ความรู้สึก'ประชาชน'กรณีล็อกดาวน์ และความต้องการขณะวิกฤตโควิด
เช็กตรวจสอบ ความรู้สึก "ประชาชน" กรณีล็อกดาวน์ และ "ความต้องการ" ในภาวะวิกฤติโควิด
การสำรวจความรู้สึกนึกคิดของประชาชนในขณะนี้ ท่ามกลางวิกฤติการณ์การแพร่ระบาด "โควิด 19" มานานหลายเดือน ย่อมทำให้เห็นถึงภาพสะท้อนต่อ "รัฐบาล" ในการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นอย่างไร
ศูนย์สำรวจความคิดเห็นสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้าโพล เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “มาตรการล็อกดาวน์ ควรไปต่อหรือไม่” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 23 – 26 สิงหาคม 2564 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป
โดยผู้ให้ความเห็นส่วนใหญ่ 26.14 % สนับสนุนให้ดำเนินการต่อ พร้อมมีข้อเสนอแนะให้มีมาตรการเข้มข้น ปฏิบัติจริงจัง พร้อมกับมีบทลงโทษที่รุนแรงสำหรับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตาม เพื่อให้ประชาชนลดการเดินทางข้ามจังหวัด, รวมตัว และหยุดการเดินทาง นอกจากนั้นยังเสนอให้ใช้มาตรการผ่อนคลาสำหรับบางพื้นที่ที่ยอดผู้ติดเชื้อลดลง หรือประชาชนบางส่วนได้รับวัคซีนแล้ว ในสัดส่วนที่เท่านั้น
รองลงมา 24.16% เห็นว่าไม่ควรคงมาตรการล็อกดาวน์ต่อ เพราะไม่ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อลดลง พร้อมเสนอแนะให้รัฐบาลเร่งจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพให้บริการประชุาชน
และ 21.27% สนับสนุนให้ดำเนินการต่อ แต่บังคับใช้มาตรการบางพื้นที่ หรือ พื้นที่เสี่ยงเท่านั้น เพื่อให้ประชาชนสามารถประกอบอาชีพและเดินทางได
ส่วนกรณี ผลสำรวจถามต่อว่า ความสำเร็จในการควบคุมการแพร่เชื้อจากมาตรการล็อกดาวน์ที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่ 35.67% บอกว่าไม่สำเร็จเลย เพราะ การล็อกดาวน์ไม่เข้มงวด
รองลงมา 28.81% เห็นว่า ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เพราะ ประชาชนบางส่วนไม่ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามที่รัฐกำหนด
ขณะที่ 26.83% เห็นว่า ค่อนข้างประสบความสำเร็จ เพราะ ประชาชนมีการปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัด งดการรวมตัว ทำให้ลดการแพร่ระบาดลงได้ และ 6.17% เห็นว่าประสบความสำเร็จมาก เพราะ มีการจำกัดการเดินทางทำให้ลดการแพร่ระบาดของเชื้อลงได้
ขณะเดียวกัน สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง ความต้องการของคนไทยยุค โควิด-19 พบว่า 5ความต้องการของประชาชนสูงสุด โดยความต้องการสูงสุด 84.12% ต้องการวัคซีนที่มีคุณภาพ หรือ ประชาชนฉีดวัคซีนครบ100% รองลงมาคือ สิทธิรักษาโควิด-19 อย่างเท่าเทียม เข้าถึงง่าย 50.47%, ให้ความสำคัญกับบุคลากรทางการแพทย์ , ด่านหน้า 43.24%, กระตุ้นเศรษฐกิจ 38.51% และ แจกยา อุปกรณ์ป้องกัน ชุดตรวจโควิด-19 ให้แก่ประชาชน 34.12%
ถามถึง 5 ความต้องการ ที่ประชาชนคิดว่าจะสมหวัง พบว่า สูงสุด 67.44% คิดว่าเป็นถุงชีพ อาหาร น้ำดื่ม รองลงมา 63.64% ช่วยเหลือค่าเล่าาเรียน อุปกรณ์การเรียน, 60.92% คือ ให้ความรู้เกี่ยวกับโควิด-19, ให้ความสำคัยกับบุคลากรทางแพทย์, บุคลากรด่านหน้าา 57.66% และ ลดภาระค่าครองชีพ ค่าน้ำ ค่าไฟ 48.23%
ถามถึงความต้องการ 5 อย่างที่คิดว่า น่าจะผิดหวัง พบว่า สูงสุดคือ ความจริงใจของรัฐบาลต่อการแก้ปัญหา ไม่ทุจริต ไม่เล่นการเมือง 90.64% รองลงมา คือ ผู้นำมีวิสัยทัศน์ รับฟังความเป็นประชาชน 89.29%, มีความเท่าเทียม ไม่เหลื่อมล้ำในสังคม 88.27%, รัฐบาล และทีมงานที่มีประสิทธิภาพ 85.94% และ รัฐสวัสดิการที่ดีสำหรับประชาชนทุกกลุ่ม 77.71%
คำถามสุดท้าย ที่ถามว่า ตัวช่วยอะไรที่ประชาชนอยากฝากความหวัง อับดับหนึ่ง คือ ตนเอง คิดเป็น 68.39% รองลงมาคือ ประชาชนช่วยกันเอง 53.80%, บุคลากรทางการแพทย์ 46.06% ส่วน รัฐบาล ได้ค่าความหวัง แค่ 27.96 เช่นเดียวกับค่าความหวังของรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ที่ได้ 25.04% ถือเป็น 2 หน่วยงานรัฐที่มีอำนาจและหน้าที่แก้ไขสถานการณ์กลับมีค่าอันดับรั้งท้าย
ผู้เขียนเชื่อว่า ประชาชนได้สะท้อนความเชื่อมั่นที่มีต่อรัฐบาล ให้เห็นชัดขึ้นว่า การทำงานที่ผ่านมา "ความไม่เป็นเอกภาพ" ไม่เกิดการบูรณาการอย่างแท้จริง ต่างคนต่างทำ ไม่ว่าจะเป็นกรณีกระทรวงสาธารณสุข กับ กรุงเทพมหานคร เรื่องการจัดหาเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด และบริหารกระจายวัคซีน เป็นต้น กลายเป็นภาพสะท้อนไปในทางเดียวกันตามที่โพล 2 สำนักออกผลสำรวจมาข้างต้น
จึงสะเทือนความนิยมของรัฐบาลที่ลดต่ำลง และยิ่งยืดเยื้อมาตรการล็อกดาวน์ที่ไม่มีประสิทธิภาพออกไปนานเท่าใด ความเชื่อมั่นก็ยิ่งลดต่ำลง เมื่อถึงขีดสุด อาจทำให้บรรดากฎหมายกฎเกณฑ์ มาตรการต่างๆจะขาดความร่วมมือ เพราะประชาชนต่างดิ้นรนหาทางรอดโดยไม่หวังพึ่งรัฐบาล ซึ่งจะยิ่งทำให้บริหารสถานการณ์ยากขึ้นเป็นเงาตามตัวในที่สุด.