เหลียวหลังแลหน้าประเทศไทย
ทบทวนศักยภาพของไทย ชี้ให้เห็นถึงตำแหน่งแห่งที่ของไทย แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในด้านเศรษฐกิจสังคมและการเมือง ทั้งในบริบทโลกและในระดับชาติ
สวัสดีค่ะ มิตรรักนักอ่านทั้งหลาย วันนี้เป็นวาระดิถีอันดีที่เราจะเริ่มคอลัมน์ใหม่ชื่อ “ประเทศไทย iCare” ซึ่งส่วนหนึ่งของข้อมูลมาจากงานวิจัยที่ตรวจเช็คสุขภาพประเทศไทยหรือจะเรียกว่าทบทวนศักยภาพประเทศไทยก็ได้ เพื่อจะได้ช่วยกันมองภาพของอนาคตประเทศไทย ข้อมูลในบทความจะมาจากการวิจัยของสถาบันชื่อดังของประเทศอาทิเช่น สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) สถาบันพระปกเกล้า ราชบัณฑิตยสภา มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันคลังสมองของชาติ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) และงานวิจัยของแผนงานคนไทย 4.0
ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) การทบทวนศักยภาพของไทยนี้จะชี้ให้เห็นถึงตำแหน่งแห่งที่ของไทย แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในด้านเศรษฐกิจสังคมและการเมืองทั้งในบริบทโลกและในระดับชาติ เพื่อที่จะสามารถคาดการณ์อนาคตและเตรียมนโยบายรองรับได้ บทความเชิงวิชาการในชุดนี้มีทั้งสิ้นประมาณ 20 ตอน ขอเชิญชวนให้ผู้ที่สนใจตรวจเช็คสุขภาพประเทศไทยติดตามอย่างต่อเนื่องนะคะ
ท่านผู้อ่านคงจะจำได้ว่าในปี 2561 ประเทศไทยมีชื่อเสียงไปทั่วโลก เพราะคนทั้งโลกรวมทั้งคนไทยได้ร่วมกันลุ้นให้ทีมหมูป่าซึ่งติดอยู่ในถ้ำขุนน้ำนางนอนนานถึง 17 วันออกมาได้โดยสวัสดิภาพด้วยความช่วยเหลือของอาสาสมัครทั้งชาวไทยและต่างประเทศที่ร่วมมือกันอย่างสุดกำลัง
อาสาสมัครเหล่านี้มาจากหลากหลายอาชีพไม่ว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญอย่างหน่วยซีลหรือประชาชนคนธรรมดา ต่างก็ช่วยกันคนละไม้ละมือเท่าที่จะทำได้ เช่น คนเก็บรังนกไปช่วยปีนเขาสำรวจทางเข้าถ้ำ นักสูบน้ำบาดาลไปช่วยสูบน้ำออกจากถ้ำ คนมีมอเตอร์ไซค์ไปช่วยรับส่งอาสาสมัครโดยไม่คิดจ้าง ร้านซักเสื้อผ้าไปช่วยซักเสื้อผ้าให้อาสาสมัครกู้ชีพ และหมอนวดไทยไปนวดเท้าให้ผู้ที่ตรากตรำทำงานเป็นต้น
ทีมเยาวชนหมูป่าที่ติดอยู่ในถ้ำก็แสดงถึงคุณลักษณะที่สำคัญของเด็กรุ่นใหม่ในอุดมคติเช่น มีความอดทน รู้จักรอคอย
มีสมาธิ มีวินัย มีสติ และมีความเสียสละ
อนาคตของประเทศที่มีมนุษย์ที่มีศักยภาพขนาดนี้น่าจะไม่ธรรมดาใช่ไหมคะ? ชุดบทความนี้จะค่อยๆ คลี่ศักยภาพของประเทศไทยในมิติต่างๆ มาให้ร่วมกันพิจารณา
ทีนี้เราลองมาดูตำแหน่งแห่งที่ของประเทศไทยในบริบทโลกก่อน เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการคาดการณ์อนาคตของประเทศไทยต่อไป ด้วยขนาดพื้นที่และประชากรประเทศไทยจัดว่าเป็นประเทศขนาดกลาง ไทยมีประชากรประมาณ 69 ล้านคน ในปี 2563 ซึ่งมีขนาดประชากรใกล้เคียงกับฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักร
ถ้าพูดถึงขนาดเศรษฐกิจที่วัดจาก GDP ที่ปรับอำนาจการซื้อแล้ว เราอยู่ในลำดับที่ 22 ของโลก (จากทั้งหมด 194 ประเทศ) เป็นรองแค่อินโดนีเซียหากเทียบกับในบรรดาประเทศอาเซียน แต่หากมองไปในอนาคต ตำแหน่งของไทยในบริบทเศรษฐกิจโลกจะเป็นอย่างไร
บริษัทที่ปรึกษา PricewaterhouseCoopers (PwC 2017) ได้คาดการณ์ถึงตำแหน่งประเทศผู้นำเศรษฐกิจโลก 20 ประเทศ จากบรรดา 114 ประเทศ โดยเปรียบเทียบกับตำแหน่งในปีฐานเมื่อปี 2559 ไว้ว่า ไทยอยู่ในลำดับที่ 20 อินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในอาเซียนอยู่ในลำดับที่ 18 ส่วนมาเลเซียอยู่ในลำดับที่ 27 ฟิลิปปินส์ลำดับที่ 28 และเวียดนามอยู่ในลำดับที่ 32 การคาดการณ์นี้ พิจารณาปัจจัย 6 ปัจจัย ได้แก่ อัตราการเพิ่มประชากร อัตราการเพิ่ม GDP อัตราการเพิ่มของการลงทุน การศึกษา หนี้สาธารณะ และการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์
การศึกษาของ PwC ระบุว่า จีนจะแซงหน้าสหรัฐอเมริกาไปเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก และต่อเนื่องจนถึงปี 2593 และแม้แต่อินเดียก็จะก้าวแซงสหรัฐอเมริกา ส่วนเวียดนามและฟิลิปปินส์จะก้าวแซงไทยในปี 2593 ประเทศไทยจะตกจากลำดับที่ 20 เป็นลำดับที่ 22 ในปี 2573 และร่วงลงไปอีกเป็นลำดับที่ 25 ในปี 2593
เป็นที่น่าเสียดายที่ PwC ไม่มีคำอธิบายสำหรับประเทศตำแหน่งท้ายๆ เป็นพิเศษ แต่จากการพิจารณาปัจจัยที่ใช้ในการพยากรณ์จะเห็นได้ชัดว่าไทยมีความเสียเปรียบด้านจำนวนและโครงสร้างประชากรที่มีสัดส่วนผู้สูงวัยมากกว่าชาติอื่นๆ ในอาเซียน ในปัจจุบันเวียดนาม มีประชากร 98 ล้านคน ฟิลิปปินส์มีประชากรกว่า 100 ล้านคน อินโดนีเซียมีประชากรกว่า 276 ล้านคน ล้วนมีแรงงานในวัยหนุ่มสาวเป็นสัดส่วนสูงกว่าไทยทำให้มีต้นทุนแรงงานต่ำกว่าไทย
ท่านผู้อ่านคงสงสัยว่า ทำไมประเทศไทย ซึ่งเคยได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในบูรพาพยัคฆ์ทั้ง 4 ตามหลังญี่ปุ่น เกาหลีถึงถดถอยลงได้ขนาดนี้
นอกจากปัญหาโครงสร้างประชากรดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ประเทศไทยได้ขาดการลงทุนขนาดใหญ่ในภาครัฐมานานแล้วหลังจากการพัฒนา Eastern Seaboard ในรอบแรกได้สิ้นสุดลง แนวโน้มการลงทุนในประเทศไทยของนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนไทยก็ไม่ดีนัก สะท้อนภาพอนาคตของไทยที่คาดการณ์โดยภาคเอกชนและแสดงถึงความเชื่อมั่นในศักยภาพ
การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยในอนาคต
การลงทุนที่ต่ำจะทำให้อัตราการเจริญเติบโตในระยะยาวของไทยอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องไปอีก การทบทวนข้อมูลการลงทุนของ KKP Research พบว่า นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2556-2562 ได้ถอนทุนออกไปรวมทั้งสิ้น 8 แสนล้านบาท
ด้านมูลค่าการลงทุนก็ปรากฏว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมายังไทยซึ่งเคยสูงถึง 10.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ระหว่างช่วงปี 2549-2553 ลดลงมากกว่าร้อยละ 30 ในปี 2559-2562 หมายความว่า ทุนต่างชาติไม่ได้แค่ขาดความมั่นใจในตลาดหุ้นซึ่งเป็นการลงทุนระยะสั้นเท่านั้น แต่ยังได้ทยอยถอนตัวจากการเลือกไทยให้เป็นฐานการผลิตโลกในระยะยาวอีกด้วย แม้แต่การลงทุนภายในประเทศของบริษัทของไทยเองก็อยู่ในระดับต่ำมาอย่างต่อเนื่อง
ในขณะที่บริษัทของไทยจำนวนมากขึ้นเลือกที่จะไปลงทุนในต่างประเทศมากกว่าขยายการลงทุนภายในประเทศ และขณะนี้ก็มีสัญญาณอ่อนๆ ว่าคนรุ่นใหม่อยากจะย้ายประเทศอีกด้วย
สาเหตุที่การลงทุนภายในประเทศไม่เป็นที่นิยมเพราะว่า เมื่อเทียบผลตอบแทนการลงทุนแล้ว ความคุ้มค่าของการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านดีกว่าลงทุนในประเทศไทย ประกอบกับประเทศเหล่านั้นต่างก็มีอัตราการเจริญเติบโตที่สูงกว่าไทยทั้งนั้น ตลาดในประเทศเราจึงเป็นตลาดที่เติบโตช้ากว่า อีกทั้งสินค้าและบริการก็ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลกซึ่งกำลังเปลี่ยนไป
ถึงอย่างนั้นประเทศไทยก็ยังขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยอุตสาหกรรมกลุ่มเดิมๆ ใช้เทคโนโลยีแบบเก่าไม่สามารถแข่งขันได้แม้แต่กับประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน (KKP Research กรกฎาคม 2020)
การวิเคราะห์เชิงคุณภาพเกี่ยวกับปัจจัยแห่งความสำเร็จของนานาชาติโดยใช้ข้อมูลวิวัฒนาการทางเศรษฐกิจของนักวิชาการหลายยุคหลายสมัยพบว่า ตัวช่วยที่สร้างความสำเร็จอาจจะเป็นที่ตั้ง ภูมิอากาศ วัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติ และเศรษฐกิจเสรี แต่ดูเหมือนจะไม่มีสูตรสำเร็จสู่การพัฒนาไปสู่ความมั่งคั่ง ที่น่าสนใจก็คือในหนังสือเรื่อง Why Nations Fail อันโด่งดังของ Acemoglu และ Robinson ยืนยันว่าประเทศที่ล้มเหลวคือประเทศที่ใช้นโยบายที่ขูดรีดและกีดกั้น (Extractive policy) ที่สร้างความได้เปรียบให้กับกลุ่มผู้ครองอำนาจและกีดกันประชาชนจากการมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมือง!!!
พบกันครั้งต่อไป มาดูกันว่าตำแหน่งแห่งที่ในด้านอื่นๆ ของประเทศไทยเป็นอย่างไร