คอร์รัปชันรุนแรงต่อเนื่อง 15 ปี พอหรือยัง?

คอร์รัปชันรุนแรงต่อเนื่อง 15 ปี พอหรือยัง?

อาทิตย์ที่แล้วมีข่าวเล็กๆ เกี่ยวกับคอร์รัปชัน จากปาฐกถาของประธานคณะกรรมการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.

ปาฐกถาดังกล่าวระบุว่า แม้ในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบัน ในภาวะที่คนทั้งประเทศมีความทุกข์ยาก แต่การทุจริตคอร์รัปชันก็เกิดขึ้นต่อเนื่อง โดยคำกล่าวหาการทุจริตมีจำนวนถึง 15,582 กรณี ชี้ว่า การทุจริตคอร์รัปชันไม่ได้ลดราวาศอกให้กับสถานการณ์โควิด-19 หรือถ้าพูดแบบชาวบ้านในภาษาของผมก็คือ คอร์รัปชันเป็นธุรกิจเปิดปกติไม่มีวันหยุด

 

ข้อเท็จจริงคือคอร์รัปชันได้ทำลายประเทศไทยต่อเนื่องไม่มีวันหยุดมาแล้วอย่างน้อย 15 ปี คือตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา ที่สถานการณ์คอร์รัปชันของประเทศมีแนวโน้มแย่ลงโดยตลอด วัดจากดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันขององค์กรความโปร่งใสระหว่างประเทศ ที่อันดับของประเทศไทยตกต่ำต่อเนื่องจาก อันดับที่ 59 ในปี 2548 เป็น 85 ในปี 2561 อันดับที่ 101 ในปี 2562

 

ล่าสุดปีนี้จากรายงานขององค์กรความโปร่งใสระหว่างประเทศเผยแพร่เมื่อต้นปี 2564 อันดับคอร์รัปชันประเทศไทยวัดจากดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันเพิ่มเป็น 104 ในปี 2563 คือแย่ลงอีกสามอันดับจากปี 2562 ได้ 36 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 เท่ากับคะแนนปี 2562 อันดับที่ 104 ทำให้สถานการณ์คอร์รัปชันประเทศไทยในสายตานักลงทุนแย่กว่าอินโดนีเซียที่ได้อันดับ 101 ในปี 2563 และเท่ากับเวียดนามที่อันดับปรับดีขึ้นจากปี 2562

 

ข้อมูลจึงย้ำว่าสถานการณ์คอร์รัปชันในประเทศไทยรุนแรงต่อเนื่องและไม่มีแนวโน้มดีขึ้น และในปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มมีการระบาดของโควิด สถานการณ์คอร์รัปชันก็ไม่ได้ดีขึ้นแต่กลับแย่ลงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ตรงกับข้อมูลของ ป.ป.ช ที่ว่าสถานการณ์คอร์รัปชันไม่ได้ลดราวาศอกลงแม้ประเทศจะเกิดวิกฤติ

 

องค์กรความโปร่งใสระหว่างประเทศได้ออกบทความ “ทำไมเราต้องต่อสู้กับคอร์รัปชันในช่วงโควิด-19” ชี้ว่าสถานการณ์สองวิกฤติที่ซ้อนกัน คือ วิกฤติสาธารณสุขที่เกิดจากการระบาดของโควิด-19 และวิกฤติเศรษฐกิจที่เป็นผลจากการระบาด สร้างพลวัตให้ความเสี่ยงที่จะเกิดการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศที่มีปัญหาคอร์รัปชันมาก อย่าง ประเทศไทย ยิ่งเพิ่มสูงขึ้น โดยเป็นผลจากสามปัจจัย

หนึ่ง เม็ดเงินที่ต้องใช้กระตุ้นเศรษฐกิจและแก้ไขปัญหาโดยภาครัฐที่เพิ่มมากขึ้นจากสถานการณ์โควิดจะล่อแหลมต่อการทุจริตคอร์รัปชัน สอง ระบบการตรวจสอบปกติถูกกระทบจากผลของการระบาด คือ เจ้าหน้าที่รัฐทำงานได้ไม่เต็มที่ ทำให้การตรวจสอบมีช่องว่างและเอื้อให้การทุจริตคอร์รัปชันทำได้ง่ายขึ้น  สาม การใช้อำนาจโดยนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐ คือ ข้าราชการประจำ แทรกแซงกระบวนการแก้ไขปัญหาเพื่อหาประโยชน์ทั้งจากการทุจริตคอร์รัปชันและในการจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็น เช่น ยา วัคซีน อาหารบริจาค เพื่อประโยชน์ของตนและพวกพ้อง 

สิ่งเหล่านี้จะส่งผลให้วิกฤติเศรษฐกิจและวิกฤติสาธารณสุขที่ประเทศประสบจะยิ่งรุนแรง เพราะการแทรกแซงกระบวนการแก้ไขปัญหาและการทุจริตคอร์รัปชัน ทำให้ เงินที่ควรส่งไปช่วยเหลือประชาชนทั้งในการรักษา การฉีดวัคซีนและการเยียวยา ทำได้น้อยกว่าที่ควร ทำให้มาตรการแก้ปัญหาอ่อนแอไม่มีประสิทธิภาพ และเมื่อมาตรการแก้ไขไม่เพียงพอ ไม่มีประสิทธิภาพ การระบาดก็จะยังมีอยู่ ส่งผลให้วิกฤติเศรษฐกิจยิ่งรุนแรงมากขึ้น เป็นวงจรอุบาทว์ที่การทุจริตคอร์รัปชันทำให้วิกฤติสาธารณสุขและวิกฤติเศรษฐกิจรุนแรงและลึกกว่าที่ควรจะเป็น

ในกรณีของประเทศเรา สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ปฏิเสธหรือประมาทไม่ได้ ที่การทุจริตคอร์รัปชันจะรุนแรงขึ้นในช่วงที่ประเทศเกิดวิกฤติ ทำให้มาตรการแก้ไขปัญหาไม่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้วิกฤติยิ่งรุนแรงและยืดเยื้อ เพราะวงเงินกู้ 1.5 ล้านล้านบาทที่รัฐบาลกู้มาเพื่อแก้ไขปัญหาอาจล่อแหลมต่อการทุจริตได้ในหลายรูปแบบ ทั้งในเรื่องเยียวยาว่าคนที่ได้รับเงินเยียวยาเป็นผู้ที่ควรได้หรือไม่ มีตัวตนจริงหรือไม่ ซ้ำซ้อนกันหรือไม่ หรือการจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์การแพทย์ ยา หน้ากากอนามัยและวัคซีน ว่าเป็นไปตามกระบวนการที่โปร่งใส ทำตามเหตุผลและหลักวิชาหรือไม่ หรือมีการแทรกแซงเพื่อหาประโยชน์อย่างไม่สุจริต

 

เรื่องการตรวจสอบก็ชัดเจนว่า ระบบการตรวจสอบและการบังคับใช้กฎหมายของเราอ่อนแอลงมากในช่วงโควิด ตรงกับข้อสังเกตขององค์กรความโปร่งใสระหว่างประเทศ จากที่เรามีความอ่อนแอในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ทำให้การแพร่ระบาดของโควิด-19 กลับมาเป็นรอบๆ ไม่ว่าจะเป็น การเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายของแรงงานต่างด้าว การข้ามเข้าออกพรมแดนติดประเทศเพื่อนบ้านโดยคนไทยที่ไม่ทำตามกลไกปกติเพราะไปทำงานที่ผิดกฎหมาย หรือไปบ่อนการพนันตามชายแดน และการระบาดของไวรัสในสถานเริงรมย์ในกรุงเทพฯ ที่อาจเปิดกิจการอย่างไม่ถูกต้อง การกระทำที่ผิดกฎหมายเหล่านี้คือ การทุจริตคอร์รัปชันในการปฏิบัติหน้าที่ที่มีผู้ได้ประโยชน์ที่อาจทำอย่างตั้งใจเพื่อหาประโยชน์โดยไม่สนใจว่าประเทศอยู่ในสถานการณ์วิกฤติและการป้องกันการระบาดเป็นนโยบายที่มีความสำคัญสูงสุด

 

เหตุการณ์โควิด-19 จึงเป็นเครื่องยืนยันว่าคอร์รัปชันในบ้านเราเป็นธุรกิจที่ไม่มีวันหยุดจริงๆ เหมือนเป็นอาชีพที่คนต้องทำงานไม่งั้นไม่มีรายได้ ทำให้ปัญหาคอร์รัปชันของประเทศจึงรุนแรงตลอด 15 ปีที่ผ่านมาและไม่มีแนวโน้มดีขึ้น และที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะผู้มีอำนาจที่จะแก้ไขปัญหาได้ ไม่ว่านักการเมือง ข้าราชการประจำ และบริษัทธุรกิจที่มีส่วนในพฤติกรรมคอร์รัปชัน ล้วนไม่แก้ปัญหาหรือไม่ต้องการแก้ปัญหา ปัญหาจึงบานปลายรุนแรงจนกลายเป็นระบบที่น่ากลัวและดูเหมือนว่าไม่มีใครควบคุมได้ ผลลัพธ์คือประเทศถูกทำลาย เพราะไม่มีประเทศไหนในโลกที่จะเติบโตและพัฒนาได้ถ้าประเทศมีปัญหาคอร์รัปชันรุนแรง

 

ด้วยเหตุนี้คนส่วนมากจึงไม่หวังอะไรมากกับคนรุ่นปัจจุบันที่อยู่ในอำนาจและอาจอยู่ในสมการคอร์รัปชันตลอด 15 ปีที่ผ่านมาที่จะแก้ปัญหา ความหวังอยู่ที่คนรุ่นใหม่ที่ประเทศนี้อีก 15 ปีข้างหน้า คือ อนาคตของพวกเขา คนรุ่นใหม่คือพลังและความหวังเดียวที่จะเปลี่ยนแปลงให้ประเทศดีขึ้น โปร่งใสขึ้นโดยใช้ความรู้และวิทยาการสมัยใหม่เข้าแก้ไขปัญหา ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือ งาน ACTkathon ขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นแห่งประเทศไทย ที่เพิ่งจบไปที่เปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ร่วมเสนอไอเดียและสร้างเครื่องมือภาคประชาสังคม ที่ใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีและความรู้สมัยใหม่แก้ปัญหาคอร์รัปชัน ปรากฏว่ามีคนรุ่นใหม่กว่า 500 คนเข้าร่วมเสนอความเห็นและเครื่องมือต่างๆ เพื่อช่วยประเทศสร้างความโปร่งใสและแก้คอร์รัปชัน คัดแล้วเหลือ 20 ทีมหรือ 100 คน และเข้ารอบสุดท้าย 5 ทีม

 

ผมได้เข้าฟังการนำเสนอของทั้ง 5 ทีมในรอบสุดท้ายและประทับใจมาก ทุกทีมเน้นความโปร่งใสและการเปิดเผยข้อมูลในการแก้ไขปัญหาโดยใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีที่เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปสามารถมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน ไม่ว่าจะเป็น การรายงานสิ่งที่ไม่ถูกต้องทั้งในระดับองค์กร ระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ โดยระบบรายงานที่สร้างความปลอดภัยให้กับผู้รายงาน หรือการใช้ปัญญาประดิษฐ์หาการเชื่อมต่อระหว่างผู้เล่นในภาครัฐ ภาคธุรกิจและภาคการเมืองที่เข้าร่วมประมูลโครงการรัฐ หรือระบบที่ตรวจสอบการรุกล้ำป่า เป็นต้น

 

นี่คือพลังและความหวังที่จะเป็นสายน้ำไหลกลับให้สถานการณ์คอร์รัปชันของประเทศเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ลองนึกภาพถ้าโครงการที่นำเสนอโดยทั้ง 20 ทีมถูกนำไปใช้จริงจัง ผมเชื่อว่าภายในเวลา 5 ปีประเทศไทยไม่ใช่เฉพาะปัญหาคอร์รัปชันจะเปลี่ยนไปอย่างไม่เคยมีมาก่อน จากความโปร่งใสที่จะมีมากขึ้น และดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันจะปรับดีขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อนเช่นกัน

 

นี่คือพลังที่ประเทศมี ที่เราต้องรับฟังให้โอกาสและใช้ประโยชน์ เพราะประเทศคือ อนาคตของพวกเขา.