ผู้นำ กับ ความปลอดภัย 4.0
กรณีโรงงานไฟไหม้และระเบิดอย่างรุนแรงที่สมุทรปราการ จนเป็นเหตุให้ต้องมีการอพยพผู้คนออกนอกบริเวณอันตรายนั้น คงให้ “บทเรียน" กับสังคมไทยไม่น้อย
ดังนั้น ถ้าเราจะต้องเลือกระหว่างค่านิยมหรือวัฒนธรรมแบบ “วัวหายล้อมคอก” และ “ป้องกันไว้ก่อน” แล้ว
“เราจะไปทางไหนกันดี?” จึงเป็นคำถามที่มีความสำคัญยิ่งสำหรับองค์กรที่ต้องการความอยู่รอดและยั่งยืนต่อไป เพราะเราต่างอยู่ในธุรกิจอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันอย่างรุนแรงภายใต้ภาวะความผันผวนของ VUCA World ในปัจจุบัน
เราจะไปทางไหนกันดี? เป็นคำถามที่ชี้นำให้ผู้บริหารและพนักงานในทุกองค์กร จะต้องรู้ตัวอยู่เสมอว่า “พวกเราควรจะทุ่มเทความพยายามไปทางไหน”
ในการลด “ความสูญเสียจากการเกิดอุบัติเหตุ” ด้วยการบริหารจัดการความปลอดภัยให้สัมฤทธิผล จึงสำคัญมากขึ้นทุกที
เราจำเป็นต้องมี “วิสัยทัศน์แห่งความปลอดภัย” (Safety Vision) เพื่อผู้บริหารและนักบริหารความปลอดภัยจะได้รู้ว่า “ระบบบริหารจัดการความปลอดภัย” ในอนาคตขององค์กรควรจะมีลักษณะ หรือรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร
ทุกวันนี้เราจึงต้องเริ่มต้นจากการประเมินว่า มี “ความเสี่ยง” ใหม่ๆ อะไรเกิดขึ้นบ้าง และต้องรู้ว่ามีหลักการเบื้องต้น (Basic Principle) อะไรบ้างที่จะสนับสนุนและค้ำจุนระบบความปลอดภัยให้ยั่งยืนต่อไป ต้องรู้ว่าพวกเราจะต้องบริหารจัดการความปลอดภัยให้ได้มาตรฐานระดับใดบ้าง จึงจะได้ “องค์กรแห่งความปลอดภัย” (Safety Organization) คือองค์กรที่มีความปลอดภัยต่อการทำงานอย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งสามารถลดการเกิดอุบัติเหตุ และลดความสูญเสียทั้งทรัพย์สินหรือชีวิตของผู้คนที่บาดเจ็บ พิการหรือล้มตายได้
นับแต่นี้ไป ปัญหาด้านความปลอดภัยและการบริหารจัดการความปลอดภัยจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมากขึ้น เพราะเทคโนโลยีก้าวหน้าไปเร็วมากและปัญหาทางเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันกันรุนแรงยิ่งขึ้น ดังนั้น ปัญหาสำคัญในการบริหารจัดการความปลอดภัยก็คือ “ทัศนคติ” หรือความเชื่อมั่นของเราในระบบความปลอดภัยที่เกี่ยวกับ “สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ” กับ “การป้องกันและควบคุมอุบัติเหตุ” ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราต้องกำหนด วิสัยทัศน์แห่งความปลอดภัย” ในอนาคตทั้งใกล้และไกลให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
“วิสัยทัศน์แห่งความปลอดภัย” คือ สภาพการทำงาน หรือ องค์กรที่ผู้บริหารความปลอดภัยอยากเห็นอยากได้อยากเป็น เป็นองค์กรที่เราต้องการที่จะไปให้ถึง (องค์กรแห่งความปลอดภัย)
วิสัยทัศน์ที่เราต้องการ จึงหมายถึงองค์กรที่สามารถควบคุมและป้องกันอุบัติเหตุไม่ให้เกิดขึ้นอย่างได้ผล องค์กรที่สามารถสร้างเสริมสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยต่อการทำงานได้อย่างยั่งยืน องค์กรที่ฝ่ายบริหาร ฝ่ายพนักงานและทุกๆ คนตระหนักถึงความสำคัญของ “คุณภาพชีวิต” ที่เกี่ยวเนื่องกับความปลอดภัยในการทำงานและการดำรงชีวิต เป็นองค์กรที่เกิดความร่วมแรงร่วมใจกันอย่างแท้จริงในการป้องกันอุบัติเหตุและสร้างเสริมความปลอดภัยให้เกิดขึ้น
การกำหนดวิสัยทัศน์ขององค์กร จึงต้องเริ่มต้นจาก “สิ่งที่เรียนรู้จากประสบการณ์” ของเมื่อวานนี้ จนถึงวันนี้และต่อไปถึงวันพรุ่งนี้ (คือต้องการให้องค์กรปลอดอุบัติเหตุ และทุกคนในองค์กรมีคุณภาพชีวิตที่ดี) ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากทุกคนในการกำหนด “วิสัยทัศน์ร่วม” (Shared Vision) หรือ “ค่านิยมร่วม” (Shared Value) ด้วย เพื่อจะได้เกิดการยอมรับทั่วทั้งองค์กรและนำไปสู่การปฏิบัติให้ได้ผลสำเร็จ
วิสัยทัศน์ที่ดี คือ วิสัยทัศน์ที่สามารถแสดงให้ทุกคนในองค์กร (โดยเฉพาะผู้ปฏิบัติงาน) ได้เห็นภาพของ “สถานที่ทำงานที่มีความปลอดภัยต่อการทำงาน” อย่างชัดเจน ซึ่งทำให้ทุกคนในองค์กรเกิดความเชื่อมั่นว่าจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเรื่อยๆ เมื่อทำงานที่นี่
ดังนั้น เราควรจะต้องกำจัดวัฒนธรรมประเภท “วัวหายล้อมคอก” ให้หมดไปจากสังคมไทย โดยแทนที่ด้วยจิตสำนึกแห่งวัฒนธรรมของ “การป้องกันไว้ก่อน” และ “วัฒนธรรมแห่งความปลอดภัย” เป็นพื้นฐานต่อไป
ทุกวันนี้ “ผู้นำ” มักจะเป็นผู้ที่ริเริ่มและสามารถสร้าง “วัฒนธรรมองค์กร” ได้อย่างยั่งยืนเสมอ
ปัจจุบัน จึงถึงเวลาที่พวกเราจะต้องให้ความสำคัญกับ “วัฒนธรรมแห่งความปลอดภัย” (Safety Culture) ให้มากยิ่งขึ้น ด้วยการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของการบริหารจัดการ การปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ กลยุทธ์ การวางแผน และวิธีคิดวิธีทำงานใหม่ เพื่อให้ “อุบัติเหตุเป็นศูนย์” (Zero Accident) เกิดขึ้นอย่างแท้จริง พร้อมๆ กับการสร้างเสริมความปลอดภัยในที่ทำงานอย่างเป็นระบบครบวงจร โดยให้สอดรับกับ “Industry 4.0” และ “Thailand 4.0” อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุด
“ความปลอดภัย 4.0” จึงเป็นยุคสมัยที่ต้องยึดเอาเรื่องของ “ความปลอดภัย” ผนวกเข้ากับ “เทคโนโลยี” และ “นวัตกรรม” อย่างเหมาะสมและกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน เพื่อผลิตภาพขององค์กรและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของพวกเราทุกคน ครับผม !