บทสรุปวิกฤติ ‘ธุรกิจการศึกษาจีน’ มูลค่าแสนล้านหยวน
มาตรการจัดระเบียบ "ธุรกิจการศึกษาจีน" ในครั้งนี้คือ ให้ธุรกิจกวดวิชา ติวเตอร์ และแพลตฟอร์มให้บริการคอร์สเรียน เปลี่ยนเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร
“ธุรกิจการศึกษาจีน” เป็นหนึ่งในธุรกิจที่เติบโตเป็นมาก ยิ่งเมื่อเกิดวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด 19 เทคโนโลยีออนไลน์จึงเข้ามาช่วยทำให้ทุกคนยิ่งเข้าถึงการเรียนการศึกษาได้จากทุกที่ ไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาและสถานที่ นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้การเติบโตของธุรกิจการศึกษาจีนสูงขึ้นมากไปอีก
เราได้เห็นมูลค่าตลาดการศึกษาจีนโตในอัตรา 20% ขึ้นไป ตั้งแต่ปี 2556 โดยหลังจากนั้นหนึ่งปีก็แตะระดับแสนล้านหยวนเป็นครั้งแรก ธุรกิจการศึกษาทั้งรายเล็กรายใหญ่และสตาร์ทอัพที่มุ่งเน้นทางด้านการศึกษาออนไลน์นอกห้องเรียนปกติ กลายเป็นธุรกิจเนื้อหอม ใครๆ ก็อยากทำ และอยากลงทุน
แต่วันหนึ่งฝันร้ายก็มาเยือน เมื่อในวันที่ 24 กรกฎาคม 2564 รัฐบาลจีนออกมาตรการควบคุมธุรกิจการศึกษา โดยเฉพาะติวเตอร์-กวดวิชา-แพลตฟอร์มที่ให้บริการคอร์สเรียนออนไลน์นอกหลักสูตรปกติ ตั้งเป้าควบคุมและจัดระเบียบให้เป็นรูปธรรม ภายในสิ้นปี 2564
มาตรการควบคุมและจัดระเบียบ “ธุรกิจการศึกษาจีน” ในครั้งนี้ ใจความสำคัญคือ ให้ธุรกิจกวดวิชา ติวเตอร์ และแพลตฟอร์มให้บริการคอร์สเรียนต่างๆ เปลี่ยนเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร และจะไม่มีการออกใบอนุญาตสำหรับผู้ประกอบการประเภทนี้เพิ่มเติม พร้อมควบคุมเรื่องการระดมทุน และห้ามเข้าตลาดหุ้น รวมถึงห้ามมีการจัดการเรียนการสอนในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ และช่วงปิดเทอม
ว่ากันตามตรง สิ่งที่ทางการห้ามและจำกัด ล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญผลักดันให้ธุรกิจเหล่านั้นเติบโต อย่างการเรียนพิเศษ เรียนเสริมหลังเลิกเรียน วันเสาร์อาทิตย์ และปิดเทอมฤดูร้อน ต่างเป็นช่วงเวลาทองและทำเงิน ซึ่งแน่นอนว่า การออกมาตรการมาแบบนี้ ส่งผลกระทบต่อธุรกิจการศึกษาจีนอย่างหนักหน่วง ดูได้จากมูลค่าหุ้นของบริษัทการศึกษาจีนที่อยู่ในตลาดหุ้นทั้งตลาดหุ้นจีนและต่างประเทศ เมื่อเดือนปลายเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ร่วงหนัก มีหุ้นบางตัว มูลค่าลดลง 90% เลยทีเดียว
จีนหยิบยกประเด็น “ต้องการช่วยลดค่าใช้จ่ายภาระต่างๆให้แก่ผู้ปกครอง และลดความเครียด-สิ่งที่อาจก่อให้สุขภาพจิตของเด็กจีนไม่โอเค ถ้าหากต้องเรียนเยอะๆ รวมถึงลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” มาเป็นเหตุผลของการออกมาตรการสั่นสะเทือนธุรกิจการศึกษาจีน
ทำไมลดภาระค่าใช้จ่ายแก่ผู้ปกครอง ต้องมาควบคุมธุรกิจการศึกษา?
ค่าใช้จ่ายทางการศึกษา เป็นค่าใช้จ่ายหลักของคนมีลูกในจีน เป็นผลสืบเนื่องจากการแข่งขันสูงในสังคมจีน เริ่มตั้งแต่การเรียน แรงกดดันในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยหรือเกาเข่า การสอบซึ่งขึ้นชื่อเรื่อง “ยากที่สุดในโลก” และส่งผลไปยังความสามารถการแข่งขันทางการทำงานในอนาคต พ่อแม่ทุกคนจึงทำทุกวิถีทางให้ลูกไปถึงเป้าหมาย มีกำลังทรัพย์เท่าไหร่ ทุ่มเทให้หมด คนจีนรุ่นใหม่เลยมีความคิด “ไม่มีลูก”
ซึ่งสิ่งที่คนจีนรุ่นใหม่คิดนั้น สวนทางกับเป้าหมายของ “รัฐบาลจีน” ที่ต้องการเพิ่มอัตราการเกิดให้สูงขึ้น หลังชาวจีนรุ่นใหม่มีลูกน้อยลง ทั้งที่จีนออกนโยบายลูกคนที่สาม กระตุ้นและส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่มีลูกเพิ่มขึ้น ปัจจัยหลักที่คนจีนไม่ต้องการมีลูก มาจากค่าครองชีพและค่าใช้จ่ายของลูกๆ ถ้าเกิดยังเป็นแบบนี้ต่อไป ประเทศก็จะมีแต่ผู้สูงอายุ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะ “กระทบเศรษฐกิจจีนแน่ๆ”
พ่อแม่และผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยในจีน พากันส่งเสียงในโลกออนไลน์ถึงการ “ไม่เห็นด้วย” และวิตกกังวลต่ออนาคตของลูกหลาน ถ้าหากไม่มีการกวดวิชาและการเรียนเสริมทั้งออฟไลน์และออนไลน์ อีกทั้งยังมองว่า อาจกลายเป็นโอกาสทองสำหรับตลาดมืด ปั่นราคาครูสอนพิเศษ-ติวเตอร์-สอนเสริมแบบตัวต่อตัว เมื่อสอนในรูปแบบธุรกิจหรือบริษัทแบบถูกต้องตามกฎหมาย มีข้อจำกัด ก็หันไปสอนแบบส่วนบุคคล สอนแบบตัวต่อตัว และคิดราคาให้สูงขึ้นเท่าไหร่ก็ย่อมได้ เนื่องจากอุปสงค์ในตัวกวดวิชาไม่ได้ลดน้อยลงตามการควบคุมธุรกิจการศึกษาที่รัฐบาลจีนต้องการให้ “หดตัว”
จีนพิสูจน์ให้เห็นมาหลายครั้ง ถึงการใช้เสียงวิพากษ์วิจารณ์มาใช้ในการกำหนดนโยบาย เพราะฐานเสียงและความนิยมในตัวรัฐบาลและผู้นำ ยังคงเป็นสิ่งสำคัญ แม้ในระบบการปกครองคอมมิวนิสต์ การประกาศนโยบายและแนวทางที่สามารถตอบสนองและแก้ปัญหาของประชาชน เป็นสิ่ง “ต้องทำ” (ทำได้ไม่ได้ ค่อยว่ากันอีกเรื่อง)
รัฐบาลจีน ได้จัดให้มีสถาบันกวดวิชา-ติวเตอร์ฟรีทางออนไลน์สำหรับชาวจีน, ส่งครู-บุคลากรทางการศึกษาผู้มีความสามารถโดดเด่นเวียนไปสอนตามโรงเรียนต่างๆ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมทางการศึกษา รวมถึงจัดกิจกรรมนอกหลักสูตรส่งเสริมสุขภาพและทักษะพิเศษเพิ่มเติมในโรงเรียนนอกจากนี้ยังมีการเยียวยาและช่วยเหลือพนักงานในธุรกิจกวดวิชาซึ่งได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมและจัดระเบียบกวดวิชา โดยทางจีนจะจัดหางานให้กับบุคคลเหล่านี้เพื่อทดแทนงานเดิม จึงถูกนำมาวางไว้ในแผนจัดระเบียบ ซึ่งมาตรการอันหลัง โฟกัสผู้ประกอบการให้ยังคงไปต่อได้แบบไม่เจ็บหนักนัก กล่าวคือ ไม่ได้ห้ามเปิดดำเนินการนะ แค่ลดขนาด ลดขีดความสามารถ ในส่วนต้องตัดออก รัฐบาลรับผิดชอบให้ มันดูเหมือนดี แต่ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจ เมื่อเจอผลกระทบหนักเช่นนี้ ย่อมต้องหาลู่ทางใหม่
“เมื่อสอนเด็ก-อนาคตของชาติ” ไม่ได้ ธุรกิจการศึกษาจีนเริ่มมองไปที่ “ตลาดผู้สูงอายุ” จีนเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ประชากรวัย 65 ปี กำลังไปแตะที่สัดส่วน 20% ของประชากรทั้งประเทศ หรือราว 300 ล้านคน ในอีก 4 ปีข้างหน้า
จากประสบการณ์ของอ้ายจง ผู้สูงอายุจีน เปิดรับสิ่งใหม่ๆ ค่อนข้างง่ายนะ และถือว่าทันโลกทีเดียว เล่นโซเชียลเอย สั่งสินค้าออนไลน์เอย ทำได้หมด ถึงทำไม่ได้ ก็พยายามเรียนรู้ ให้ลูกหลานช่วยสอน เราเลยได้เห็นเรื่องราวความเป็นเน็ตไอดอลของชาวจีนรุ่นคุณตาคุณยายเผยแพร่ในโลกออนไลน์จีนบ่อยครั้ง
“การสอนสิ่งใหม่ให้แก่ผู้สูงอายุที่ต้องการใช้ชีวิตแบบทันโลก” จุดนี้ เป็นโอกาสครั้งใหม่ในวิกฤติ แต่ยังไม่มีใครฟันธงได้ “ว่าจะ Work จนเป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ของธุรกิจการศึกษาจีนได้หรือไม่?” หรือจะดับลง เพราะทางจีนเข้ามาควบคุมอีก เป็นเรื่องที่ต้องติดตามตอนต่อไปอย่างใกล้ชิดครับ