ ปัจจัยหลักที่จะทำให้เกิดความต่างได้ ก็คือ สมดุลของการแข่งขันของลีกในประเทศและระดับการพัฒนาของประเทศที่วัดจากรายได้ต่อหัว ผู้เขียนได้สร้างแบบจำลองทางสถิติที่ใช้ตัวแปรทั้งสองตัวนี้มาพยากรณ์คะแนนการแข่งขันที่แต่ละทีมควรจะได้ (แท่งสีส้ม) เทียบกับผลที่ได้จริง (แท่งสีน้ำเงิน) เส้นประสีดำแสดง % ของความต่างระหว่างคะแนนที่ทำได้จริงกับคะแนนที่ควรจะทำได้ เช่น อิตาลี ทำคะแนนได้จริง 9 คะแนนทั้งที่หากพิจารณาจากระดับความเข้มแข็งของลีกในประเทศและรายได้ต่อหัวแล้ว ควรจะได้แค่ 5.1 คะแนน เมื่อนำคะแนนที่ได้จริงเทียบกับคะแนนที่ควรจะเป็น เราจะเห็นว่าปีนี้อิตาลีมาแรงมาก ทำได้สูงกว่าที่ควรจะได้ถึงราว 75% ส่วนเยอรมันกับฝรั่งเศสที่เข้ารอบเหมือนกัน คะแนนที่ได้ต่ำกว่าที่ควรจะได้ทั้งคู่ อังกฤษที่มองกันว่าปืนฝืด หากใช้เกณฑ์นี้แล้วทำคะแนนได้ดีน่าชื่นใจอยู่เหมือนกัน
ถ้าดูข้อมูลจะเห็นว่าทีมที่ลูกผีลูกคนส่วนใหญ่ % จะมีค่าใกล้ศูนย์หรือติดลบ แต่ผลการวิเคราะห์นี้ไม่ได้บอกว่าทีมที่มี % ผลงานดีกว่าที่คาดไว้มากที่สุดจะได้แชมป์อย่างแน่นอน เพียงแต่การจะทำผลงานให้ได้เหนือว่าความคาดหมายได้เยอะต้องอาศัยความคงเส้นคงวาในการยกระดับการเล่นของตนเองให้เหนือกว่าเดิม คุณสมบัติข้อนี้มิใช่หรือที่เป็นคุณสมบัติสำคัญของคนที่คู่ควรจะเรียกตัวเองว่าแชมป์เปี้ยน
ผมขอส่งท้ายบทความนี้ด้วยคำคมจาก เจมส์ คอร์เบ็ตต์ นักมวยที่สามารถล้มจอห์น ซัลลิแวนด์ ได้สำเร็จ
“แชมป์เปี้ยนเป็นผลสะสมของการขึ้นสังเวียนทีละนัด ต่อให้เจอกับงานยากแค่ไหนก็ให้สู้สุดใจทุกครั้ง”