วางแผนท่ามกลางโควิด
โควิด-19 สร้างความไม่แน่นอนให้เกิดขึ้น กระทั่งบางคนบอกว่าเลิกวางแผนดีกว่า แล้วลองทำนั่นทำนี่ตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นแบบรายวัน
เหมือนกับการที่คุณหมอท่านต้องรักษาคนป่วยไปตามอาการที่พบเจอ ซึ่งถ้ามียามีเครื่องมือเพียงพอ การว่ากันไปตามอาการคงไม่มีปัญหาอะไร แต่วันใดที่ทรัพยากรไม่เพียงพอที่จะหยิบใช้ได้ตามสถานการณ์ การวางแผนล่วงหน้าก็ยังช่วยได้ อย่างน้อยก็ในด้านกำลังใจในการทำงาน ที่คนทำงานรู้ว่าถ้าเกิดสถานการณ์นั้นขึ้นมา ได้มีการวางแผนจัดหาทรัพยากรมาแล้ว ถ้าต้องถูกสั่งให้หยุดกิจการ ก็วางแผนกันแล้วว่าระหว่างนั้นจะทำอย่างไรกันบ้าง ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นไปตามแผนทั้งหมด แต่ก็ยังช่วยให้คนพอจะหวังได้กับอนาคต แม้จะไม่ใช่อนาคตยืดยาวยี่สิบปีเหมือนกับแผนของใครบางคน
ในยามที่เผชิญหน้ากับวิกฤติที่มีความไม่แน่นอนที่คุกคามชีวิตทั้งปัจจุบันและอนาคต การมีความหวังเป็นความจำเป็นสำหรับความพยายามในการฝ่าฟันให้พ้นวิกฤตินั้นไปได้ หมดหวังท่ามกลางวิกฤติเหมือนกับหยุดว่ายน้ำเมื่อเรือล่มกลางทะเล
สมาคมนักบัญชีและการเงินที่สหรัฐอเมริกา ออกคำแนะนำในการวางแผนสำหรับวิสาหกิจขนาดเล็กในช่วงที่บ้านเขายังไม่มีวัคซีนในต้นปีที่แล้ว ซึ่งตอนนั้นไม่ต่างจากบ้านเราในตอนนี้ คือมองไปข้างหน้าไม่เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์
เขาแนะนำว่าให้พยายามวางแผนไว้ก่อน แต่อย่าไปวางแผนระยะยาว ให้ดูไปสักหกเดือนถึงปีสองปีเป็นอย่างมาก โดยใช้แนวทาง ABC คือ assess-build-communicate ซึ่งไม่ได้มีขั้นตอนซับซ้อนจนยากต่อการนำไปใช้งานในยามนี้
เริ่มจากการประเมินสถานการณ์ปัจจุบัน ถ้าเริ่มด้วยการมองไปรอบตัวเหมือนกับที่ทำกันในการวางแผนในภาวะปกติต้องหูตากว้างขวางหน่อย เพราะข้อมูลข่าวสารมีมากมายเหลือเกิน เป็นบิ๊กดาต้าจริงๆ คือมาเร็ว มาเยอะ มาแบบหลากหลาย และบางอย่างก็จริง บางอย่างก็ไม่จริง ตอนนี้หาข้อมูลอ้างอิงที่ใช้ในการประเมินสถานการณ์รอบตัวได้ยากยิ่ง
ข้อมูลแม้กระทั่งจากแหล่งที่ควรจะเชื่อถือได้มีแนวโน้มเป็นการให้ข้อมูลเชิงตอบโต้กับคนเห็นต่าง มากกว่าจะเน้นการบ่งบอกสถานการณ์ที่เป็นจริง ซึ่งพอจะเข้าใจได้ว่าใครกำลังพยายามทำให้เกิดอะไรอยู่ ย่อมอยากบอกกล่าวข้อมูลสารสนเทศที่ชวนให้เชื่อว่าทุกอย่างกำลังจะเป็นไปตามนั้น
ดังนั้น การประเมินสถานการณ์ให้เน้นการมองตนเองให้มากกว่าการมองไปรอบๆตัว ประเมินว่าถ้าไม่มีรายได้ใหม่ ๆเข้ามา ฉันมีเงินอยู่ได้นานแค่ไหน ถ้าต้องขยับกิจการไปทำอย่างอื่น ฉันทำอะไรได้บ้าง ดูให้ชัด ๆว่าศักยภาพของเราเป็นอย่างไร ก่อนจะคิดว่าจะว่ายน้ำไปทางไหน ดูก่อนว่าเรี่ยวแรงของเรามีอยู่แค่ไหน
ขั้นที่สองคือ สร้างแผน ซึ่งแต่ก่อนเราก็มาดูกันว่าโอกาสอยู่ที่ไหน ใช้ความเก่งอะไรของเราไปทำได้บ้าง ตรงไหนเป็นการคุกคามจุดที่เราไม่เก่ง ซึ่งวันนี้บอกชัด ๆทำนองนั้นไม่ได้ บ้านเมืองที่เคยเป็นแชมป์ในปีที่แล้ว กลายเป็นทีมตกรอบแรก ย่ำแย่ติดอันดับต้น ๆของโลกไปได้แล้ว
การสร้างแผนตอนนี้จึงต้องใช้วิธีสุมหัวคิดจากหลากหลายความเชื่อ แต่ก่อนไม่ค่อยจะใช้กันเพราะไม่มั่นใจในความถูกต้องและน่าเชื่อถือของวิธีการนี้ ซึ่งผู้นำต้องเก่งพอที่จะประมวลได้ว่าท่ามกลางสารพัดความคิดนั้น อะไรบ้างที่จะพอทำได้ และทำให้อยู่รอดได้ จะเริ่มอะไรใหม่ ๆก็พอจะมีศักยภาพจริง ๆที่จะไปได้
ถ้าสุมหัวกันคิดอย่างแท้จริง จะพอเห็นว่าทางไหนพอไปได้ ทางไหนเป็นทางตัน คนนั้นเสนอ คนนี้เห็นจุดอ่อน อีกคนเห็นโอกาส ในขณะที่อีกคนหนึ่งกลับเห็นการคุกคาม สุมหัวคิดใช้หลายสิบหัวคิดปุจฉาวิสัชนากันในเวลาที่ยาวนานพอสมควรจนได้หนทางที่ไปกำหนดแผนขึ้นมาได้
ขั้นที่สามคือ ใช้แผนนั้นในการสื่อสารให้คนที่เกี่ยวข้องเกิดความหวังว่ายังมีทางรอด อย่าบอกแค่ว่าจะให้ทำอะไร แต่ให้บอกด้วยว่าถ้าทำตามนั้นแล้ว อะไรจะดีขึ้นบ้าง สั่งให้ทำแต่ไม่บอกว่าทำแล้วจะรอดได้อย่างไร ไม่ต่างไปจากการไม่มีแผนในยามวิกฤติ คือสิ้นหวังเหมือนกัน