โควิด-19 ชี้ว่าเราต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (1)
หลังเวลาผ่านไปใกล้ 2 ปี การระบาดของไวรัสโควิด-19ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติในเร็ววัน ตรงข้าม มันดูจะขยายวงออกไป
นอกจากจะขยายวงออกไปแล้ว การระบาดของโควิด-19 ยังย้อนกลับมาไล่ล่าในพื้นที่ซึ่งคิดกันว่าการระบาดของมันใกล้ยุติแล้ว ย้อนไปในช่วงกลางปีที่ผ่านมาเมื่อจำนวนผู้ป่วยและตายจากไวรัสตัวนี้ยังอยู่ที่ราว 15 ล้านคนและ 1 ล้านคนตามลำดับ
นักคิดชั้นแนวหน้า 2 คนได้วิเคราะห์การระบาดของมันและสรุปว่า มันจะมีผลกระทบร้ายแรงสูงถึงกับทำให้โลกเปลี่ยนไปจนไม่มีโอกาสหวนกลับมาเป็นปกติดังเดิมอีก ส่วนโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไรขึ้นอยู่กับพฤติกรรมตอบสนองของชาวโลกเป็นสำคัญ โลกอาจเปลี่ยนไปในทางที่ดีกว่า หรือร้ายกว่าที่เป็นมาแล้วก็ได้ ไวรัสโควิด-19 จึงเป็นเสมือนตัวสร้างทางสองแพร่งให้ชาวโลกเลือก
นักคิดคนแรกได้แก่ “คลอส ชวับ” ผู้ก่อตั้ง “เวทีเศรษฐกิจโลก” (World Economic Forum) ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่ามิใช่เป็นเวทีสำหรับปันประสบการณ์และถกเถียงกันทางด้านเศรษฐกิจเท่านั้น หากรวมด้านอื่นที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาอีกด้วย เขาเป็นผู้นำด้านการวิเคราะห์การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4
อีกคนหนึ่งได้แก่ “เธียรี มอลล์เรต์” ผู้มีบทบาทสำคัญในการดำเนินงานของเวทีดังกล่าวและการวิเคราะห์วิวัฒนาการด้านต่าง ๆ สำหรับผู้นำทางเศรษฐกิจและการเมืองของโลก เขาทั้งสองเสนอมุมมองอันน่าสนใจไว้ในหนังสือชื่อ Covid-19: The Great Reset
นอกจากบทนำและบทสรุปแล้ว หนังสือเล่มกระทัดรัดขนาด 200 หน้าเล่มนี้แบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 บทจากบทที่ยาวที่สุดไปถึงสั้นที่สุด บทแรกพูดถึงโควิด-19 กับผลกระทบและข้อคิดในระดับที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่ามหภาค บทที่ 2 พูดถึงระดับจุลภาค และบทสุดท้ายพูดถึงระดับบุคคล ขอนำเนื้อหาของทั้ง 3 บทมาคัดย่อสำหรับผู้ที่ไม่มีเวลาอ่านและไม่แตกฉานในภาษาอังกฤษ
บทแรกแยกออกเป็น 5 ส่วน เริ่มด้วยการวางกรอบ หรือปูฐานของการวิเคราะห์ซึ่งมองโลกในขณะนี้ว่ามี 3 สภาวะด้วยกัน นั่นคือ สภาวะแรกได้แก่ความเชื่อมโยงกันเป็นโครงข่ายซึ่งทั้งกว้างขึ้นและกระชับขึ้น สภาวะนี้เป็นผลของเทคโนโลยีที่มีศักยภาพสูงขึ้น ความเชื่อมโยงกันนี้มีผลทำให้สิ่งต่าง ๆ ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันมากขึ้นด้วย
ฉะนั้น คำพูดที่ว่าเราชาวโลกอยู่บนเรือลำเดียวกันมิใช่การอุปมาอุปไมยอีกต่อไปแล้ว หากเป็นความจริง เมื่ออะไรเกิดขึ้น ผลของมันจะกระจายออกไปตามปฏิกิริยาลูกโซ่ที่แทบไม่มีอะไรสามารถกั้นขวางได้
การแพร่กระจายของโควิด-19 เป็นตัวอย่างที่กำลังเกิดขึ้นสด ๆ ปัญหาที่เกิดตามมาแก้ได้ยากมาก เนื่องจากชาวโลกยังมักมองปัญหาแบบแยกส่วนทั้งที่มันแยกกันไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการแยกเศรษฐกิจกับสังคม หรือการปิดประเทศมิให้อะไรผ่านโดยการกั้นพรมแดน
สภาวะที่สองเป็นด้านความเร็วซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นที่ประจักษ์ โดยเฉพาะด้านการสื่อสารผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ตซึ่งเอื้อให้เราสามารถทำได้ในวงกว้างภายในพริบตา โทรศัพท์มือถือเป็นเครื่องมือที่มีอิทธิพลสูงมาก ณ วันนี้ชาวโลกมีความคุ้นเคยกับผลดีของความรวดเร็วของระบบต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม ความคุ้นเคยกับความรวดเร็วนี้มีผลทำให้เกิดความคาดหวังว่าทุกอย่างจะเกิดขึ้นได้แบบรวดเร็วทันใจ รวมทั้งการแก้ปัญหาส่วนที่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลด้วย แต่รัฐบาลมักทำอะไรเร็วไม่ได้เนื่องจากต้องปรึกษาหารือกับหลายฝ่าย หรือนำผลอันหลากหลายของนโยบายมาพิจารณาว่าคุ้มค่าหรือไม่ก่อนที่จะตัดสินใจลงมือทำ การไม่ได้รับการตอบสนองตามความคาดหวังสร้างความไม่พอใจแบบไฟสุมขอนให้แก่ประชนและอาจนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงกับรัฐบาลได้
สภาวะที่สามเป็นความสลับซับซ้อนซึ่งเพิ่มขึ้นรวดเร็วมากจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณข่าวสารข้อมูล จากการเชื่อมโยงเป็นโคร่งข่ายต่าง ๆ ที่กว้างขึ้น และจากความเชื่อมโยงของสรรพสิ่งที่ไม่มีลักษณะเป็นเส้นตรงซึ่งทำให้ยากแก่การมองเห็น หรือเป็นที่ประจักษ์ ความสลับซับซ้อนที่สูงขึ้นนี้มีผลทำให้เราเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ได้ในอัตราที่ลดลงส่งผลให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในกิจต่าง ๆ รวมทั้งนักการเมืองตัดสินใจไม่ตรงกับปัญหามากขึ้น การต่อสู้กับโควิด-19เป็นตัวอย่างชั้นดีที่กำลังดำเนินอยู่.