ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับ Favipiravir
ประเทศไทยตื่นตัวเกี่ยวกับยา Favipiravir ของบริษัท Fujifilm ของญี่ปุ่นอย่างมาก และดูเหมือนว่าจะเป็นยาหลักในการใช้รักษา COVID-19
นอกจากประเทศไทยแล้ว Favipiravir ยังได้รับการขึ้นทะเบียนฉุกเฉินเพื่อใช้ในการรักษา COVID-19 ในอีกหลายประเทศ เช่น จีน อินโดนีเซีย มาเลเซียและรัสเซีย แต่ Favipiravir ยังไม่ได้รับการอนุมัติให้ใช้รักษา COVID-19 ในประเทศญี่ปุ่น
Favipiravir ไม่ใช่ยาใหม่ แต่เป็นยาที่ถูกพัฒนาขึ้นมาและได้ปรับการอนุมัติให้ขึ้นทะเบียนเป็นกรณีพิเศษเมื่อปี 2014 ให้เป็นยาเพื่อรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ (influenza) ที่เป็นสายพันธุ์ใหม่หรือเป็นสายพันธุ์ที่ดื้อยาที่มีใช้อยู่ในประเทศญี่ปุ่น
โดยย้ำว่าเป็นยาที่ได้รับอนุมัติให้ใช้อย่างเฉพาะเจาะจงซึ่งผมเข้าใจว่าสาเหตุของการจำกัดการใช้คือข้อสังเกตสำคัญของกระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่นเกี่ยวกับผลกระทบข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ เพราะพบว่า Favipiravir นั้นทำให้ทารกที่คลอดออกมามีภาวะผิดปกติได้ (ซึ่งเป็นผลการวิจัยในสัตว์) ที่เรียกว่า teratogenicity
ต่อมาในต้นปี 2020 เมื่อ COVID-19 ระบาดอย่างรุนแรงและกว้างขวางทั่วโลกก็มีกระแสในประเทศญี่ปุ่นจากฝ่ายการเมืองที่ผลักดันให้กระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่นเร่งอนุมัติการใช้ Favipiravir เป็นยารักษา COVID-19 โดยอดีตนายกรัฐมนตรีอาเบะได้เคยเรียกร้องให้มีการอนุมัติใช้รักษา COVID-19 ได้ภายในเดือนพฤษภาคม 2020 การทำวิจัยเพื่อพิสูจน์ประสิทธิผลของ Favipiravir ล่าช้า แต่ก็สามารถนำส่งผลการวิจัยเมื่อเดือนตุลาคม 2020 อย่างไรก็ดีในวันที่ 22 ธันวาคม 2020
อย่างไรก็ดีคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญที่ประเมินงานวิจัยของ Fujifilm มีมติชะลอการอนุมัติการใช้ Favipiravir เพื่อรักษา COVID-19 ออกไปก่อนเพราะผลงานวิจัย “มีข้อมูลไม่เพียงพอให้สามารถมีข้อสรุป” ทำให้ราคาหุ้นของ Fujifilm ปรับลดลงไป 4% ในวันดังกล่าว
ประเด็นที่คณะกรรมการมีข้อกังวลมากที่สุดคือกระบวนการทำวิจัยที่เป็น “Single Blinded” กล่าวคือเฉพาะคนไข้เท่านั้นที่ไม่ทราบว่าตัวเองกินยาจริงหรือยาปลอม (placebo) แต่มาตรฐานสากลของงานวิจัยประเภทนี้คือ Double-Blinded กล่าวคือทั้งคนไข้และแพทย์ผู้ให้การรักษาจะต้องไม่รู้ว่าใครได้ยาจริงใครได้ยาปลอม
ส่วนผลของงานวิจัยนั้นปรากฏว่าจากจำนวนคนไข้ที่เป็น COVID-19 ทั้งสิ้น 156 คนที่ไม่ได้ป่วยหนัก (ไม่ได้มีการปอดบวมรุนแรง) นั้น คนที่กินยา Favipiravir รักษาให้อาหารดีขึ้นภายในเวลาเฉลี่ย 11.9 วัน เมื่อเทียบกับคนไข้ที่กินยาปลอมที่อาการดีขึ้นภายในเวลาเฉลี่ย 14.7 วัน
ในที่สุดบริษัท Fujifilm จึงยอมที่จะเริ่มทำการวิจัยรอบใหม่ประเภท Double-Blinded ในประเทศญี่ปุ่นเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาโดยคาดว่าผลเบื้องต้นจะมีขึ้นในเดือนตุลาคม 2021 นอกจากนั้นก็ยังมีงานวิจัยที่กำลังดำเนินอยู่ ณ ขณะนี้ที่ประเทศอเมริกาโดยพันธมิตรของบริษัท Fujifilm ที่แคนาดาคือบริษัท Appili Therapeutics โดยเดิมทีคาดการณ์ว่าจะได้สรุปผลของงานวิจัยที่สหรัฐในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แต่ต่อมา Appili ประกาศที่จะขยายงานวิจัยออกไปอีกให้รวมถึงคนไข้ที่ประเทศเม็กซิโกและประเทศบราซิลทำให้ต้องรอผลงานวิจัยต่อไปอีก
ทั้งนี้งานวิจัยดังกล่าวคาดหวังว่า Favipiravir จะเป็นยาที่สามารถนำไปใช้รักษา COVID-19 ที่บ้าน (ไม่ต้องเข้าโรงพยาบาล) ในกรณีที่ป่วยเล็กน้อยหรือไม่ป่วยมาก (home-based treatment for patients with mild-to –moderate COVID-19) อนึ่งงานวิจัยที่สหรัฐนั้นมีคนไข้ในโครงการดังกล่าวมากกว่า 730 คน ทำให้ผมมีคำถามในใจว่าทำไมจึงจำเป็นต้องขยายงานวิจัยต่อไปอีกให้รวมถึงคนไข้ในประเทศบราซิลและเม็กซิโก
นอกจากนั้นก็ยังมีข้อมูลเพิ่มเติมอีกด้วยว่าบริษัทที่เป็นพันธมิตรของ Fujifilm อีกบริษัทหนึ่งคือ Dr. Reddy’s Laboratories ของประเทศอินเดียประกาศยุติการทำการวิจัยแบบ Double-Blinded ที่ประเทศคูเวตเมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งใช้ข้อมูลจากคนไข้ 353 คนที่มีอาการป่วยปานกลางและป่วยหนักเพราะผลการวิจัยเบื้องต้น (interim analysis) พบว่ายา Favipiravir ไม่ได้ช่วยลดอาการป่วยจากอาการขาดออกซิเจนในเลือด (hypoxia resolution)
เรื่อง Favipiravir นี้เป็น “เรื่องใหญ่” ที่ประเทศญี่ปุ่น จนกระทั่งมีการเขียนบทความลงในวารสารทางวิชาการเพื่อวิเคราะห์กระแสทางการเมืองที่ต้องการให้ฝ่ายสาธารณสุขเร่งอนุมัติการใช้ยา Favipiravir แม้ว่าหลักฐานทางการแพทย์ยังมีไม่เพียงพอ เช่นบทความ “Japan’s Drug Regulation During the Covid-19 Pandemic: Lessons From a Case Study of Favipiravir” ลงในวารสาร Clinical Pharmacology and Therapeutics 21 April 2021 โดยกล่าวว่าเป็น “the balance between social pressure for rapid drug development and time-consuming scientific evaluation of drugs become a major social issue”
ดังนั้น ณ วันนี้จึงมียาเพียง 3 ชนิดที่รัฐบาลญี่ปุ่นอนุมัติให้ใช้ในการรักษา COVID-19 คือ Remdesivir Dexamethasone (ยาสเตอรอยด์) ที่ใช้ในการรักษาโรคไขข้อและโรคภูมิแพ้รุนแรง) และ Baricitinib ซึ่งก็เป็นยารักษาไขข้ออักเสบรูมาตอยด์ที่มีการใช้ร่วมกับ Remdesivir เพื่อช่วยลดระยะเวลาในการฟื้นตัวของผู้ที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลด้วย COVID-19
ผมขอทิ้งท้ายด้วยงานวิจัยประเภท Meta-study ที่รวบรวมงานวิจัยต่างๆ เกี่ยวกับประสิทธิผลของ Favipiravir ถึงปลายปีที่แล้วที่ถูกนำมาวิเคราะห์และตีพิมพ์ลงในวารสาร Scientific Reports เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2021 ชื่อ “The Efficacy and Safety of Favipiravir in Treatment of COVID-19: a systematic review and meta-analysis of clinical trials” ที่ได้นำเอางานวิจัย 9 ชิ้น (คนไข้ 827 คน) มาวิเคราะห์และมีข้อสรุปดังนี้
1.กลุ่มที่ได้รับยา Favipiravir สามารถฟื้นตัวจากการได้รับการรักษาในโรงพยาบาลในช่วง 7 วันแรกได้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับยาอย่างมีนัยสำคัญในเชิงสถิติ
2.ปริมาณของไวรัสในผู้ที่ได้รับยา Favipiravir มีน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้รับยาหลังจาก 14 วันของการรับการรักษา แต่ความแตกต่างไม่ได้มีความสำคัญในเชิงสถิติ (กล่าวคืออาจเป็นเหตุบังเอิญก็ได้)
3.ในกรณีที่ป่วยหนักต้องใช้เครื่องช่วยหายใจหรือเสียชีวิตนั้น การกินยา Favipiravir หรือไม่กินไม่ได้ให้ผลที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ (ช่วยให้รอดชีวิตเพิ่มขึ้นประมาณ 7%)
4.นักวิจัยสรุปว่าควรรีบให้คนไข้ได้รับยา Favipiravir โดยเร็วก่อนที่อาการป่วยจะปรากฏ.