นวัตกรรมสู่ Inclusive Economy
ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ข่าวใหญ่ที่ทำให้วงการสตาร์ทอัพในอาเซียนกลับมาคึกคักอีกครั้งก็คือการขายหุ้น IPO กว่า 1.5 พันล้านเหรียญของ Bukalapak
Bukalapak บริษัทอีคอมเมิร์ซที่ทำลายสถิติ IPO มูลค่าสูงสุดของตลาดหุ้นอินโดนีเซีย จากสตาร์ทอัพด้านอีคอมเมิร์ซที่เริ่มต้นธุรกิจเมื่อ 10 ปีก่อนด้วยวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นที่จะทำให้เกิด “Fair economy for all” นั่นคือการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดความทั่วถึงและความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจของคนทุกระดับชั้นของสังคม
เป้าหมายที่ Bukalapak ได้ทำสำเร็จในวันนี้นอกเหนือจากการเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชั้นนำของประเทศ ก็คือการทำให้กลุ่มร้านค้าขนาดเล็กเช่นร้านค้าในชุมชน ร้านโชวห่วยธุรกิจครอบครัว ร้านค้าที่ไม่มีสาขา สามารถเข้าถึงช่องถึงช่องทางการขายออนไลน์และยังเปิดโอกาสให้กลุ่มลูกค้าในชุมชนที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางอินเทอร์เน็ต สามารถสั่งสินค้าจากเว็บไซต์ของ Bukalapak ได้ผ่านทางหน้าร้านของร้านค้าเครือข่ายที่เรียกว่า Mitra Bukalapak โดยลูกค้าสามารถไปรับสินค้าได้ที่หน้าร้านเมื่อของถูกจัดส่ง
ภายใต้สถานการณ์โควิดของปีที่ผ่านมา ยอดขายที่มาจาก Mitra Bukalapak เติบโตขึ้นกว่าเท่าตัวและมีสัดส่วนถึง 15% ของรายได้รวมทั้งหมด นี่เป็นข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนว่าการใช้โมเดล online to offline ทำให้อีคอมเมิร์ซสามารถเข้าถึงกลุ่มคนได้ทั่วถึงและหลากหลายมากขึ้น
นวัตกรรมทางการเงินสำหรับกลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าถึงบัญชีเงินฝากและธุรกรรมทางการเงินก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่สตาร์ทอัพและบริษัทขนาดใหญ่ต่างเร่งขยับตัว ในอาเซียนมีประชาชนอีกกว่า 290 ล้านคนที่ยังไม่มีบัญชีเงินฝากกับธนาคารและไม่สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินได้ ในขณะที่ฝั่งประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา ก็ยังมีประชาชนกว่า 22% ที่ไม่สามารถเข้าถึงการทำธุรกรรมทางการเงินกับธนาคาร และคนกลุ่มนี้ต้องใช้เงินกว่า 10% ของรายได้ไปกับการทำธุรกรรมการเงินนอกระบบซึ่งมีต้นทุนสูงกว่าธนาคาร
ธุรกิจค้าปลีก อีคอมเมิร์ซ และเพย์เมนท์ อย่าง Amazon, Walmart, Paypal, Mastercard ต่างก็เร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำและช่วยให้กลุ่มลูกค้าที่เป็น “Underserved Consumer” ได้มีโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างเท่าเทียมบนต้นทุนที่ต่ำกว่าการทำธุรกรรมทางการเงินนอกระบบ
คำว่า “Inclusive Economy” หรือเศรษฐกิจของความมีส่วนร่วมและลดความเหลื่อมล้ำ กำลังเป็นคำที่ถูกพูดถึงกันมากทั่วโลก ในทศวรรษที่ผ่านมาการเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศเดินสวนทางกับการเติบโตในมิติอื่นๆของสังคม สภาวะ “รวยกระจุก จนกระจาย” นำไปสู่ปัญหาสังคมที่ตามมามากมาย ปัญหาคนจนเมืองที่ชัดเจนขึ้นในสถานการณ์โควิด ความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่จริงเหล่านี้ทำให้ทุกภาคส่วนต้องหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ทำให้เกิดการสร้างโอกาสอย่างเสมอภาคและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
เทคโนโลยีและนวัตกรรมคือกลไกสำคัญที่จะเชื่อมต่อกลุ่มคนที่ด้อยโอกาสกับผลิตภัณฑ์และบริการที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต การเติบโตขององค์กรธุรกิจในทศวรรษจากนี้ไปต้องเน้นการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม (Inclusive Growth) โดยนำเอาเทคโนโลยีนวัตกรรมมาเป็นตัวขับเคลื่อนทำให้เกิดการแบ่งปันผลประโยชน์และสร้างโอกาสให้เกิดขึ้นอย่างเท่าเทียม.