โควิด-19 ชี้ว่าเราต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (2)
บทคัดย่อหนังสือเรื่อง Covid-19: The Great Reset วันนี้มาจากเนื้อหาส่วนที่ 2 ของบทที่ 1 ซึ่งมี 5 ส่วนด้วยกัน
เมื่อวันศุกร์ที่แล้วคัดย่อเนื้อหาส่วนแรกอันเป็นการปูฐานของการวิเคราะห์ วันนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับผลกระทบของโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจและข้อคิดในระดับมหภาค
การระบาดของโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจทรุดหนักอย่างฉับพลันแบบไม่เคยมีมาก่อน ภาคบริการได้รับผลกระทบสูงสุดส่งผลให้แรงงานตกงานจำนวนมาก นอกจากจะทำให้เศรษฐกิจทรุดแล้ว โควิด-19 ยังทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงระหว่างมุมมองของฝ่ายเศรษฐกิจกับของฝ่ายสุขภาพอีกด้วย ซ้ำร้าย ภายในฝ่ายเศรษฐกิจเองก็มีความขัดแย้งระหว่างฝ่ายนายทุนกับฝ่ายแรงงาน
โรคระบาดร้ายแรงในอดีตบ่งว่าฝ่ายนายทุนมักยอมโอนอ่อนให้แก่ฝ่ายแรงงาน แต่ในปัจจุบัน นายทุนสามารถใช้เทคโนโลยีใหม่แทนแรงงานได้ในระดับสูงแล้ว ฉะนั้น ต่อไปฝ่ายนายทุนคงไม่ยอมโอนอ่อนตามความกดดันของฝ่ายแรงงานอีกต่อไป นอกจากแรงงานในกิจการที่เครื่องจักรทำงานแทนได้ง่ายจะได้รับผลกระทบสูงแล้ว แรงงานรุ่นใหม่ที่เข้าตลาดแรงงานเป็นครั้งแรกก็จะหางานทำได้ยากขึ้นด้วย
การระบาดของโควิด-19 จะดำเนินไปในทางใดยังมีความไม่แน่นอนสูง แต่สิ่งที่แน่นอนได้แก่ นโยบายที่เลือกใช้มุมมองของฝ่ายเศรษฐกิจเหนือของฝ่ายสุขภาพจะนำไปสู่ความหายนะทั้งจากปัจจัยด้านอุปทานและด้านอุปสงค์ กล่าวคือ ทางด้านอุปทาน การปล่อยให้ฝ่ายผู้ผลิตและผู้ขายสินค้าและบริการเปิดทำการได้อย่างเสรีย่อมนำไปสู่การระบาดของเชื้อโรคอย่างแพร่หลายส่งผลให้ต้องปิดกิจการเมื่อคนงานทำงานไม่ได้ ส่วนทางด้านอุปสงค์ การจับจ่ายใช้สอยจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นว่าสถานการณ์จะดีขึ้นต่อไป หรือควบคุมการระบาดของไวรัสได้แล้วหรือไม่ ด้วยเหตุนี้ นโยบายของรัฐจะต้องทำทุกอย่างเพื่อควบคุมการระบาดของไวรัสให้ได้ก่อน
โรคระบาดในประวัติศาสตร์ชี้ว่าอาจจะต้องใช้เวลานานนับ 10 ปีก่อนที่ภาวะปกติจะกลับคืน ณ วันนี้ ยังประเมินไม่ได้ว่าครั้งนี้จะใช้เวลานานเท่าไร ปัจจัยหลายอย่างรวมทั้งการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงวัยบ่งว่าอัตราการฟื้นตัวจะต่ำและมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาทั้งในด้านความเป็นธรรมและด้านความยั่งยืนของการฟื้นตัวกับการขยายตัวตัวไปของเศรษฐกิจ ท่าทีของผู้นำต่อประเด็นเหล่านี้มีความสำคัญยิ่ง
แนวโน้มในช่วงเวลาที่เพิ่งผ่านมานี้บ่งชี้ว่า สังคมโดยทั่วไปมีความเหลื่อมล้ำสูงและเพิ่มขึ้น เทคโนโลยีใหม่แทนที่จะช่วยทำให้ความเหลื่มล้ำลดลง กลับทำตรงข้าม นอกจากนั้น เราวัดการพัฒนาด้วยการบูชาตัวเลขกลม ๆ ที่เรียกว่า “จีดีพี” ซึ่งไม่บ่งชี้ว่ามาจากไหน อย่างไร ใครได้รับส่วนแบ่งไปและสภาพชีวิตของประชาชนโดยทั่วไปดีขึ้นด้วยหรือไม่ ที่มาของมันมักเป็นการทำลายระบบนิเวศซึ่งในปัจจุบันขาดความสมดุลร้ายแรงจนไม่สามารถสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจแบบเดิมได้อีกต่อไปแล้ว
ฉะนั้น เราจะทำอย่างไรจึงจะปรับ “จีดีพี” หรือมาตรที่เราใช้วัดการพัฒนาให้เป็นตัวบ่งชี้ทั้งสภาพความเป็นอยู่ที่แท้จริงของประชาชนพร้อมกับการรักษาไว้ซึ่งความยังยืนของระบบนิเวศ
การระบาดของโควิด-19 ท่ามกลางการเกิดของเทคโนโลใหม่ที่ทำลายของเก่าลงแบบฉับพลัน หรือทำให้ระบบต่าง ๆ หยุดชะงักชี้ให้เห็นความจำเป็นของการปรับภูมิคุ้มกันด้วย องค์ประกอบของภูมิคุ้มกันที่เหมาะสมกับสภาวะใหม่มีหลายด้านรวมทั้งทางการเงิน ปัจจัยพื้นฐาน ทรัพยากรธรรมชาติและทุนทางสังคม สิ่งเหล่านี้จะต้องมีตัวชี้วัดที่ติดตามความเพียงพอได้อย่างเป็นระบบ
โดยทั่วไปรัฐบาลทั่วโลกพยายามต้านทานการถดถอยของเศรษฐกิจด้วยการใช้ทั้งมาตรการทางการเงินและการคลังในระดับที่ไม่เคยทำมาก่อน ดอกเบี้ยถูกลดเหลือใกล้ศูนย์ เงินจำนวนมหาศาลถูกพิมพ์ออก ภาครัฐใช้งบประมาณอุ้มทั้งธุรกิจและประชาชน มาตรการเหล่านี้ละเมิดกฏเกณฑ์ต่างๆ ที่ตั้งไว้ในยามปกติ ต่อไปอาจทำให้การละเมิดกฏเกณฑ์ถูกมองว่าเป็นของธรรมดา หากเป็นเช่นนั้น ในวันข้างหน้าปัญหาเงินเฟ้อร้ายแรงจะตามมาแน่นอน การทุ่มพิมพ์ดอลลาร์จำนวนมหาศาลโดยรัฐบาลอเมริกันทำให้เกิดการโต้เถียงกันอย่างเข้มอีกครั้งถึงสถานะการเป็นเงินสำรองของดอลลาร์ว่าจะเป็นอย่างไรและจะมีเงินสกุลไหนเข้ามาแทนที่หรือไม่ อย่างไรก็ดี ณ วันนี้ยังไม่มีข้อสรุป.