เช็คเลย หากเจ็บป่วยจาก COVID-19 ใช้สิทธิค่ารักษาอะไรได้บ้าง
สวัสดีครับท่านผู้อ่าน ช่วงนี้ในเช้าแต่ละวัน สิ่งที่พวกเรา จะได้เห็นกันเลยคือตัวเลขของผู้ติดเชื้อ Covid-19
ที่มีตัวเลขยังอยู่ในเกณฑ์ที่ยังสูงอยู่ ทำให้หลายๆท่านคนนอกจากจะเตรียมตัวป้องกันเป็นอย่างดีแล้ว ก็คงอดจะคิดถึงว่าหากเกิดสิ่งนี้กับเราจริงๆ เราจะเตรียมการค่าใช้จ่ายต่างๆได้อย่างไร และ สามารถมีอะไรบ้างที่เราสามารถเบิกค่ารักษาได้ วันนี้ผมมีผู้เชี่ยวชาญในด้านการวางแผนการเงินของบริษัท Wealth Creation International Co., Ltd. คุณปิติพงษ์ รุ่งเรืองวุฒิกุล CFP® ที่จะเขียนสรุปรวบรวม ในส่วนของสิทธิต่าง ที่เราๆ จะพึงมีในการช่วยเหลือค่ารักษา COVID-19 ไว้ที่นี่ โดยหวังว่า จะช่วยคลายความกังวลในค่ารักษา COVID-19 ไปได้
“สิทธิแรกที่เราทุกคนพึงมี ก็คือสิทธิ สปสช (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) เว้นเสียแต่ว่าผู้นั้นเป็นสมาชิค กองทุนประกันสังคม ก็จะได้รับสิทธิจาก ประกันสังคมแทน โดยทั้ง 2 สิทธิ ไม่ว่าจะเป็น จาก สปสช หรือ ประกันสังคม นั้นมีแนวทางในการช่วยเหลือ ผู้ป่วย COVID-19 ที่เหมือนกันคือ หากผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่เข้าร่วมกับทาง สปสช และ ประกันสังคม ทางผู้ป่วยจะไม่มีการถูกเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลใดๆ โดยทาง สปสช และ ประกันสังคมจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นให้แก่ผู้ป่วยเอง เว้นแต่ว่า หากผู้ป่วยมีความจำเป็นที่ต้องใช้รายการเวชภัณฑ์หรือ ยานอกรายการใดๆ เป็นพิเศษ ก็อาจจะมีค่าใช้จ่ายที่ทางโรงพยาบาลเรียกเก็บได้ (หากไม่ทราบว่าสิทธิ สปสช.ของตนเองอยู่ที่ไหน สามารถเช็คได้ที่ https://eservices.nhso.go.th/eServices/mobile/login.xhtml)
แต่ทั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในขณะนี้นั้นมีความรุนแรงค่อนข้างมาก ทำให้ อัตราการครองเตียงในโรงพยาบาลค่อนข้างสูง ทำให้ การให้ผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ที่บ้าน (Home Isolation) ถูกนำมาใช้ สำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการรุนแรงมากนัก โดยที่ทางผู้ป่วย จะได้รับการประเมินอาการด้วยวีดิโอคอลวันละ 2 ครั้ง , อาหาร 3 มื้อต่อวัน, ปรอทวัดไข้, เครื่องวัดออซิเจนปลายนิ้ว พร้อมยาพื้นฐานและ การประสานส่งต่อเพื่อรับการรักษาหากอาการแย่ลง โดยที่ทั้งหมดนีจะไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เรียกเก็บกับผู้ป่วย
โดย หากเป็นผู้ป่วยที่อยู่ใน ระบบประกันสังคม สามารถติดต่อเพื่อให้ทางประกันสังคม ช่วยเหลือในการประสานงานหาเตียงได้ที่เบอร์ 1506 กด 6 และหากเป็นผู้ป่วยในระบบ สปสช สามารถ ติดต่อได้ที่เบอร์ 1330 กด 14
แต่หากผู้ป่วย ต้องการที่จะเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในระบบ ประกันสังคม และ สปสช นั้น ผู้ป่วย ก็สามารถใช้สิทธิของประกันสุขภาพกลุ่มของ บริษัท ที่ตนสังกัดอยู่ , ประกันสุขภาพส่วนบุคคล หรือประกันภัย COVID-19 มาช่วยเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาได้ โดยทาง คปภ. ได้ช่วยเหลือบรรเทา ภาระประชาชนโดย ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขในการ เบิกเคลมค่ารักษาพยาบาล เพิ่มเติมดังต่อไปนี้
อย่างแรกคือการ ปรับลดเวลารอคอย สำหรับการเคลมค่ารักษาพยาบาลจากการเจ็บป่วย จนต้องเข้ารับการรักษาจากโรค COVID-19 จาก 30 วันเหลือ 14 วัน หลังจากกรมธรรม์ได้รับการอนุมัติ สำหรับผู้ที่พึ่งทำประกันสุขภาพ นั่นหมายความว่า หากท่านเจ็บป่วยจนต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลด้วย โรค COVID-19 ภายหลังจากทำประกันสุขภาพได้ครบ 14 วันแล้วนั้น ทางผู้ป่วยก็จะสามารถดำเนินการเบิกเคลมค่ารักษาพยาบาลจากประกันได้
และเนื่องจากตอนนี้เตียงใน รพ. มีอัตราการรอคิวอยู่สูง ทางบริษัทประกัน จึง รอบรับไปถึง การรักษาแบบให้ผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ที่บ้าน (Home Isolation) หากมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการรักษาที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับ ยา หรือ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับ การ x-ray สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ แบบการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยนอกตามความจำเป็นทางการแพทย์และที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินผลประโยชน์ในกรมธรรม์
หลายคนคงมีคำถามว่า แล้วถ้าตนเองซื้อประกันแบบมีค่าชดเชยรายวัน แต่ไม่ได้นอน ที่รพ. จะยังสามารถเบิกเคลมได้หรือไม่ ซึ่ง ทางคปภ. ได้ออกมาประกาศให้ ผู้ป่วยที่ทำ Home Isolation หรือ Community Isolation ก็สามารถ เบิกเคลมค่าชดเชยรายวันได้เช่นกัน สูงสุด 14 วัน นับแต่วันที่มีความจำเป็นทางการแพทย์ที่ต้องรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในในสถานพยาบาล แต่ไม่มีสถานพยาบาลรองรับ โดยอ้างอิงการเบิกเคลมจากเอกสารใบรับรองแพทย์
ส่วนหากเรามีทำประกันไว้อยู่แล้วนั้น ประกันสุขภาพจะคุ้มครองการนอน รพ.ทุกกรณี เพราะในทางการประกันแล้ว Covid-19 ก็เปรียบเสมือนโรคหนึ่งโรค ที่บริษัทประกันต้องคุ้มครองเรื่องค่ารักษาพยาบาลอยู่แล้ว ทำให้ผู้ที่มีประกันสุขภาพส่วนตัวก็สามารถวางใจได้ว่าตนเองจะได้รับการคุ้มครองแน่นอน
และสุดท้ายในส่วนของประกันภัย COVID-19 แบบเจอจ่ายจบนั้น ทางคปภ.ได้ออกมาให้สามารถใช้ผลตรวจ RT-PCR จาก LAB ที่ได้รับการรองรับจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เท่านั้น มาใช้ประกอบการเคลมได้ครับ เพื่อช่วยประชาชนในการที่จะสามารถทราบผลและกักตัว รักษา เพื่อลดจำนวนการติดเชื้อให้ลดลงได้
สุดท้ายนี้ ผู้เขียนขอเป็นกำลังใจให้กับทุกท่าน และ เราจะผ่านช่วงเวลานี้ไปด้วยกันครับ