บวร: เด็กแว้น

บวร: เด็กแว้น

เด็กเป็นอนาคตของชาติ แล้ว เด็กแว้น จะทำให้ชาติมีอนาคตแบบไหน ร่วมขบคิดผ่านการวิจัยภายใต้แผนงานคนไทย 4.0 สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

บทความโดย.. อรุณี อินทรไพโรจน์ / มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

นักวิจัยแผนงานคนไทย 4.0

         เด็กแว้น หมายถึง ผู้ที่ออกขับมอเตอร์ไซค์ไปเป็นกลุ่มในเวลากลางคืน มีลักษณะการแต่งกาย และทรงผม รวมถึงรสนิยมการฟังเพลงที่คล้ายกัน บทความนี้ต้องการเสนอการทบทวนวรรณกรรมจากสื่อโซเชียลมีเดียและสื่อหนังสือพิมพ์ จำนวนตัวอย่างทั้งหมด 1,185 ตัวอย่าง (records) ในการวิจัยภายใต้แผนงานคนไทย 4.0 สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อวิเคราะห์ถึงลักษณะ พฤติกรรม ผลกระทบ และทัศนคติของเด็กแว้น รวมถึงข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาเด็กแว้น

          ข้อมูลชี้ให้เห็นว่าลักษณะของเด็กแว้นมักจะเป็นการรวมกลุ่มของทั้งเพศชาย เพศหญิง และไม่ระบุเพศ โดยส่วนใหญ่มีสัดส่วนเป็นเพศชายมากกว่าร้อยละ 76 เพศหญิงประมาณร้อยละ 13 และไม่ระบุเพศอีกประมาณร้อยละ 11 ในส่วนของลักษณะทางกายภาพ พบว่า ข้อมูลมีเฉพาะในสื่อโซเชียลมีเดีย เนื่องจากข้อมูลในสื่อหนังสือพิมพ์เป็นการรายงานข่าวตามการกระทำที่เกิดขึ้นเท่านั้น

การศึกษาพบว่า สื่อโซเซียลมองว่าเด็กแว้นเป็นอันธพาล เป็นเด็กมีปมด้อย และติดสารเสพติด นอกจากนี้ยังพบว่า สถานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวเด็กแว้นมักจะไม่ดีนัก และมักมีปัญหาด้านการเรียน

การรวมกลุ่มของเด็กแว้นมักจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาค่ำจนถึงเช้ามืดในช่วงวันหยุด ได้แก่ วันศุกร์ถึงวันอาทิตย์ ช่วงปิดเทอม หรือ ในช่วงเทศกาล โดยเฉพาะเทศกาลสงกรานต์ และ ลอยกระทง การรวมกลุ่มของเด็กแว้นมีการกระจายตัวอยู่ในทุกภูมิภาค แต่พื้นที่ที่มีการกระจุกตัวอย่างหนาแน่นมากกว่าพื้นที่อื่น คือ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

การรวมกลุ่มของเด็กแว้นเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่และต่อสังคม ทำให้เกิดความรำคาญ ความรู้สึกหวาดกลัว และสุขภาพจิตเสื่อม หรืออาจทำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต นอกจากนี้ ตัวเด็กแว้นและครอบครัวของเด็กเองก็ได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงที่จะได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตเช่นกัน หรืออาจถูกยึดรถ ถูกจับกุม

ในขณะที่ทัศนคติของสังคมที่มีต่อเด็กแว้นส่วนใหญ่ก็มักจะรังเกียจและดูแคลนเด็กกลุ่มนี้ แต่ตัวของเด็กแว้นเองกลับมีมุมมองที่เชื่อว่าตนเองไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น และไม่ยี่หระต่อทัศนคติด้านลบของสังคมต่อพวกตน เนื่องจากเด็กแว้นจะให้ความสำคัญกับการยอมรับในสังคมเพื่อนเด็กแว้นด้วยกันเอง และมองคนอื่นเป็นเพียงคนนอกเท่านั้น

ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาเด็กแว้นโดยสื่อหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่เป็นการแก้ไขปัญหาด้วยการลงโทษ เช่น จับกุมยึดรถ การจ่ายปรับ และการเอาผิดกับผู้ปกครอง ขณะที่แหล่งข้อมูลจากสื่อโซเชียลมีเดียมักมีความคิดเห็นของคนในสังคมที่รุนแรงโดยปราศจากหลักการของเหตุผล เช่น เสนอให้ลงโทษเด็กแว้นให้ถึงแก่ชีวิต ใช้ลวดขึง หรือ การให้ทำหมัน เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นวิธีการที่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้

จากมุมมองทางอาชญาวิทยา พบว่า การรวมกลุ่มกันของเด็กแว้นเป็นลักษณะการดำเนินชีวิต ที่ให้ความสำคัญกับคุณค่าที่แตกต่าง หรือเบี่ยงเบนไปจากคนส่วนใหญ่ในสังคม หรือเรียกว่า วัฒนธรรมย่อย สอดคล้องกับทัศนคติของเด็กแว้นจากที่กล่าวไปแล้วในข้างต้น ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อวัฒนธรรมย่อยนี้อาจมาจากการไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม การสูญเสียความภูมิใจในตนเอง เด็กจึงต้องการสร้างการยอมรับจากผู้ชม เปลี่ยนสถานะเป็นคนที่มีชื่อเสียงให้เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง

นอกจากนี้ ในกลุ่มเด็กแว้นยังมีการพนันเข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อตอบสนองความต้องการทางเศรษฐกิจ ทำให้เด็กสามารถนำเงินที่ได้มาใช้จ่ายในการดำรงชีพและแต่งรถจักรยานยนต์ได้ การประลองความเร็ว ที่เป็นวิธีการตอบสนองต่ออารมณ์และความรู้สึกของเด็กแว้น เนื่องจากสารอดีนาลีนหลั่งจากความตื่นเต้น ช่วยให้ผ่อนคลายจากความเบื่อหน่ายที่พบในชีวิตประจำวัน รวมถึงความพยายามในการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจยิ่งทำให้รู้สึกสนุกและภูมิใจในตนเองมากขึ้น การจับกุมจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของเกมการแข่งขัน

คุณศิริวรรณ สันติเจียรกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยของการขับขี่จักรยานยนต์ มีความเห็นว่า สังคมมักจะด่วนลงโทษเด็กแว้นและมองว่าเด็กแว้นเป็นศัตรู โดยไม่มองโครงสร้างทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่สร้างเด็กแว้นขึ้นมา ความไม่ปลอดภัยอันเกิดจากการขี่รถจักรยานยนต์ของเด็กแว้นนั้นส่วนหนึ่งเพราะโครงสร้างทางกฎหมายที่ยินยอมให้เด็กสามารถขับขี่รถที่ไม่มีความปลอดภัยได้ เนื่องจากเด็กแว้นมักมาจากครอบครัวที่ไม่ได้มีฐานะที่ดีนัก

เพราะฉะนั้นรถจักรยานยนต์ที่ใช้จึงเป็นรุ่นที่ราคาถูก โดยรถจักรยานยนต์ประเภทนี้มักจะมีหน้ายางที่ค่อนข้างแคบประมาณ 4-9 เซนติเมตร เพื่อลดการเสียดทานกับพื้นถนนจะได้ออกตัวแล้ววิ่งได้เร็วขึ้น แต่เด็กแว้นมักจะนำไปเปลี่ยนยางให้เป็นขนาด 4.5 เซนติเมตร และเปลี่ยนวงล้อให้กว้างกว่าเดิมเพื่อให้วิ่งได้ไวขึ้น ประกอบกับการเร่งเครื่องยนต์ให้แรงขึ้นเกิน 110 กิโลเมตรต่อชั่วโมงยิ่งทำให้ความปลอดภัยต่ำกว่าเดิม

ในต่างประเทศมีกฎหมายควบคุมยุวชนเกี่ยวกับการขับขี่รถจักรยานยนต์ โดยต้องขี่รถไม่เกิน 50 ซีซี และใช้ความเร็วไม่เกิน 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ในประเทศไทยไม่ได้มีกฎดังกล่าว ทั้งยังห้ามรถที่มีความเร็วต่ำกว่า 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมงวิ่งในถนนหลักอีกด้วย

นอกจากนี้ยังยินยอมให้บริษัทผู้ขายรถจักรยานยนต์ขนาด 110 ซีซี ให้ทำหน้าปัดที่มัความเร็วถึง 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งทำให้เด็กแว้นสามารถปรับเครื่องยนต์ให้แรงขึ้นได้ แม้แต่ในประเทศอาเซียนอื่น ๆ ก็ไม่มีประเทศไหนเลยที่ยอมให้มีการใช้หน้าปัดที่สูงถึง 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ทางออกหนึ่งของการแก้ไขปัญหาที่แท้จริงควรแก้ไขปัญหาจากพื้นฐานครอบครัวและสังคมของเด็ก โดยการทำให้เด็กมองเห็นในคุณค่าของตนเองหรือการสร้างโอกาสแสดงให้บุคคลอื่นมองเห็นคุณค่าของเด็กผ่านช่องทางต่าง ๆ และหน่วยงานที่ดูแลปัญหาเด็กวัยรุ่นจำเป็นต้องให้ความรู้แก่ผู้ปกครองว่าการปล่อยให้ลูกขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ปรับเปลี่ยนเป็นรถจักรยานยนต์ที่มีความปลอดภัยต่ำเป็นการมอบความเสี่ยงให้กับลูกหลานของตน

 ในส่วนของกระทรวงคมนาคมซึ่งดูแลความปลอดภัยและมาตรฐานของยานยนต์ควรมีข้อบังคับให้ผู้ผลิตรถจักรยานยนต์มีความรับผิดชอบต่อสังคมในการให้ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยและจัดอุปกรณ์ให้เหมาะสมกับความเร็วสูงสุดตามศักยภาพของรถ

การเพิกเฉยต่อปัญหาเหล่านี้ทำให้เราสูญเสียทรัพยากรบุคคล ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเด็กแว้นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติจำนวนมากถึงสองคนต่อทุกชั่วโมง และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาผู้ใช้รถจักรยานยนต์ก็ยังไม่ได้รับการดูแลอย่างครอบคลุม ซึ่งเป็นเช่นนี้มาตลอดระยะเวลา 17 ปีแล้ว

ถึงเวลาที่เราต้องดูแลไม่ใช่แค่ลงโทษเด็กแว้นแล้วหรือยัง?