SMEs ไทยจะพลิกฟื้นโตยั่งยืนอย่างไร (ตอนที่ 2)
บทความนี้จะนำเสนอประสบการณ์จริงจากธุรกิจ SME ถึงการปรับตัวมุ่งสู่ธุรกิจสีเขียว อุปสรรคและความช่วยเหลือที่ต้องการจากภาครัฐ
ภาพรวมธุรกิจและการเงินสีเขียวเพิ่งออกสตาร์ท แต่มีเทรนด์เติบโต
ข้อมูลช่วง 10 ปี ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ชี้ว่า จำนวนบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจสีเขียว มีสัดส่วนน้อยเพียง 0.4% ของบริษัทจดทะเบียนนิติบุคคลทั้งหมด (ซึ่งไม่นับรวมธุรกิจโรงไฟฟ้า) มีจำนวน 12,322 บริษัท ในปี 2560 (เพิ่มขึ้นจาก 9,632 บริษัท ในปี 2550) ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมประหยัดพลังงาน (Energy Efficiency) เช่น ธุรกิจผลิตมอเตอร์ไฟฟ้า ธุรกิจรับติดตั้งฉนวนกันความร้อน เป็นต้น
พิจารณาด้านสินเชื่อสีเขียว พบว่า ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ค่อยๆ ขยายตัวต่อเนื่อง โดยในปี 2563 ไต่ระดับมาอยู่ที่ 2.5% ของสินเชื่อทั้งหมด ในส่วนนี้เป็นสินเชื่อกลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน (พลังน้ำ ลม ชีวภาพ ชีวมวล) จำนวน 2.8 แสนล้านบาท (หรือ 2% ณ ไตรมาส 3 ปี 2560) และปี 2564 ไทยมีโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนถึง 844 แห่ง เพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าจาก 357 แห่งในปี 2556 (ข้อมูลกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน)
ส่วนสินเชื่อสีเขียวเติบโตขึ้นเป็นลำดับ จาก 62,000 ล้านบาทในปี 2556 เพิ่มเป็น 90,000 ล้านบาทในปี 2563 สะท้อนว่า ผู้ประกอบการของไทยเริ่มปรับตัวตามโมเดลธุรกิจใหม่ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมทั้งภาคการธนาคารของไทยเริ่มตื่นตัวและสนับสนุนธุรกิจที่ใช้พลังงานทางเลือกเป็นพลังงานในการผลิต
อย่างไรก็ตาม ไทยยังไม่มีการกำหนดมาตรฐาน คำนิยามของกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไว้ชัดเจน เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน อาทิ พันธบัตรสีเขียว สินเชื่อสีเขียว และการลงทุนสีเขียว จะได้ถูกจัดสรรไปยังกิจกรรมที่ถูกต้อง ตลอดจนยังไม่มีข้อกำหนดในการเปิดเผยข้อมูลการทำธุรกิจสีเขียว
ประสบการณ์จริงของ SME ไทย: ปรับตัวให้รอดสู่เส้นทาง Green Recovery
SME ที่จัดอยู่กลุ่มธุรกิจสีเขียว เช่น ธุรกิจผลิตอาหาร ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับเกษตร และธุรกิจบริการ เช่น ธุรกิจที่ปรึกษาด้านพลังงานทดแทน และโรงแรม เกือบทุกธุรกิจ SME ที่ ธปท. ได้สัมภาษณ์ให้ความสำคัญกับการควบคุมต้นทุนการผลิตในระยะยาว (Cost reduction) มากกว่าแนวคิดเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยธุรกิจทั้งในภาคการผลิตและบริการต่างหันมาใช้ไฟฟ้าผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อให้มีอัตราผลตอบแทนภายใน (IRR) สูงขึ้นถึง 8-9%
หากวิเคราะห์โดยใช้กรอบการศึกษาของ OECD ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและผลประกอบการของ SME ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม พบว่าธุรกิจ SME ปรับตัวดังนี้
1) ด้านการตลาด (Market condition) ผู้ประกอบการ SME ได้ปรับตัวผลิตสินค้าตามความต้องการของลูกค้าและเทรนด์การตลาด (Demand driven) พยายามต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์และบริการด้วยงานวิจัย และการทำการตลาดและสร้างแบรนด์ของตนเอง เน้นผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์กลุ่มรักสุขภาพ สินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ลดการใช้สารเคมี หรือธุรกิจโรงแรมเชิงอนุรักษ์ที่เน้นลูกค้าต่างประเทศกลุ่มเฉพาะ
2) ด้านการเข้าถึงองค์ความรู้ (Access to Knowledge and Skill) ผู้ประกอบการ SME สามารถเข้าถึงแหล่งวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ง่ายขึ้นแม้อยู่ในภูมิภาค แต่ยังมีข้อจำกัดในการ scale up งานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ ขณะที่ธุรกิจ SME ยังต้องการแรงงานที่มีทักษะหลายอย่าง มีทัศนคติที่ดี และสนใจการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
3) ปัจจัยด้านสถาบันและกรอบกฎเกณฑ์ (Institutional and Regulatory Framework) ผู้ประกอบการ SME เห็นว่า ควรกำหนดกิจกรรมสีเขียวให้ชัดเจน และเชื่อมโยงให้สามารถเข้าถึงตลาดและแหล่งเงินทุนที่เหมาะสม โดยควรส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าถึงการรับรองมาตรฐานการผลิตและผลิตภัณฑ์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทั้งในระดับประเทศและสากล เช่น การผลิตตามมาตรฐาน ISO14000 และสินค้าฉลากเขียว (Green Label)
4) ด้านการเงิน (Access to Finance) ผู้ประกอบการ SME เห็นว่า ควรให้สินเชื่อสีเขียวเชื่อมโยงกับมาตรฐานการผลิตหรือมาตรฐานการรับรองผลิตภัณฑ์สีเขียว และควรมีนโยบายส่งเสริมธุรกิจ SME ให้ทำธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมผ่านการส่งเสริมด้านผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีต้นทุนที่เหมาะสม
ข้อจำกัดที่ SME ต้องเผชิญ และแนวทางสนับสนุนจากภาครัฐ
ถอดบทเรียนจากผู้ประกอบการ SME ต่างพบอุปสรรคและข้อจำกัดที่ไม่ต่างกัน เช่น ต้นทุนการลงทุนเครื่องจักรและวัตถุดิบที่ได้มาตรฐาน ต้องใช้เวลา มีค่าเสียโอกาสในช่วงการเปลี่ยนผ่าน (Transition) ยังสูง ต้องทุ่มเทเพื่อให้ได้ผลตอบแทนตามแผนธุรกิจ ทั้งในกรณีของการลงทุนพลังงานไฟฟ้าผลิตด้วยแสงอาทิตย์ และโรงไฟฟ้าชีวมวล หรือในกรณีเกษตรสีเขียว การปรับเปลี่ยนมาเป็นทำนาแบบเกษตรอินทรีย์ต้องใช้ระยะเวลานานถึง 4 ปี และต้องดูแลอย่างมาก
ยิ่งในสภาวะปัจจุบันที่ยังอยู่ในช่วงโควิด-19 และการแข่งขันที่มากขึ้น ธุรกิจ SME จำเป็นต้องเน้นทำกำไรระยะสั้น เน้นปริมาณการผลิตเพื่อสร้างกระแสเงินสดให้สามารถประคองธุรกิจให้อยู่รอดต่อไปได้ ซึ่งการเติบโตและความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวเป็นเรื่องรองลงมา
ผู้ประกอบการ SME สะท้อนความต้องการแรงสนับสนุนจากภาครัฐ ดังนี้
1) เร่งสร้างการตระหนักรู้และความเข้าใจแก่ธุรกิจและประชาชนผู้บริโภค ถึงผลกระทบจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อน
2) เตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งทักษะ ความรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมถึงการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตให้มีหน่วยงานรองรับ จะช่วยส่งเสริมความเชื่อมั่นผู้บริโภค รวมทั้งการเตรียมพร้อมทั้งบุคลากรและงานวิจัยให้แก่โครงการส่งเสริมที่ SME สามารถเข้าถึงได้ง่ายและทั่วถึง
(3) ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ธุรกิจ SME ในช่วงเปลี่ยนผ่าน เช่น การยื่นขอมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม ควรบริการแบบ “one stop services” ของภาครัฐ ที่มีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และลดความซ้ำซ้อนในการยืนยันตัวตนด้วยเอกสารกระดาษเพื่อช่วยลดต้นทุนทั้งเงินและเวลา
เป็นที่ยอมรับกันในระดับนานาชาติว่า การสร้างการเปลี่ยนผ่านสู่การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว (Green Development) จะเป็นทางออกของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน (Building Forward Better) ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกกลุ่มทั้ง รัฐ ธุรกิจเอกชน และการมีส่วนรวมของประชาชนและภาคประชาสังคมเพื่อให้บรรลุผลแบบมีส่วนร่วม สร้างความโปร่งใส และความเสมอภาคสู่ “New world landscape” ได้อย่างแท้จริง.
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
คณะผู้เขียน นายธีรพัฒน์ เขื่อนปัญญา
นางสาวรสสุคนธ์ ศึกษานภาพัฒน์
นางวรินธร ชัยวิวัธน์
ดร. เสาวณี จันทะพงษ์
ธนาคารแห่งประเทศไทย