ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก RSI 1ใน3ดัชนีสำคัญของธปท.ประเม

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก RSI  1ใน3ดัชนีสำคัญของธปท.ประเม

การติดตามภาวะเศรษฐกิจจำเป็นต้องใช้ข้อมูลที่หลากหลายและรอบด้าน โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูง

การติดตามข้อมูลสถิติในระดับมหภาคเพียงอย่างเดียว อาจไม่สามารถจับชีพจรและแนวโน้มเศรษฐกิจได้อย่างทันท่วงที เนื่องจากการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นทางการมีความล่าช้า หรือมีลักษณะเป็น Lagging indicator อีกทั้งยังสะท้อนเพียงภาพรวมของระบบเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงพัฒนาเครื่องชี้วัดการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจได้รวดเร็วและครอบคลุม และหนึ่งในดัชนีที่สำคัญก็คือ ดัชนีความเชื่อมั่น” ซึ่งเป็นการสำรวจความเห็นของผู้ประกอบการเกี่ยวกับภาวะธุรกิจทั้งในปัจจุบันและคาดการณ์แนวโน้มในระยะข้างหน้า เพื่อสะท้อนมุมมองด้านต่าง ๆ

BSI, RMSI และ RSI “3 ดัชนีความเชื่อมั่น” เครื่องมือสำคัญ ธปท.

ดัชนีความเชื่อมั่น (Sentiment Index) เป็นเครื่องชี้เชิงปริมาณที่ช่วยชี้วัดความรู้สึกของผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับภาวะธุรกิจในด้านต่าง ๆ ผ่านการตอบแบบสำรวจ โดยมีคุณสมบัติเป็นข้อมูลเร็วแบบล่วงหน้า (Leading Indicator) และช่วยเสริมภาพความเป็นไปของเศรษฐกิจไทยให้ชัดเจนขึ้น โดย ธปท. จะมีการสำรวจความเชื่อมั่นไปยังกลุ่มผู้ประกอบการ หรือผู้เชี่ยวชาญตามเป้าหมายของดัชนีนั้น ๆเป็นรายเดือน เพื่อให้ช่วยประเมินภาวะและแนวโน้มการดำเนินธุรกิจในมิติต่าง ๆ เปรียบเทียบกับเดือนก่อน (Month-on-Month : MoM) แล้วจึงนำข้อมูลเหล่านี้มาประมวลผลเป็นข้อมูลเชิงปริมาณในรูปแบบดัชนีการกระจาย หรือ Diffusion Index ที่มีค่าอยู่ระหว่าง 0-100

สำหรับการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของ ธปท.ประกอบด้วย

  1. ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ Business Sentiment Index (BSI)
  2. ดัชนีความเชื่อมั่นครัวเรือนฐานราก Relationship Manager Sentiment Index (RMSI)
  3. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก หรือ Retailer Sentiment Index (RSI)

ทั้งนี้ ธปท. ได้นำทั้ง 3 ดัชนีนี้ไปประมวลร่วมกับข้อมูลสถิติและข้อมูลเชิงคุณภาพจากแหล่งอื่น ๆ เพื่อเสริมภาพการวิเคราะห์เศรษฐกิจให้รวดเร็วและรอบด้านยิ่งขึ้น และใช้ประกอบการตัดสินนโยบายการเงินของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และนโยบายด้านอื่น ๆ ของ ธปท.

ดัชนี BSI เป็นดัชนีความเชื่อมั่นแรกของ ธปท. ที่จัดทำตั้งแต่ ปี 2547 มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคธุรกิจผ่านแบบสอบถาม ที่ส่งถึงหัวหน้าฝ่ายการเงินหรือบัญชีในแต่ละธุรกิจ โดยกลุ่มตัวอย่างกระจายตัวอยู่ในภาคการผลิต ภาคการค้า และภาคบริการ ในสัดส่วนที่สอดคล้องกับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย แบบสอบถามมี 6 องค์ประกอบ ได้แก่ ปริมาณการผลิต คำสั่งซื้อ การลงทุน ต้นทุนการผลิต ผลประกอบการ และ การจ้างงาน อย่างไรก็ตาม ดัชนี BSI มีข้อจำกัดในด้านการสะท้อนภาพความเชื่อมั่นของธุรกิจในเชิงพื้นที่ หรือกลุ่มบริษัทขนาดเล็กได้ไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากการกระจายกลุ่มตัวอย่างอ้างอิงตามสัดส่วนของโครงสร้างเศรษฐกิจจริง ทำให้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ และกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เช่น กรุงเทพฯ และ ปริมณฑล เป็นต้น

ดัชนี RMSI เป็นการประเมินความเชื่อมั่นของครัวเรือนฐานรากทั้งในเขตชนบท และเขตเมือง (Rural and Urban Areas) ในมิติของภาวะความเป็นอยู่ ผ่านการตอบแบบสำรวจของผู้จัดการสาขาของ ธ.ก.ส. และธนาคารออมสินทั่วประเทศ ซึ่งเปรียบเสมือนตัวแทนที่เข้าใจและใกล้ชิดครัวเรือนฐานรากเป็นอย่างดี นอกจากนี้ แบบสำรวจ RMSI ยังมีคำถามเกี่ยวกับภาวะหนี้สิน และความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนเพื่อให้สะท้อนภาพความเป็นอยู่ของครัวเรือนฐานรากได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก (RSI : Retail Sentiment Index)

ดัชนี RSI เป็นดัชนีล่าสุดที่ ธปท.ร่วมกับสมาคมผู้ค้าปลีกไทย จัดทำขึ้นเมื่อเดือน ม.ค.2563 เป็นต้นมา เป็นรายงานดัชนีประจำเดือน โดยมีผู้ร่วมตอบแบบสอบถาม ประกอบด้วย ร้านค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคและร้านอาหารทั่วประเทศซึ่งมีช่องทางจำหน่ายรวมกันกว่า 23,000 แห่ง และร้านค้าปลีกบริการภัตตาคารร้านอาหารที่มีช่องทางบริการกว่า 4,000 แห่ง เพื่อติดตามกำลังซื้อและสะท้อนการบริโภคของภาคครัวเรือนผ่านมุมมองของผู้ขายสินค้าอุปโภคบริโภคของผู้ประกอบการค้าปลีกทั่วประเทศ ครอบคลุมส่วนแบ่งตลาดค้าปลีกและบริการกว่า 40% แบบสอบถามความเชื่อมั่น ธปท. จะส่งผ่านไปยังสมาคมฯ และกระจายสู่สมาชิกสมาคมฯ และภาคีเครือข่ายค้าปลีกทั่วประเทศ การสำรวจจะสอบถามภาวะธุรกิจในปัจจุบันและแนวโน้มในอีก 3 เดือนข้างหน้า รวมถึงยอดขายยอดใช้จ่ายต่อใบเสร็จและความถี่ในการใช้บริการของลูกค้า เพื่อประเมินพฤติกรรมและกำลังซื้อของผู้บริโภคผ่านมุมมองของเจ้าของธุรกิจค้าปลีก ที่เห็นข้อมูลการซื้อขายจริงและเข้าใจลูกค้าของตนเป็นอย่างดี ซึ่งจะช่วยสอบทานและคาดการณ์การขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนได้เป็นอย่างดีและทันกาล

นับตั้งแต่มีการจัดทำดัชนี พบว่าการเปลี่ยนแปลงของดัชนี RSI ค่อนข้างสอดคล้องกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ของหมวดการค้ารวมและหมวดขายปลีกในแต่ละเดือน จึงสามารถใช้เป็นข้อมูลเร็วทดแทนข้อมูลจริงที่ล่าช้า 1-2 เดือนได้ และเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายภาครัฐให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงการบริโภคในอนาคตอันใกล้โดยทันกาลและเป็นปัจจุบันที่สุด

การพัฒนาต่อยอดในอนาคต

  ดัชนี RSI ในอนาคตหากมีข้อมูลที่ยาวเพียงพอที่จะทดสอบทางสถิติ จะสามารถพัฒนาเป็น leading indicator เพื่อคาดการณ์ภาระหนี้และความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนฐานราก รวมถึงการบริโภคของครัวเรือนฐานรากและในภาพรวมได้ ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาเรื่องความล่าช้าของข้อมูลทางการที่มีอยู่ในปัจจุบัน และปรับปรุงลดข้อจำกัดที่ประเมินความเชื่อมั่นทางอ้อมผ่านคนกลางเป็นประเมิน โดยกลุ่มเป้าหมายโดยตรง เมื่อการเข้าถึงเทคโนโลยีและความรู้ความเข้าใจของภาคประชาชนนั้นเพียงพอ สำหรับการตอบแบบสอบถามได้อย่างเหมาะสม

(เรียบเรียงจาก ดัชนีความเชื่อมั่น (Sentiment Indices) ของ ธปท. โดย ณัฐอร เบญจปฐมรงค์ ณัคนางค์ กุลนาถศิริ และ ชนา กีรติยุตวงศ์ FOCUSED AND QUICK (FAQ) Issue 189 ธนาคารแห่งประเทศไทย)