ปรัชญาพุทธ ต้านความกังวลในยุคโควิด-19
วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 สร้างปัญหาความวิตกกังวล และความเครียดด้วย ปัญหาในแง่จิตใจนี้ 'ปรัชญาพุทธ' ช่วยได้
ปรัชญาพุทธ มีองค์ความรู้ทางจิตวิทยาด้วย เน้นการฝึกความคิด จิตใจ พฤติกรรม หลีกเลี่ยง ลดความทุกข์ แสวงหาความสงบสุขทางด้านความคิด จิตใจ (ความทุกข์คือสภาพลำบากที่ทนได้ยาก ความไม่สบาย ทั้งทุกข์ทางกายและทางใจ) บางครั้งก็ใช้คำอธิบาย 3 ข้อ เพื่อให้จำง่ายว่า ทำดี หลีกเลี่ยงทำชั่ว ทำใจให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว
การที่คนจำนวนหนึ่งใช้วิธีการหลีกเลี่ยงความทุกข์ ด้วยการใช้ยาระงับประสาท เหล้า ยาเสพติด การหาความบันเทิง การสกัดกั้นไม่ยอมรับ หรือถ่ายโอนความผิดไปให้คนอื่น เป็นการหลีกเลี่ยงความทุกข์ได้ชั่วครั้งชั่วคราว เหมือนใช้ยาระงับการเจ็บปวด แต่ไม่ได้รักษาสาเหตุของโรคอย่างแท้จริง ดังนั้นถึงมักนำไปสู่ความทุกข์ยากยิ่งขึ้น
ปรัชญาพุทธเสนอว่า วิธีที่จะรับมือกับความทุกข์ได้ดีกว่าคือ เราต้องฝึกการคิดในเชิงยอมรับว่าความทุกข์ เช่น การแก่เฒ่า การเจ็บไข้ได้ป่วย ความตาย เป็นธรรมชาติส่วนหนึ่งของชีวิต หากเราได้ฝึกใคร่ครวญ ว่า ความทุกข์เป็นเรื่องที่มีโอกาสเกิดได้ ควบคู่ไปกับความสุข เวลาเกิดความทุกข์ จิตใจเราก็จะหวั่นไหวน้อยกว่า กลัวความทุกข์น้อยกว่า คนที่ไม่เข้าใจหลักของความจริงในชีวิต/ธรรมชาติ
คนที่คาดหมายด้านเดียวว่าชีวิตควรจะมีแต่ความสุข พอเกิดความทุกข์ หรือไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับคนทุกคน เมื่อเกิดขึ้นแล้ว เขาก็มักจะโวยวายรับไม่ได้ หาว่าโลกไม่ยุติธรรม หรือกล่าวโทษคนอื่นๆ แทนที่จะรู้จักการยอมรับ เผชิญหน้ากับความทุกข์และหาทางแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว
ทัศนะหรือท่าทีที่เรามีต่อความทุกข์ เป็นเรื่องสำคัญ เพราะมันจะส่งผลว่าเราจะต่อสู้กับความทุกข์ยากได้อย่างไร คนที่ทัศนะว่าความทุกข์เป็นธรรมชาติส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นการดำรงอยู่ที่เต็มไปด้วยความไม่รู้ และฝึกความอดทน อดกลั้น ต่อการเปลี่ยนแปลงไม่แน่นอนของชีวิตมากขึ้น ก็จะต้านทานและลดทอนความรู้สึกทุกข์ใจลงได้ดีกว่า คนที่มีทัศนะแบบมองด้านเดียวอย่างสุดขั้วว่าความทุกข์เป็นสิ่งไม่ดี เป็นโชคร้ายที่ไม่น่าเกิดขึ้นกับเขา
ปรัชญาพุทธมองว่ารากเหง้าของความทุกข์คือ ความไม่รู้ ความดิ้นรนทะยานอยาก และความโกรธเกลียด ซึ่งเป็นยาพิษในจิตใจ ความไม่รู้ ไม่ได้หมายถึงการขาดข้อมูลข่าวสาร แต่หมายถึง การมีความคิดเห็นผิดเพี้ยนคลาดเคลื่อนจากสภาพธรรมชาติที่แท้จริงของมนุษย์และปรากฏการณ์ทั้งหลาย
วิธีการขจัดความทุกข์ คือ การทำความเข้าใจธรรมชาติของสรรพสิ่งต่างๆ รวมทั้งชีวิตเราอย่างกระจ่างแจ้งว่า สังขารและสิ่งต่างๆ ไม่เที่ยงแท้ ย่อมเสื่อมสลายและดับไป การมีชีวิตอยู่ในแต่ละวัน มีทั้งสุขและทุกข์ ทุกข์เป็นเรื่องที่จะต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ที่เราต้องเรียนรู้จะอยู่ร่วมและรับมือกับความทุกข์เหล่านั้น
ขณะเดียวกันเราอาจต้องหมั่นฝึกจิต (ความคิดจิตใจ) เพื่อหาทางขจัดหรือลดความดิ้นรนทะยานอยาก และโกรธ เกลียด ซึ่งเป็นภาวะที่สร้างความทุกข์แก่จิต เพื่อฝึกจิตให้บริสุทธิ์ ให้เป็นอิสระจากทุกข์ หรือเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับทุกข์ได้อย่างเข้มแข็งด้วย
ในโลกยุคปัจจุบันนี้ คนร่ำรวย คนที่มีเทคโนโลยีและความสุขสบายมากขึ้น มีแนวโน้มที่ทุกข์ทางกายค่อยหดหายไป ทำให้พวกเขาเริ่มมองไม่เห็นว่าความทุกข์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์อีกต่อไป และไปมองว่าความทุกข์เป็นเรื่องผิดปกติของชีวิต ดังนั้นเมื่อเขาเกิดความทุกข์ขึ้นมา คนที่เคยแต่สุขสบาย หรือไม่ได้คิดว่าชีวิตคือการเปลี่ยนแปลงที่อาจมีทุกข์ได้ จึงทุกข์ทางใจรุนแรงกว่าคนยากจน และคนที่เคยมีประสบการณ์ผ่านทุกข์ยากมาแล้ว
คนบางคนสร้างทุกข์ให้ตัวเองเพิ่มขึ้น ด้วยการมองว่าตนเองเป็นเหยื่อของโลกที่ไม่ยุติธรรม และโทษผู้อื่นร่ำไป โดยไม่ได้คิดใคร่ครวญว่าอะไรที่เกิดขึ้นแล้วก็เป็นสิ่งที่ช่วยไม่ได้แล้ว สิ่งที่สำคัญคือตัวเราจะแก้ปัญหา แก้สถานการณ์ต่อไปอย่างไร ถ้าเป็นเรื่องที่อยู่เหนือการควบคุมทั้งที่เราพยายามทำให้ดีที่สุดแล้ว ก็จะต้องยอมรับว่าสภาพโลกที่เป็นจริงว่าเราจะอยู่ร่วมกับสถานการณ์นั้นต่อไปอย่างไร
ดาไลลามะ ผู้นำปรัชญาพุทธสายธิเบต อธิบายว่า เราอาจฝึกการเปลี่ยนมุมมองว่า ความทุกข์คือผู้มีบทบาทสำคัญ ในการทำให้เราฝึกความอดทน อดกลั้น มีความแข็งแกร่ง พอที่จะไปรับมือกับภาวะทุกข์ยากอื่นๆ ที่อาจหนักกว่านี้ได้ดีขึ้น นั่นก็คือ แม้แต่ความทุกข์ก็มีด้านดีในด้านการให้บทเรียนแก่เราที่จะฝึกความอดทน อดกลั้น หากเรารู้จักที่จะเรียนรู้จากมัน
คนเราเวลาโกรธ เกลียด หรือมีความทุกข์ ในขณะนั้นมักจะเห็นแต่ความทุกข์ของตัวเองด้านเดียว ไม่อยู่ในอารมณ์ที่จะคิดใคร่ครวญมองปัญหาทั้งสองด้านอย่างรอบคอบได้ ดังนั้นเราจึงต้องหัดฝึกจิตตัวเองไว้ล่วงหน้าให้มีความอดทนอดกลั้นและใจกว้างไว้เสมอๆ เมื่อเวลาเกิดทุกข์ขึ้นจริง จะได้มีภูมิต้านทานหรือเตือนสติตัวเองได้
ความรู้จักอดทน อดกลั้น ทำให้เรารักษาสติได้ แม้ต้องใช้ชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่วุ่นวายและเครียดมาก ตราบเท่าที่เรามีความอดทน อดกลั้น ย่อมไม่มีอะไรมารบกวนความสงบของจิตของเราได้
ความอ่อนน้อมถ่อมตนกับความอดทนอดกลั้น เป็นคุณสมบัติที่จะนำไปสู่ความสุข ความอ่อนน้อมถ่อมตน ต้องอาศัยความสามารถที่จะยืนหยัดเพื่อเผชิญแรงต้านทานที่มากกว่า คือทั้งๆ ที่เราสามารถโกรธ เกลียด แก้แค้นคนที่มาทำร้ายจิตใจเราได้ ถ้าเราอยากทำ แต่เราคือผู้เลือกที่จะไม่ทำอย่างนั้น นี่คือความอ่อนน้อมถ่อมตนที่แท้จริง
ความอดทนอดกลั้นที่แท้ ประกอบด้วยความมีวินัยในตัวเองและการรู้จักควบคุมระงับตนเอง ความสามารถของคนที่จะหนักแน่นมั่นคง ตอบโต้สถานการณ์ที่ยากลำบากด้วยความอดทนอดกลั้นและเมตตากรุณา แทนที่จะตอบโต้ด้วยความเกลียด ต้องอาศัยการข่มจิต ซึ่งการที่คนเราจะทำเช่นนั้นได้ ต้องเป็นคนที่หมั่นฝึกฝนจิตของตนมาอย่างดี การฝึกสมาธิและปฏิบัติธรรมวิธีต่างๆ มีประโยชน์ในแง่การฝึกฝนทางจิตใจ
ดาไลลามะ สรุปว่า วิธีขจัดความวิตกกังวล วิธีแรกคือการเตือนตัวเองว่า หากสถานการณ์มีทางแก้ไข ก็ไม่จำเป็นต้องวิตกกังวล หากไม่มีทางแก้จริงวิตกกังวลไปก็ไม่มีประโยชน์
วิธีที่สองคือ สร้างความมุ่งมั่นและกระตือรือร้นในการทำสิ่งที่เรามีเจตนาบริสุทธิ์ เปี่ยมไปด้วยความเมตตากรุณาที่มุ่งหวังประโยชน์สุขของส่วนรวม และทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ จะได้ผลมากน้อยแต่ไหนก็ไม่ต้องวิตกกังวล.
(วิทยากร เชียงกูล. ปรัชญาชีวิต แง่คิดและคำปลอบโยน. แสงดาว, 2562)