ภาพเศรษฐกิจ & การลงทุน ครึ่งหลังปี 2021

ภาพเศรษฐกิจ & การลงทุน ครึ่งหลังปี 2021

เมื่อก้าวมาถึงกลางปี 2021 ได้เวลามาพิจารณาภาพเศรษฐกิจและการลงทุนของโลกสำหรับในช่วงครึ่งหลังปี 2021

หลังจากที่ผมเคยคาดการณ์เมื่อต้นปีนี้ ว่าตลาดของประเทศพัฒนาแล้วน่าจะดูดีกว่าตลาดเกิดใหม่ ในครึ่งแรกของปี 2021 ซึ่งก็เป็นจริงในเวลาต่อมา  

เริ่มจากการพิจารณาว่าภูมิภาคไหนน่าจะดี ผมมองว่าครึ่งหลังปี 2021 การขีดเส้นแบ่งระหว่าง ตลาดของประเทศพัฒนาแล้ว กับ ตลาดเกิดใหม่ ว่าอะไรจะดีหรือแย่กว่าแบบชัดเจน น่าจะทำได้ยากขึ้น โดยมองว่าช่วงเริ่มต้นของกลางปีนี้ น่าจะมีตลาดเกิดใหม่บางแห่งดูดีขึ้น

ทว่าด้วยแรงกระเพื่อมของธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดที่มีท่าทีจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายและการเริ่มต้นสงคราม Cyber War ของโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐต่อทางการจีน จะส่งผลให้ตลาดหุ้นโดยรวมๆแกว่งตัวในเชิงลบ และค่าเงินดอลลาร์น่าจะแข็งเป็นพักๆ ซึ่งจะเป็นผลเชิงลบต่อประเทศในตลาดเกิดใหม่ โดยหากพิจารณาเป็นรายภูมิภาคหลัก จะเป็นดังนี้

 

  • สหรัฐ มองว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะมีอัตราการเติบโตสูงสุด ในช่วงปลายปีนี้ โดยจีดีพีน่าจะเติบโตสูงสุดราวร้อยละ 6-7 รวมถึงอัตราเงินเฟ้อน่าจะขึ้นไปสูงกว่าร้อยละ 4 จากนั้น จีดีพีจะลดลงมาเหลือร้อยละ 3-4 ในปีหน้า

สำหรับเงินเฟ้อคาดว่าจะลดลงมาเหลือประมาณร้อยละ 2.5-3 ทั้งนี้ ความเสี่ยงของเศรษฐกิจสหรัฐแม้โอกาสจะไม่มากนัก ทว่ามีจุดอ่อนอยู่ตรงที่อัตราเงินเฟ้อไม่ลดลงอย่างที่คาด รวมถึงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงมากกว่าคาด จนกระทั่งเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยก็ทำไม่ได้เต็มมือนัก ซึ่งตรงนี้ จะทำให้ทั้งดัชนีตลาดหุ้นและตลาดบอนด์ย่ำแย่กันไป

 

อย่างไรก็ดี สำหรับกรณีฐาน ยังมองว่าเป็นสถานการณ์ที่เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวแบบ soft landing โดยที่อัตราเงินเฟ้อลดลงมาในระดับหนึ่ง นั่นคือเฟดสามารถค่อยๆลดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณและทยอยขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้ ทว่ามาถึงตรงนี้ เริ่มเห็นแววว่าอาจจะมีความเสี่ยงอยู่ไม่น้อย ว่าเอาเข้าจริงแล้ว ก็อาจจะไม่เป็นเช่นนี้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์เช่นกัน

 

นอกจากนี้ ตลาดจะสามารถจับจังหวะว่าเจย์ พาวเวล ประธานเฟด ว่าน่าจะประกาศลดปริมาณการซื้อพันธบัตรสำหรับมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณหรือ QE ใน

ช่วงปลายปีนี้ เนื่องจากเป็นช่วงของการสิ้นสุดของวาระแรกในฐานะประธานเฟดพอดิบพอดี ซึ่งประธานเฟดสองท่านก่อนหน้า ก็ได้กระทำในลักษณะเช่นนี้  

 

ทั้งหมดนี้ น่าจะทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐน่าจะพอไปได้อีกสักระยะ ทว่ายังมีโอกาสพอสมควรที่ได้รับผลกระทบเชิงลบจากความคาดหวังของเฟดต่อนโยบายการเงินสหรัฐที่ไม่ตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ มากบ้างน้อยบ้าง ผ่านช่วงสำคัญๆ อย่างเช่นหลังการประชุมเฟดครั้งต่างๆในบางจังหวะเวลา

 

  • ยุโรป - หลังการเปิดเมืองจากโควิดที่ชะลอลง กิจกรรมทางเศรษฐกิจของยุโรปจะค่อยๆ กลับมา รวมถึงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายค่อนข้างมากของธนาคารกลางยุโรป กับนโยบายการคลังจากกองทุน Next generation ของคณะกรรมการยุโรป มูลค่า5 แสนล้านยูโร ที่ถือว่าเป็นครั้งแรกของยุโรปที่ออกกองทุนในลักษณะนี้ น่าจะทำให้ตลาดหุ้นยุโรปที่มาได้ค่อนข้างดีในปีนี้ น่าจะยังพอจะไปต่อได้แบบเรื่อยๆ

 

อย่างไรก็ดี ช่วงปลายไตรมาส 3 ปีนี้ อาจจะต้องจับตาการเลือกตั้งผู้นำเยอรมันท่านใหม่ต่อจากอังเจล่า แมร์เคิล ว่าจะได้ผู้นำจากพรรค CDU ของแมร์เคิลหรือไม่ หากไม่ใช่ ก็น่าจะทำให้ความเป็นเอกภาพของสหภาพยุโรปอ่อนแอลง ซึ่งแน่นอนว่าน่าจะส่งผลเชิงลบต่อตลาดหุ้นของยุโรป

 

  • สำหรับตลาดหุ้นไทยนั้น มีโอกาสที่น่าจะประคองไปได้แม้จะไม่ได้ดีมาก ด้วยอานิสงส์ของการส่งออกที่ดีขึ้น จากการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ทว่าความเสี่ยงที่สูงขึ้นมากในบ้านเรา มาจากปัจจัยโควิดที่รุนแรงมากกว่าคาดรวมถึงปัจจัยด้านการเมืองในบางส่วน ทั้งนี้ การลงทุนในตลาดเกิดใหม่ในช่วงต่อไปนั้น ต้องระวังปัจจัยค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าจากนโยบายการเงินของเฟด ที่กำลังเปลี่ยนโทนให้เข้มข้นขึ้น รวมถึงการไม่ลงรอยกัน อาทิ ในประเด็น Cyber War และการแย่งชิงความเป็นผู้นำด้านดิจิตอลระหว่างรัฐบาลสหรัฐและจีนที่จะค่อยๆปรากฎชัดเจนมากและรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ

 

  • สำหรับด้านค่าเงินบาท ก็ยังน่าจะอ่อนค่าจนถึงปลายปีนี้ หรืออาจจะนานกว่านั้น ด้วยอัตราดอกเบี้ยบ้านเราที่ยังน่าจะต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆไปอีกพักใหญ่ รวมถึงความเชื่อมั่นจากต่างประเทศที่ค่อนข้างต่ำต่อการเจริญเติบโต ทางเศรษฐกิจในบ้านเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าหากประเด็นวิกฤตโควิดของไทยยังไม่สามารถจบได้แบบเบ็ดเสร็จในเร็วๆนี้.

 

หมายเหตุ: สนใจร่วมงานสัมมนา ‘มุมมอง Macro & การลงทุน ครึ่งหลังปี 2021 / 22’ แบบออนไลน์ ในวันที่ 14 สิงหาคม 2564 สามารถลงทะเบียนได้ทาง MacroViewBlog.com หรือ Mobile: 094-354-2002