เมื่อ EIA ไม่ได้รับความไว้วางใจ ก็ต้องใช้ SEA แทน (ตอนที่ ๕)
บทความ SEA ตอนนี้จะเกี่ยวข้องกับหน่วยงานของรัฐโดยตรง โดยเราจะอธิบายให้เห็นว่า SEA นี้ควรเป็นงานของภาครัฐทำเอง หรือควรใช้บริการจากคนนอก
บทความโดย...
ศ.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ขวัญชนก ศักดิ์โฆษิต สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร
หน่วยงานใดของรัฐที่ควรต้องทำ SEA
อย่างที่กล่าวมาตั้งแต่ ๔ ตอนที่แล้ว (ผู้สนใจอาจค้นหารายละเอียดได้ในชื่อบทความเดียวกันนี้) ว่าการทำ SEA มีทั้งในระดับ P1(Policy), P2(Plan), P3(Programme) ของพื้นที่ (ซึ่งรวมตั้งแต่ระดับประเทศ ไปจนถึงภาค เขต และท้องถิ่น) และในรายสาขาของการพัฒนา (เช่น พลังงาน การท่องเที่ยว การเหมืองแร่ การคมนาคมขนส่ง ฯลฯ) การที่จะบ่งบอกว่าใครควรต้องทำอะไรในระดับใด จึงต้องพิจารณาจากบริบทข้างล่างนี้
ถ้าเป็นนโยบาย (P1) และแผน (P2) หรือแม้กระทั่งแผนงาน (P3) ในภาพรวมของประเทศหรือของภาค ก็ต้องเป็นงานของหน่วยงานในระดับประเทศ ซึ่งหนีไม่พ้นที่จะเป็นสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แต่ถ้าเป็นรายสาขาของการพัฒนา SEA นั้นก็ควรต้องเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสาขานั้นโดยตรง เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานดูเรื่องพลังงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดูเรื่องการเกษตร กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดูเรื่องการนำแร่มาใช้ประโยชน์ ดังนี้ เป็นต้น
ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่า คนที่ทำ SEA เชิงพื้นที่ต้องเอาประเด็น SEA ของรายสาขามาพิจารณาร่วมด้วย และคนที่ทำ SEA รายสาขาอาจต้องทำ P1, P2, P3 ลงในระดับพื้นที่ด้วยเช่นกัน
หน่วยงานของรัฐควรทำ SEA เอง หรือจ้างคนนอกทำให้
ก่อนอื่น คงต้องทวนความจำกลับไปยังยุคที่บริษัทที่ปรึกษาในประเทศยังไม่มีหรือมีไม่มากนัก รัฐจึงจำเป็นอยู่เองที่ต้องทำการศึกษาและกำหนดนโยบายหรือแผนขององค์กรและ/หรือของประเทศด้วยตัวเอง สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นตัวอย่างที่ดีที่ได้พัฒนาองค์กรจนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายและแผนการพัฒนาประเทศมาอย่างยาวนาน และความเชี่ยวชาญนั้นก็ทำให้สภาพัฒน์ฯ สามารถยืนอยู่บนขาของตัวเองได้อย่างดีเยี่ยมมากระทั่งถึงวันนี้ วันที่มีบริษัทที่ปรึกษาเกิดขึ้นมากมายมาพร้อมให้บริการ
และก็เช่นเดียวกัน ในยุคเดิมนั้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตจะดำเนินโครงการการสร้างเขื่อนเอง กรมทางหลวงคุมงานก่อสร้างถนนหลวงเอง กรมโยธาธิการออกแบบและคุมงานก่อสร้างอาคารเอง หรือแม้กระทั่งทำระบบบำบัดน้ำเสียของเมืองเอง ก่อสร้างหลุมขยะอย่างถูกหลักวิชาการเอง ฯลฯ นั่นคือ ความเป็นผู้เชี่ยวชาญของงานนั้นจะอยู่ในองค์กร และทำได้เองในแทบทุกขั้นตอนโดยไม่ต้องพึ่งคนนอกแต่อย่างใด
มาถึงยุคปัจจุบัน การใช้บริการของบริษัทที่ปรึกษามาช่วยงานองค์กรของรัฐมีมากขึ้น จนกลายเป็นแนวปฏิบัติปกติของหน่วยราชการบางแห่ง แต่เราอยากชวนให้ลองวิเคราะห์ว่าการทำ SEA ซึ่งเป็นการกำหนดทิศทางและอนาคตของประเทศซึ่งสำคัญมากนั้น ควรจะอยู่ในมือของใคร ของหน่วยงานผู้รับผิดชอบ หรือขององค์กรภายนอก
เรามีความคิดเห็นส่วนตนว่า งาน SEA ควรเป็นหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ ซึ่งก็แน่นอนละที่จะมีหน่วยงานรัฐบางแห่งที่ลังเลจะรับภาระนั้นไปด้วยเหตุที่ว่าขาดทั้งกำลังคนและงบประมาณ ในขณะที่บริษัทที่ปรึกษาเองก็ยังมะงุมมะงาหราในเรื่อง SEA อยู่นี้นั้น องค์กรของรัฐอาจจ้างบริษัทที่ปรึกษาและ/หรือผู้เชี่ยวชาญ/ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นรายบุคคลใน ๓ สาขา (สิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐศาสตร์) มาทำงานให้กับองค์กร แบบเดียวกับที่เคยจ้างที่ปรึกษาชาวต่างชาติ โดยอาจเป็นโครงการระยะสั้นๆ ทำงานเฉพาะเรื่อง มีเวลากำหนดและขอบเขตงานชัดเจน เช่น จัดหา รวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้นให้ แล้วองค์กรรัฐก็นำข้อสรุปที่มาจากต่างสาขาเหล่านั้นมาบูรณาการและวิเคราะห์ในภาพรวมเป็น P1, P2 และ P3 ต่อไปด้วยตนเอง
ด้วยวิธีนี้องค์กรของรัฐก็สามารถเดินหน้าฝึกปรือด้านการทำ SEA ไปโดยไม่มีปัญหากำลังคน และแถมด้วยงบประมาณที่น้อยลง รวมทั้งคล่องตัวในการดำเนินงานมากขึ้น ทั้งนี้เรามีข้อคิดเกี่ยวกับข้อดีและข้อเสียของการที่รัฐจะทำ SEA เอง ด้วยวิธีจ้างบริษัทที่ปรึกษาและ/หรือผู้เชี่ยวชาญรายบุคคลมาทำงานสนับสนุนองค์กรแบบเฉพาะกิจนี้ ดังแสดงในตารางที่ ๑ โดยมีข้อสังเกตเพิ่มเติมด้วยว่า องค์กรชั้นนำจะไม่ outsource หรือ contract out งานที่เป็นงานหลักขององค์กรโดยเด็ดขาด เพราะหากเอางานที่เป็นงานหลักขององค์กรไปใส่ในมือผู้อื่นจะกลายเป็นยืมจมูกคนอื่นหายใจ ซึ่งไม่น่าทำ ไม่พึงทำ
บทส่งท้าย
ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ก็ตาม แต่การลุกขึ้นมาทักท้วง ประท้วง ขัดขืน โต้แย้งโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ต่างๆ ของกลุ่มคนบางกลุ่มทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ แม้กระทั่งข้ามประเทศ จะเป็นชีวิตวิถีใหม่หรือ New Normal อย่างที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในโลกปัจจุบัน และตอนนี้มีเครื่องมืออยู่เครื่องมือเดียวที่โลกเชื่อกันว่าจะสามารถลดทอนปัญหานี้ได้ นั่นคือเครื่องมือ SEA นี้ หากรัฐหรือคณะรัฐมนตรีและ/หรือนักการเมืองยังมองไม่เห็นปัญหาและทางออกชุดนี้ อนาคตของประเทศ(ในความคิดเห็นของเรา)ก็อาจจะมืดมนลงไปกว่าที่ควรจะเป็น
แต่เราก็เชื่อว่าประเทศไทยไม่สิ้นคนดีมีปัญญา คนมีวิสัยทัศน์ คนที่มองการณ์ไกลออก และเขาเหล่านั้นจะมาช่วยนำพาประเทศเราให้ไปรอดด้วยเครื่องมือ SEA นี้
ขออย่างเดียว อย่าทำมันล้มคว่ำขะมำหงายจน SEA กลายเป็นเครื่องมือที่ไม่ได้รับการยอมรับแบบที่ EIA กำลังเผชิญอยู่ขณะนี้ก็แล้วกัน เพราะหากเป็นเช่นนั้นเราจะไม่มีเครื่องมืออื่นอีกแล้วที่จะมาช่วยในการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ให้เกิดขึ้นได้จริง.
(หมายเหตุ : บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับหน่วยงานแต่อย่างใด)