BeLuThai สะพานเชื่อม ไทย เบลเยียม ลักเซมเบิร์ก และอียู

BeLuThai สะพานเชื่อม ไทย เบลเยียม ลักเซมเบิร์ก และอียู

ThaiEurope.net ได้นั่งคุยกับ Philip Coates ผู้อำนวยการบริหารหอการค้า BeLuThai ถึงการประกอบธุรกิจของบริษัทยุโรปในไทย และความสัมพันธ์ในอนาคต

ความสัมพันธ์ระหว่าง ‘ไทย-เบลเยียม-ลักเซมเบิร์ก รวมถึงสหภาพยุโรป (อียู) และประเทศสมาชิก มีความใกล้ชิดเป็นเวลากว่า 100 ปี ความสัมพันธ์นี้ไม่เพียงครอบคลุมด้านการติดต่อในระดับผู้นำประเทศต่าง ๆ ของยุโรปและไทย หากยังรวมถึงปฏิสัมพันธ์ทางด้านการค้าการลงทุนที่มีการขยายตัวมาอย่างต่อเนื่อง และการแลกเปลี่ยนในระดับประชาชนที่ทั้งคนไทยและชาวยุโรปต่างก็มีความสัมพันธ์อันดีต่อกันตลอดมา

ทีมงาน ThaiEurope.net ได้มีโอกาสนั่งคุยกับนาย Philip Coates ผู้อำนวยการบริหารหอการค้าเบลเยียม-ลักเซมเบิร์ก-ไทย (BeLuThai) เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของ BeLuThai ในประเทศไทย ตลอดจนมุมมองถึงความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ (ease of doing business) ของบริษัทยุโรปในไทย และแนวโน้มความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเบลเยียมและลักเซมเบิร์ก รวมถึงอียู ในอนาคต ทั้งในด้านความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน การศึกษา ตลอดจนด้านการพัฒนาเทคโนโลยี

บทบาทหน้าที่ของ BeLuThai

BeLuThai ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของชุมชนนักธุรกิจชาวเบลเยียมและลักเซมเบิร์กในประเทศไทย ปัจจุบันมีสมาชิกและเครือข่ายเป็นองค์กรธุรกิจราว 100 ราย โดยมีภารกิจหลักในการให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะแก่สมาชิกเกี่ยวกับการเริ่มต้นธุรกิจและการลงทุนในประเทศไทย

ตลอดจนเป็นเวทีพบปะและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นด้านการดำเนินธุรกิจในไทย ที่จะช่วยส่งเสริมบทบาทของภาคธุรกิจเอกชนในการขยายเครือข่ายและเสริมสร้างศักยภาพและความแข็งแกร่งของนักธุรกิจเบลเยียมและลักเซมเบิร์กในประเทศ

ทั้งนี้ BeLuThai เปิดโอกาสให้ประชาชนและภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมและอีเว้นท์ต่างๆ ที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในกรุงเทพฯ และอีกหลายจังหวัด เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งยังช่วยให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขยายกิจการหรือส่งออกสินค้าไปจำหน่ายยังเบลเยียม-ลักเซมเบิร์กอีกด้วย

นอกจากนี้ BeLuThai ยังทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้กับนักธุรกิจชาวเบลเยียมและลักเซมเบิร์กในประเทศไทย เพื่อแสดงจุดยืนและเสนอแนวทางดำเนินการต่อภาครัฐในเรื่องการค้าและเศรษฐกิจ และบูรณาการการทำงานร่วมกับทั้งภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน รวมถึงผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง

ในฐานะผู้อำนวยการบริหารของ BeLuThai คุณ Coates กล่าวว่ารู้สึกภูมิใจที่ BeLuThai ได้เป็นส่วนหนึ่งในการเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ หอการค้าต่างประเทศ 35 แห่ง และหอการค้าและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อสนับสนุนให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 แก่นักธุรกิจ-พนักงานต่างชาติ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา สมาชิกของ BeLuThai จำนวนทั้งสิ้น 25 รายได้รับการจัดสรรวัคซีนไปแล้ว

ภารกิจของ BeLuThai ในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า

เป้าหมายหลักในระยะข้างหน้าของ BeLuThai คือการทำงานร่วมกันกับหอการค้าและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เครือข่ายบริษัทเอกชน และภาครัฐเพื่อให้ก้าวผ่านวิกฤตโควิด 19 ไปได้ ซึ่งคุณ Coates คาดการณ์ว่าน่าจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1-2 ปี กว่าภาคธุรกิจจะสามารถปรับตัวเข้าสู่ระดับปกติได้ โดย BeLuThai ได้เตรียมแผนการจัดกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อเร่งช่วยเหลือและฟื้นฟูธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด

“เราทุกคนต่างตั้งตารอที่จะได้กลับมามีโอกาสสื่อสารพูดคุยกันเพื่อทำธุรกิจได้เหมือนเดิมภายหลังการระบาดของโรคโควิดสิ้นสุดลง” ซึ่ง BeluThai ร่วมกับหอการค้าฝรั่งเศส-ไทย สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ และหอการค้าเนเธอร์แลนด์ในประเทศไทย และหอการค้าร่วมต่างประเทศ เพื่อจัดงาน “Khon Kaen Business Forum” แบบเสมือนจริง (Virtual) ระหว่างวันที่ 23-24 กันยายน 2564 เพื่อส่งเสริมโอกาสทางการค้าและการลงทุนในจังหวัดขอนแก่น 

นอกจากนั้น BeluThai ร่วมกับเครือข่ายหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) หอการค้าไทยและสภาหอฯ ตลอดจนหอการค้าจากกลุ่มประเทศในเอเชีย เตรียมจัดงาน “Trade Show” เป็นครั้งแรกขึ้น ซึ่งเป็นงานในรูปแบบปกติ ในเดือนธันวาคม 2564 ที่โรงแรมมณเฑียร

เพื่อช่วยกระตุ้นตลาดในประเทศและสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคธุรกิจและการส่งออก โดยการช่วยประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการที่มาจัดแสดงในงาน ตลอดจนช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการไทยได้มีโอกาสติดต่อกับผู้ซื้อทั้งในและต่างประเทศ

ในงานนี้จะมีผู้แทนจากบริษัทชั้นนำของเบลเยียมที่ประกอบธุรกิจในไทยทั้งในด้านเคมีภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ประมงน้ำจืดแปรรูป และเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้นอกบ้าน เข้าร่วมงานด้วย ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทเหล่านี้เน้นการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศเป็นหลักก็จะหันมาเน้นการขยายตลาดและขายในประเทศมากขึ้น

BeLuThai ยังให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการศึกษา ตลอดจนการเตรียมความพร้อมเพื่อการเข้าสู่ตลาดแรงงานของนักศึกษา โดยหลายปีที่ผ่านมาได้ทำงานประสานกันกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยและเบลเยียม เพื่อสร้างความร่วมมือทั้งด้านวิจัยและการพัฒนาหลักสูตร joint program ตลอดจนการแลกเปลี่ยนนิสิตระดับบัณฑิตศึกษาระหว่างกัน และยังส่งเสริมเครือข่ายทางวิชาการ

 อีกทั้งยังได้จัดกิจกรรมสร้างความผูกพันระหว่างนักศึกษาและศิษย์เก่า รวมทั้งการฝึกประสบการณ์วิชาชีพหรือการฝึกงานให้นักศึกษาสามารถเชื่อมโยงความรู้สู่การปฏิบัติ โดยมีผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม อาทิ การจัดทำ “หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิตสองสถาบัน” ของมหาวิทยาลัย KU Leuven กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2561 และการจัดโครงการ “International Summer School and Student Exchange with KU Leuven” ในหัวข้อเรื่อง Towards a city-specific tourism development plan for Nan province ระหว่างคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ Faculty of Architecture, มหาวิทยาลัย KU Leuven ในปี 2560

ในปี 2566 BeLuThai ยังมีแผนร่วมกับมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญในการจัดกิจกรรมเพื่อแบ่งปันประสบการณ์และสร้างแรงบันดาลใจจากธุรกิจที่ประสบความสำเร็จทั้งบริษัทของคนเบลเยียมที่มาลงทุนทำธุรกิจในประเทศไทยและบริษัทของคนไทยที่ไปทำธุรกิจในประเทศเบลเยียม โดยจะเปิดโอกาสให้นักศึกษาและนักธุรกิจที่สนใจเข้าร่วมรับฟังประสบการณ์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแบบเป็นกันเองกับเจ้าของบริษัทที่มาร่วมบรรยายด้วย

 

มุมมองต่อการประกอบธุรกิจในไทย

จากมุมมองของประเทศต้นทางนักลงทุนจากยุโรปที่มีต่อการทำธุรกิจในประเทศไทย คุณ Coates ได้จัดให้ไทยเป็นประเทศที่มีพัฒนาการความง่ายในการดำเนินธุรกิจที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกล่าวว่าส่วนตัวยังมีความมั่นใจในศักยภาพของประเทศไทยที่มีจุดแข็งที่สำคัญทั้งในเรื่องทำเลที่ตั้งที่อยู่ใจกลางอาเซียน ตลอดจนแรงงานที่มีทักษะและความคิดสร้างสรรค์ และสภาพความเป็นอยู่ที่ดี

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการแข่งขันที่สูงขึ้นเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศระหว่างประเทศเพื่อนบ้านอย่างเช่น เวียดนาม ที่มีทักษะด้านภาษาอังกฤษที่ดีและค่าแรงถูกกว่าไทย อีกทั้งยังได้เข้าร่วมข้อตกลงการค้าเสรีสำคัญที่ไทยยังไม่ได้เข้าร่วม เช่น FTA เวียดนาม-อียู

ไทยจึงควรพัฒนากระบวนการที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันคู่แข่งที่อาจก้าวขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ดีกว่าได้ เช่น การปรับปรุงขั้นตอนด้านการขออนุญาตการต่อวีซ่า (Visa) และใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) ของชาวต่างชาติให้รวดเร็วมากขึ้น และเร่งศึกษาถมทะเลพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกเพื่อรองรับการลงทุนเพิ่ม ซึ่งเบลเยียมก็พร้อมสนับสนุนและให้คำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยีวิศวกรรมทางทะเล

นอกจากนั้น ไทยควรพิจารณาเพิ่มขีดความสามารถในการบริการด้านขนส่งให้คล่องตัวเพื่อสนับสนุนการส่งออก โดยควรเร่งรัดก่อสร้างรถไฟทางคู่เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างฐานการผลิตและประตูส่งออกทางทะเลผ่านท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังและมาบตาพุด

สุดท้ายคุณ Coates ยังย้ำด้วยว่าไทยไม่ควรจะรีรอที่จะจัดทำความตกลงทางการค้าเสรีกับอียูเพื่อรักษาระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยในระยะยาวต่อไป

แนวโน้มการค้าโลกหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19

คุณ Coates มองว่าผลกระทบของโควิด-19 จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่มูลค่าของโลกอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะเป็นตัวขับเคลื่อนการค้าภายในอาเซียนด้วยกันให้มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นภายใต้รูปแบบของห่วงโซ่การผลิตโลกที่มีลักษณะสั้นลง และมีการกระจายตัวมากขึ้น

วิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ นอกจากจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาค่าขนส่งสินค้าถีบตัวสูงขึ้น ยังเป็นตัวเร่งให้กระแสต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วให้เปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น อาทิ การปรับเปลี่ยนสู่เทคโนโลยีดิจิทัล ฯลฯ ท่ามกลางความขัดแย้งทางการค้าของประเทศมหาอำนาจ

ในอนาคตอันใกล้นี้ กระแสการตื่นตัวทางด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศที่เพิ่มขึ้นของภาคธุรกิจและผู้บริโภค รวมถึงแนวโน้มของนโยบายการค้าระหว่างประเทศที่เข้มงวดขึ้น จะผลักดันให้เกิดการบริหารจัดการลดการปล่อยคาร์บอนในภาคอุตสาหกรรมในเชิงรุกมากขึ้น โดยผู้ประกอบการจะพยายามลดความซับซ้อนและลดระยะของแหล่งผลิตให้ใกล้กับประเทศของตนเองมากขึ้นเพื่อลดปัญหาคาร์บอนฟุตพริ้นท์ รวมทั้งหันมาพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานในประเทศหรือภูมิภาคตนเองมากขึ้น

ทั้งนี้ คุณ Coates กล่าวว่าการพึ่งพาห่วงโซ่คุณค่าที่มีประสิทธิภาพจากโลกภายนอกจะยังคงดำเนินต่อไป แต่การจัดการห่วงโซ่อุปทานที่มีความซับซ้อนโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นก็อาจจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งคุณ Coates เชื่อมั่นว่าไทยมีโครงสร้างอุตสาหกรรมเกษตร-อาหารที่เข้มแข็งเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

การเสริมสร้างศักยภาพในการผลิตและการส่งออกอาหาร รวมถึงการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อหนุนการเชื่อมโยงเข้าสู่ห่วงโซ่มูลค่าในอาเซียน จะเป็นโอกาสสำคัญที่จะทำให้ผู้ผลิตไทยสามารถคว้าโอกาสจากการขยายตลาดเพื่อจำหน่ายสินค้าภายในภูมิภาคที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องได้

นอกจากนั้น รัฐบาลควรเร่งช่วยเหลือด้านสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบธุรกิจที่มีศักยภาพแต่ได้รับผลกระทบจากการวิกฤติโควิด และควรหาแนวทางที่เหมาะสมเพื่อรองรับการจ้างงานอีกครั้ง (Rehire) หลังวิกฤติผ่านพ้น เช่น การใช้ big data ด้านแรงงานเพื่อเพิ่มโอกาสจับคู่แรงงานและนายจ้างให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการและตลาดแรงงาน เพื่อบรรเทาการขาดแคลนข้อมูลของทั้งสองฝั่ง

 

ธุรกิจไอทีและการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพและการกีฬา ทางรอดหลังโควิด

คุณ Coates มองว่าธุรกิจหลังโควิด-19 จะถูกขับเคลื่อนด้วยไอทีมากขึ้น ซอฟต์แวร์ต่างๆจะมีการปรับปรุง ดังนั้น การผสมผสานไอทีและปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ากับการจัดการธุรกิจจะสามารถช่วยเพิ่มขีดความสามารถขององค์กรได้ ซึ่งจะเป็นโอกาสอันดีที่จะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับเบลเยียมและลักเซมเบิร์กเพื่อนำความรู้และเทคโนโลยีใหม่มาใช้ปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานทางธุรกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบันให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ในขณะเดียวกัน วิกฤติสุขภาพกับโรคโควิด-19 ถือเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของโลก รวมถึงไทยด้วย ซึ่งการทำการตลาดเพื่อการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ ตลอดจนการบริการดูแลผู้สูงอายุ และการท่องเที่ยวเชิงกีฬา จะมีบทบาทสำคัญในการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย โดยในอนาคตสิ่งที่นักท่องเที่ยวจะคำนึงถึงก่อนออกเดินทางไปต่างประเทศจะมีทั้งเรื่องระบบการดูแลความสะอาดและการรักษาพยาบาลเพิ่มมากขึ้น

ปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนการขยายตัวของภาคธุรกิจและการส่งออกสินค้าไปยังตลาดยุโรป

คุณ Coates กล่าวว่ากิจกรรมส่งเสริมการส่งออกของไทย เช่น การจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) หรือการจัดกิจกรรม Roadshow ในภาคส่วนต่างๆ ทั้งในไทยและในตลาดยุโรปที่ครอบคลุมอุตสาหกรรมที่หลากหลาย

 นอกจากจะเป็นการประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นยอดขายและช่วยให้ผู้ประกอบการได้เข้าถึงตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น โดยBeLuThai พร้อมที่จะช่วยธุรกิจไทยสร้างเครือข่ายสนับสนุนเพื่อเพิ่มโอกาสในการส่งออกให้กับสินค้าไทย

นอกจากนั้น การพัฒนาแพลตฟอร์มรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์และสร้างฐานข้อมูลรวบรวมนโยบายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการค้าการลงทุนของแต่ละประเทศสมาชิกอียูทั้ง 27 ประเทศ จะช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับภาคธุรกิจในการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์สำหรับการวางแผนทางธุรกิจและลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจ อาทิ ข้อมูลการให้สิทธิพิเศษลดหย่อนภาษี และการวิเคราะห์ความต้องการของตลาด เป็นต้น.