รับมือ‘สัญญาณตัวเลข’ พิษโควิดรุนแรงเกินคาด
มหันตภัยไวรัสโควิดที่คุกคามมวลมนุษยโลก และประเทศไทยกำลังเผชิญการระบาดหนักใน “ระลอก 4” จากสภาพซมพิษโควิด! มาร่วม 16-17 เดือน หรือกว่าปีครึ่ง
ในห้วงเวลานี้เป็นที่จับตาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ! ของไทยและภาคธุรกิจต่างๆ จะกลับสู่จุด “ต่ำสุด” อีกครั้งหรือไม่อย่างไร? เพราะหากพิจารณาจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ทยอยออกมาจากสำนักเศรษฐกิจ กูรูทางด้านเศรษฐศาสตร์ บรรดาองค์กรธุรกิจ “เรียลเซ็กเตอร์” ต่างๆ สะท้อนความหวั่นวิตกที่ไม่เกินจริง จากจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่พุ่งทำนิวไฮขึ้นทุกวัน บนความสับสนอลหม่านของการบริหารจัดการวัคซีน ส่งผลต่อความเชื่อมั่น และภาวะเศรษฐกิจ ที่ถอยดิ่งลง!!
การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและรุนแรงตั้งแต่ไตรมาส 2 จนถึงปัจจุบันต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์พื้นที่เสี่ยงสูงสุด 29 จังหวัด ล้วนเป็นจังหวัดเศรษฐกิจ มีผลกระทบต่อจีดีพีมากกว่า 70% เท่ากับเศรษฐกิจไทยเป็นอัมพาตไปแล้วครึ่งตัว จากธุรกรรมทางเศรษฐกิจที่ต้องหยุดชะงัก ล่าสุดประเมินกันว่า “เศรษฐกิจไทยจะติดลบเป็นปีที่ 2” ต่อเนื่องจากปี 2563 ที่ติดลบ 6.1% โดยมาตรการล็อกดาวน์น่าจะยืดเยื้อออกไปอีก แน่นอนว่าเท่ากับหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ขณะที่ การกระจายวัคซีนที่ยังคงล่าช้า สวนทางกับการระบาดอย่างรวดเร็วในภาคการผลิต และกระจายเป็นวงกว้าง ผู้ติดเชื้อใหม่ทะลุ 20,000 คนต่อวัน ซึ่งยังไม่ถึงระดับคาดการณ์กรณีเลวร้ายสุดที่มองกันถึงตัวเลขระดับ 30,000-40,000 คนต่อวัน หรือไปจนถึง 50,000 คนต่อวัน
สถานการณ์เวลานี้เป็นความท้าทายและความเสี่ยงของแผนเปิดประเทศภายใน 120 วัน ราวกลางเดือน ต.ค.ยังมองไม่เห็นแสงสว่าง อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยที่เป็นฟันเฟืองสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยหากไม่สามารถไต่ระดับการฟื้นตัวได้ตามเป้าหมาย แน่นอนว่า “อำนาจซื้อ” จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะมาร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยคงยังไม่สามารถตั้งความหวังได้มากนัก ขณะที่การบริโภคภายในประเทศยังอ่อนแอ และเปราะบาง เพราะไม่มั่นใจต่อสถานะความเป็นอยู่ อาชีพการงาน รายได้ ที่มีแนวโน้มการปิดกิจการ และ “เลิกจ้าง” อยู่ไม่น้อยทีเดียว โดยที่ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินการขยายล็อกดาวน์ออกไป 29 จังหวัด เป็นเวลา 2 เดือน ก.ค.และ ส.ค. กระทบเศรษฐกิจถึง 5 แสนล้านบาท
ขณะที่ ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นค้าปลีกเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา โดยสมาคมผู้ค้าปลีกไทย สะท้อนอุตสาหกรรมค้าปลีกไทย มูลค่า 4 ล้านล้านบาท สะท้อนตรงถึงสภาวะความเป็นอยู่ของประชาชนจากกำลังซื้อ หรือ เม็ดเงินจากประชาชนที่สะพัดออกสู่ท้องตลาดจริงผ่านการจับจ่ายสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน สินค้าและบริการต่างๆ ซึ่งภาคค้าปลีกในฐานะหนึ่งกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจนั้น พบว่าอยู่ในสถานการณ์วิกฤติหนัก!
ดัชนีความเชื่อมั่นเดือน ก.ค. 2564 ดิ่งลงจุดต่ำสุด ในรอบ 16 เดือน ติดลบมากถึง 70% คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 2.7 แสนล้านบาท ซึ่งประเมินผลกระทบต่อกว่า 1 แสนร้านค้า เตรียมปิดกิจการ! แน่นอนว่า ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานกว่า “ล้านคน” ทีเดียว เป็นผลจากการแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาที่รุนแรงกว่าทุกระลอกที่ผ่านมานำสู่มาตรการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิว ที่ได้ขยายครอบคลุม 29 จังหวัด
ผู้ประกอบการต่างเชื่อว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดยืดเยื้อไม่จบง่ายๆ ประกอบกับกำลังซื้อของผู้บริโภคที่อ่อนแอ การฟื้นตัวต้องใช้เวลานาน ความวิตกกังวลในความไม่ชัดเจนต่อแนวทางการกระจายการฉีดวัคซีนที่ภาครัฐยังมีความล่าช้า มาตรการการเยียวยาที่ไม่เข้มข้นมากพอจะการกระตุ้นการใช้จ่ายสร้างเม็ดเงินสะพัดหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ
หากตรวจสุขภาพ “ธุรกิจ” และประเทศไทยเวลานี้ ไม่ต่างจาก “ผู้ป่วยสีแดง” อยู่ในห้องไอซียู!! จะตั้งรับกันอย่างไร?