'แผลเป็น'ทางเศรษฐกิจ
ในรอบ 10-20 ปี มีคำในภาษาอังกฤษที่ใช้กึ่งวิชาการกันมากอยู่หลายคำ หนึ่งในคำเหล่านี้คือ economic scars (แผลเป็นทางเศรษฐกิจ)
economic scars หรือแผลเป็นทางเศรษฐกิจ สื่อความหมายได้เป็นอย่างดีถึงบางสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตหรือวันนี้ที่มีลักษณะคล้ายแผลเป็นซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะปานกลางและยาว
sandbox (กล่องทราย) มีที่มาจากกองทรายนอกบ้านที่กันไว้เป็นคอกให้เด็กฝรั่งเล่นตามจินตนาการ ความหมายของมันก็คือการทดลองในขอบเขตหนึ่งแล้วจึงขยายออกไปดังเช่นการทดลองหลักสูตร และวิธีการสอนแบบใหม่ในเขตนวตกรรมการศึกษาในหลายจังหวัดในปัจจุบัน
pain point หมายถึงสิ่งที่เป็นปัญหาปวดหัวที่เกิดขึ้นอยู่ซ้ำซาก เช่น pain point ของสังคมไทยก็คือการขาดวินัยของประชาชน หรือ pain point ของบริษัทหนึ่งคือคุณภาพของการให้บริการ อีกคำคือ way forward หมายถึงนโยบายหรือการกระทำเฉพาะอย่างที่เชื่อว่าจะนำไปสู่ความสำเร็จ เช่น การมีกิริยามารยาทเป็น way forward
คราวนี้กลับมาที่เรื่อง scars หรือแผลเป็น การมีแผลเป็นในบางลักษณะอาจนำไปสู่ความสามารถที่ลดลงในการหารายได้หรือการยืนบนขาตัวเองได้อย่างดีในอนาคต เช่น เด็กสาวหน้าสวยเกิดมีรอยแผลเป็นจากอุบัติเหตุ หรือถูกกระทบทางสมองอย่างรุนแรงตอนเป็นเด็ก หรือมีแผลฉกรรจ์ที่บริเวณเข่าตอนเป็นดาราฟุตบอลอายุน้อย ทั้งหมดนี้เป็นแผลเป็นที่จะทำให้ศักยภาพในอนาคตลดลง
ในทางเศรษฐกิจก็เช่นกัน แผลเป็นจะทำให้ศักยภาพในการผลิตของประเทศมีปัญหาหรือลดลงในอนาคตซึ่งหมายถึงความสามารถในการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคตมีแนวโน้มลดลง
ในแต่ละประเทศนั้นประชาชนล้วนมีความต้องการที่จะบริโภคสินค้าและบริการอย่างไม่จำกัด ประเทศใดมีความสามารถในการผลิตเพื่อชดเชยความต้องการของสมาชิกได้มากเท่าใดก็กล่าวได้หยาบ ๆ ว่ามีความกินดีอยู่ดีเพียงนั้น
GDP คือมูลค่าสินค้าและบริการที่แต่ละประเทศผลิตได้ในเวลาหนึ่งปีซึ่งเท่ากับรายได้รวมของคนทั้งประเทศในเวลาหนึ่งปี ถ้าเอาจำนวนประชากรไปหาร GDP ก็จะได้รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี ซึ่งคร่าว ๆ ก็คือตัววัดความกินดีอยู่ดี หากรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงขึ้นก็หมายถึงมีความกินดีอยู่ดีสูงขึ้น ขนาดของ GDP หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าขนาดของเศรษฐกิจซึ่งเป็นผลพวงจากศักยภาพของการผลิตจึงต้องจำเป็นต้องขยาย (มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ) เพื่อให้ตัวเลขจากผลหารหรือรายได้เฉลี่ยตัวหัวเพิ่มขึ้นเสมอ
เมื่อกลไกมันเป็นดังนี้ ศักยภาพของการขยายตัวของเศรษฐกิจจึงเป็นเรื่องสำคัญ หากมีสิ่งใดไปกระทบจนเกิดเป็นปัญหาหรือทำให้มันมีศักยภาพลดลงในระยะกลางและยาว ความกินดีอยู่ดีของประชาชนหรือระดับของรายได้เฉลี่ยต่อหัวในอนาคตก็จะขยับขึ้นได้ช้าหรือเกิดมีขีดจำกัดขึ้น ดังนั้นคำว่าแผลเป็นทางเศรษฐกิจหรือ economic scars จึงถูกบัญญัติขึ้น เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าว
ตัวอย่างของ economic scars มีดังนี้ (1) เมื่อเศรษฐกิจหยุดชะงักดังเช่นกรณีของการระบาดโควิด-19 ก็เกิดการว่างงานขึ้น หากแรงงานไม่มีงานทำนานเกินไปก็จะเกิดแผลเป็นขึ้น กล่าวคือเมื่อกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานอีกครั้งก็อาจปรับตัวไม่ทันกับทักษะใหม่ ๆ ที่จำเป็นต้องใช้และ หากเกิดอย่างกว้างขวางก็จะมีผลกระทบต่อศักยภาพการผลิตในอนาคตได้ (2) หากไม่มีการลงทุนใหม่ในประเทศเป็นเวลานาน เครื่องจักรและอุปกรณ์การผลิตที่มีอยู่ก็จะมีอายุมากขึ้น เสื่อมประสิทธิภาพในการทำงาน ไม่ทันกับการผลิตสมัยใหม่จนทำให้กระทบต่อศักยภาพในการผลิต
(3) หากธุรกิจ SME’s จำนวนมากปิดตัวลงเช่นในภาคท่องเที่ยวดังที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เจ้าของเลิกกิจการหรือหันไปประกอบธุรกิจอื่นในขณะที่แรงงานย้ายไปภาคอื่น เมื่อธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว SME’s ท่องเที่ยวเดิมก็ไม่สามารถกลับมาทำงานรับใช้ภาคการท่องเที่ยวได้ทันเวลาจนอาจกระทบต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคตได้ (4) หากสุขภาพเฉลี่ยของประชาชนทั้งประเทศเกิดเลวร้ายลง กินหวานกินเค็ม กินมันเกินสมควร อีกทั้งมีพฤติกรรมอันก่อให้เกิดโรค NCD’s (เบาหวาน โรคหัวใจ มะเร็ง ทางเดินหายใจเรื้อรัง หลอดเลือดสมอง โรคอ้วน ไตเรื้อรัง) ศักยภาพการผลิตของประเทศก็มีปัญหา
(5) การเคยชินกับกิจการอื่นที่ไม่ใช่การผลิตก็เป็นอุปสรรคต่อการเพิ่มศักยภาพการผลิตได้ดังเช่นกรณีของเวียดนามซึ่งผ่านสงครามต่อเนื่องยาวนานถึง 28 ปี (รบกับฝรั่งเศส 8 ปี และกับสหรัฐอเมริกา 20 ปี) เมื่อชนะสงครามและรวมประเทศได้ในปี 1975 แต่กว่าจะตั้งตัวเดินหน้าทางเศรษฐกิจได้ก็ต้องใช้เวลาถึง 30 ปี เพราะต้องใช้เวลานานจึงสามารถขจัดความเคยชินกับการถือปืนมาเป็นถือจอบหรือกดปุ่มในโรงงาน การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจขนานใหญ่จึงสามารถเกิดขึ้นได้
(6) การเคยชินกับการอยู่ในระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมมาเป็นเวลานาน ทำให้เกิดแผลเป็นจนทำให้การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจภายใต้ระบบทุนนิยมที่หันมายึดถือใหม่เป็นไปอย่างเชื่องช้า ตัวอย่างได้แก่รัสเซียและประเทศเกิดใหม่จำนวนมากซึ่งเคยเป็นรัฐของสหภาพโซเวียตก่อน ค.ศ. 1991 ประเทศเหล่านี้เป็นผลพวงของแผลเป็นจากระบบเก่าที่ขาดประสิทธิภาพในการผลิตซึ่งรัฐบาลเป็นผู้สั่งการแทนกลไกตลาด
แผลเป็นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แต่สามารถแก้ไขได้ (แม้จะเป็นแผลเป็นน่าเกลียดชนิดที่เรียกว่าคีลอยด์ก็ตาม) ตราบใดที่ตระหนักว่ามีแผลเป็นและพยายามมุ่งมั่นแก้ไขโดยเร็ว ไม่ปล่อยไว้ให้เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของศักยภาพการผลิตในอนาคต ต้องทำให้อดีตเป็นอดีต อย่าให้มันมีผลกระทบถึงอนาคตแบบถาวร
ในหนังสือชื่อ The Light in the Heart(2020) ซึ่งเป็นหนังสือดังระดับโลกในการปลุกเร้าให้เกิดพลังใจของ Roy T. Bennett เขาบอกว่า “Do not let the memoires of your past limit the potential of your future. (อย่ายอมให้ความทรงจำของอดีตมาจำกัดศักยภาพของอนาคตคุณ)”.