อยู่อย่างสุขใจในยุค Now Normal
วันที่เขียนนี้ ประเทศไทยกำลังปั่นป่วนจากโควิด-19 ที่คนไข้เพิ่มในจำนวนหลักหมื่นทุกวัน และมีจำนวนผู้เสียชีวิตเกินกว่าร้อยคน
ทีมแพทย์และพยาบาลต่างต้องทำงานอย่างหนัก
เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับทีมแพทย์พยาบาล เราทุกคน จึงจำเป็นเหลือเกินที่จะต้องทำร่างกายให้แข็งแรงและปลอดจากเชื้อ โดยเฉพาะเมื่อการติดเชื้อส่วนใหญ่มาจากคนในครอบครัว แล้วพื้นที่เล็กๆ อย่างคอนโดที่มีจำนวนถึง 54% ของที่อยู่อาศัยทั้งหมดในกรุงเทพฯ (ข้อมูล ณ ปี 2563) การปกป้องครอบครัวจึงต้องเพิ่มความระมัดระวังอย่างมาก โดยต้องเข้มตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า เพราะคนมักจะระมัดระวังเพียงมือ ตา ผิวสัมผัส แต่เชื้อที่อยู่ตามพื้นก็สำคัญมากเช่นกัน มีการค้นพบว่า พยาบาลที่แอลกอฮอล์สเปรย์เท้าอยู่เสมอ อยู่รอดปลอดภัยจากโควิดได้ ในขณะที่เพื่อนๆ ไม่สามารถ เมื่อกลับถึงบ้าน จึงควรสเปรย์เท้าก่อนอื่นใด ละการสวมกอดหรือสัมผัสคนในครอบครัว สังเกตุพฤติกรรมส่วนตัวว่ามีสิ่งใดที่จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เพราะเราอยู่กับโควิดมานานจนพอจะเข้าใจในเชื้อนี้ รีบทำความสะอาดร่างกาย เปลี่ยนเสื้อผ้าที่สะอาด แยกอุปกรณ์การดำเนินชีวิตออกจากกัน แม้ช้อนกลางก็ควรต้องมีส่วนตัว แยกมุมทานอาหาร และสวมหน้ากากเมื่อต้องอยู่ใกล้กัน การเปิดหน้าต่างให้อากาศได้ถ่ายเท (Ventilation) ตลอดเวลา ก็ช่วยลดการติดเชื้อได้มาก
วางแผนการอยู่อาศัยใน Next Normal
เมื่อชีวิตถูกปรับเปลี่ยนโดยอัตโนมัติ จากสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การออกแบบที่อยู่อาศัยในอนาคตให้ Smart และปลอดภัย จึงเป็นโจทย์ที่ผู้ประกอบการต้องรีบค้นคว้า โดยมองเทรนด์ในอนาคตอันใกล้ แต่สามารถปรับเปลี่ยนได้ในระยะยาว เพราะทุกอย่างจะถูก disrupt อย่างรวดเร็ว
อุปกรณ์ Smart Residence เป็นสิ่งจำเป็น
ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยทั่วโลกและไทยต่างเริ่มให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาใช้ปรับปรุงที่พักอาศัยให้เป็นรูปแบบบ้านอัจฉริยะมากขึ้น พบว่าทั่วโลกมีการใช้อุปกรณ์ที่เป็น Smart Residence เพิ่มขึ้นเท่าตัวใน 3 ปี ส่วนในไทยก็มุ่งใช้เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตรับเทรนด์ผู้สูงอายุ โดยบริษัท เมสเซ่ แฟรงก์เฟิร์ตนิว เอร่า บิซิเนส มีเดีย จำกัด ศึกษาตลาด Smart Residence ในไทย พบว่า ผลิตภัณฑ์ Smart Home ในปี 2559 มีมูลค่า 645 ล้านบาท และเพิ่มมากกว่าเท่าตัวในปี 2563 โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 2,500 ล้านบาท หรือเติบโตเฉลี่ย 40% ต่อปี โดยแบ่งเป็นผลิตภัณฑ์ Smart Residence เพื่อการดูแลผู้สูงอายุที่เติบโตสูงสุดถึง 60% และผลิตภัณฑ์ Smart Home เพื่อการรักษาความปลอดภัยที่เติบโตเป็นอันดับสองคือ 45% ต่อปี
3 ปัจจัยสำคัญในการออกแบบ
เพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนทั่วโลกที่เชื่อมต่อเป็นหนึ่งเดียว (Globalization) และส่งผลกระทบต่อกัน ภายใต้วิถีชีวิตปกติใหม่ (New Normal) ซึ่งกลายเป็นวิถีชีวิตในปัจจุบัน (Now Normal) การพัฒนาการออกแบบที่อยู่อาศัยจึงต้องคำนึงถึง 3 ปัจจัยหลัก ประกอบด้วย
1.การออกแบบพื้นที่ใช้สอยและวัสดุที่ยืดหยุ่นได้ (Multifunctional Space & Material) สามารถปรับเปลี่ยนให้รับกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปได้ทันที เช่น ปรับเปลี่ยนผนังให้เปิดเชื่อมพื้นที่โดยการใช้บานเลื่อนหรือบานเฟี้ยม ทำให้ที่อยู่อาศัยดูโปร่ง และมีการไหลเวียนอากาศที่ดี
2.การออกแบบโดยให้ความสำคัญกับสุขอนามัย (Health & Wellness) ด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น ระบบปล่อยประจุบวกและลบ เพื่อช่วยลดไวรัสและแบคทีเรียภายในอากาศได้ถึง 99% ใช้วัสดุที่ทำความสะอาดได้ง่าย ออกแบบให้มีแสงธรรมชาติที่เหมาะสมกับการใช้งานในทุกพื้นที่ ใช้วัสดุที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพ เช่น สีทาบ้าน Low VOCs ซึ่งปล่อยสารอินทรีย์ระเหยง่ายที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพในระดับต่ำ หรือวัสดุลามิเนตที่ป้องกันแบคทีเรียและไวรัส
3.เทคโนโลยีเพื่อการอยู่อาศัย โดยการนำนวัตกรรม Internet of Things (IoTs) และอุปกรณ์อัจฉริยะเข้ามาเป็นส่วนสำคัญเพื่อการอยู่อาศัยที่สะดวกสบายและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น เช่น ระบบ Home Automation ที่เราเริ่มคุ้นเคย และผู้ประกอบการก็ได้ศึกษาและนำมาปรับใช้อย่างต่อเนื่อง
หนุนน้ำใจ ห่วงใยซึ่งกันและกัน สร้าง “สุข” ที่ยั่งยืน
เมื่อมองย้อนกลับไปในทุกวิกฤติการณ์ คนไทยสามารถร่วมกันฟันฝ่าและผ่านเหตุการณ์ต่างๆ มาได้ เพราะเรายังคงให้ความห่วงใย ดูแลซึ่งกันและกัน และลงมือทำทันทีในส่วนที่ตนกระทำได้ๆ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้นล้วนเกี่ยวพันกับผู้คนมากมาย ทั้งลูกค้า นิติบุคคลฯ เจ้าหน้าที่บริหารจัดการ งานช่าง รปภ. แม่บ้าน ซึ่งดูแลทั้งงานภายในบ้านและงานหลังบ้านให้ผู้อยู่อาศัยได้รับความสะดวกสบายและมีความสุขทุกครั้งที่ได้เอนกายในพื้นที่ของตน และพักผ่อนในพื้นที่ส่วนกลาง
กว่าจะมาเป็นโครงการพักอาศัยที่สมบูรณ์แบบเช่นนี้ ยังมีผู้ที่เกี่ยวข้องอีกมากมายที่ร่วมกันออกแบบและพัฒนา รวมถึงแรงงานก่อสร้าง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการร่วมก่อร่างสร้างโครงการ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในครอบครัวที่ต้องดูแล ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพใจ เติมกำลังกาย ให้แข็งแรง เติมกำลังใจ ให้มีเรี่ยวแรงร่วมฝ่าฟันกันไป ผมเชื่อมั่นเหลือเกินว่าการให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลในทุกแนวทาง จะช่วยนำพาให้ครอบครัว องค์กร ผู้ที่เกี่ยวข้อง สังคม และประเทศ ผ่านวิกฤตินี้ไปได้ด้วยความอุ่นใจครับ
สำหรับกลุ่มผู้ใช้แรงงาน เช่น แรงงานก่อสร้างทั้งคนไทยและต่างด้าวที่พลัดถิ่นมาหางานเพื่อดำรงชีพ รวมถึงแม่บ้านในแต่ละโครงการนั้นมีจำนวนมากเหลือเกิน เพียงแค่แรงงานต่างด้าวก็มีจำนวนมากถึง 8 หมื่นคนแล้ว (ข้อมูลจากกระทรวงแรงงาน) ถือเป็นผู้ด้อยโอกาสในสังคม วัคซีนคือความอุ่นใจ แม้จะมีความกังวลบ้างถึงผลข้างเคียง แต่เมื่อได้รับวัคซีนแล้ว ก็จะป้องกันความรุนแรงของโรค และทำให้ประเทศกลับมามีความสุขอีกครั้ง นอกจากช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยังถือเป็นการดูแลสังคมและประเทศทางอ้อมด้วย
อดทน ร่วมปกป้อง อยู่กับครอบครัวอย่างระมัดระวัง ดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท แล้วเราจะผ่านไปด้วยกันครับ