อสังหากับความท้าทายในการดูแลที่พักอาศัยให้ปลอดภัยจากโควิด
จากสถานการณ์ในประเทศไทย ที่ยังคงประสบกับปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะในช่วงหลังไตรมาสแรกของปี 2564 ที่ผ่านมา
จากการเข้าสู่การระบาดระลอกใหม่ที่ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรกยังคงอยู่ในภาวะถดถอย ไม่มีแนวโน้มการฟื้นตัวและยังไม่มีทีท่าว่าวิกฤติจะสิ้นสุดภายในปีนี้
สำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์นั้น เรียกว่าได้รับผลกระทบโดยตรง โดยเฉพาะตลาดที่อยู่อาศัย เนื่องจากดีมานด์และกำลังซื้อทั้งจากลูกค้าคนไทยรวมถึงลูกค้าต่างชาติหดตัว แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตลาดจะซบเซา แต่โดยส่วนใหญ่ผู้ประกอบการก็มีกลยุทธ์การปรับตัว พยายามฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจได้ค่อนข้างดีในแง่ต่าง ๆ ทั้งการทำโปรโมชั่นและจัดแคมเปญพิเศษที่ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและช่วยอำนวยความสะดวกด้านการเงินให้ลูกค้า เพิ่มช่องทางการขายออนไลน์และการนำสื่อดิจิทัลเข้ามาใช้สนับสนุนงานขาย เน้นการระบายสต็อกเก่า พัฒนาโครงการโดยทำราคาให้เข้าถึงง่าย โดยมีการเน้นในกลุ่มเรียลดีมานด์ที่ต้องการอยู่อาศัยจริงอย่างกลุ่มโครงการแนวราบ (บ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม) ตลอดจนมีการบริหารจัดการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายภายในองค์กรให้มีประสิทธิภาพและคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น
ในส่วนของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นอกจากการบริหารจัดการด้านการสร้างพัฒนาโครงการ การทำการตลาดและการขายแล้ว การดูแลหลังการขายหรือการบริหารจัดการโครงการที่พักอาศัยโดยทีมนิติบุคคล ก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ต้องปรับตัวรับความท้าทายจากสถานการณ์โควิด-19 เช่นกัน เพื่อสร้างความอุ่นใจให้ลูกค้าและผู้อยู่อาศัย ดูแลให้คอมมูนิตี้ที่อยู่อาศัยแห่งนั้นปลอดภัยจากโควิด-19 ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นโจทย์ที่ยาก เพราะปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดมีความรุนแรง
สำหรับพลัส พร็อพเพอร์ตี้ ในธุรกิจบริหารจัดการโครงการที่พักอาศัย ก็ได้มีการติดตามสถานการณ์และดำเนินการดูแลป้องกันตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงแรก ๆ ทั้งมาตรการโดยทั่วไปอย่างการตรวจคัดกรอง วัดอุณหภูมิผู้เข้า-ออกภายในโครงการ มาตรการด้านการทำความสะอาดฆ่าเชื้อ การจัดการพัสดุ การคัดแยกขยะติดเชื้อ มาตรการประสานเคลื่อนย้ายส่งตัวลูกบ้านผู้ป่วยในโครงการไปรักษา การแจ้งอัพเดตข่าวสารในโครงการและสถานการณ์โควิดผ่านแอพพลิเคชั่นและป้ายประกาศในโครงการ
ล่าสุด จากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ทวีความรุนแรง และโรงพยาบาลหลายแห่งประสบปัญหาเตียงไม่พอ จึงเริ่มมีแนวทางการพักรักษาตัวที่บ้านหรือ Home Isolation สำหรับผู้ติดเชื้อที่มีอาการไม่รุนแรง เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนเตียงไว้ให้ผู้ป่วยอาการหนัก พลัสฯ จึงได้เพิ่มการดูแลช่วง Home Isolation ผ่าน 4 มาตรการหลัก – ตรวจสอบ, ติดตาม, ประสานงาน, ดูแล ดังนี้ 1.ตรวจสอบ สรุปจำนวนและข้อมูลผู้ติดเชื้อในโครงการ รวมทั้งขอเบอร์ติดต่อญาติหรือผู้ติดต่อในกรณีฉุกเฉิน เตรียมพร้อมเบอร์ติดต่อโรงพยาบาลที่ดูแลลูกบ้านผู้ป่วยแบบ Home Isolation 2.ติดตาม โดยทีมนิติบุคคลมีการโทรหาลูกบ้านหรือติดต่อผ่านแอพพลิเคชั่นในทุก ๆ วัน เพื่อสอบถามอัพเดตอาการ 3.ประสานงาน ช่วยประสานติดต่อสถานพยาบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณีลูกบ้านที่เป็นผู้ป่วยมีอาการทรุด รวมทั้งช่วยอำนวยความสะดวกด้านการใช้ชีวิตในเรื่องต่าง ๆ ในระหว่างการ Home Isolation และ 4.ดูแล ด้านการช่วยรับอาหาร พัสดุ และของใช้จำเป็นของลูกบ้าน และนำไปส่งถึงหน้าห้องพัก และมีการทำความสะอาดเข้มข้นในบริเวณโถงทางเดินในชั้นดังกล่าว มีตารางการเก็บขยะถึงหน้าห้องพัก รวมทั้งมีการมอบน้ำเปล่า และจัดหาฟ้าทะลายโจรให้ลูกบ้านที่รักษาแบบ Home Isolation อีกด้วย
ซึ่งการออกมาตรการพิเศษนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ No One Left Behind #แสนสิริไม่ทอดทิ้งใคร โดยพลัสฯ ร่วมมือกับแสนสิริในการให้ความช่วยเหลือและดูแลทุกครอบครัวในโครงการที่อยู่อาศัย ซึ่งพนักงานพลัสฯ ทุกคนได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบ 100% เรียบร้อยแล้ว จึงมีความพร้อมในการดูแลให้ความช่วยเหลือลูกบ้านและผู้อยู่อาศัยอย่างเต็มที่ เพื่อทุกครอบครัวในคอมมูนิตี้จะต้องรอดไปด้วยกัน
โครงการที่อยู่อาศัยทั้งหมู่บ้านและคอนโดมิเนียม นับเป็นอีกหนึ่งหน่วยทางสังคมที่เป็นการอยู่อาศัยร่วมกันของหลายครอบครัว หากทีมบริหารนิติบุคคลในโครงการนั้น ๆ มีการรับมือและการดูแลจัดการที่ดี ก็จะเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญที่ช่วยป้องกันการแพร่ระบาดและควบคุมลดการกระจายของโรคไปสู่ภายนอกได้ ดังนั้นบริษัทบริหารจัดการโครงการที่พักอาศัยจึงต้องติดตามสถานการณ์และพร้อมปรับตัว เพื่อดูแลผู้อยู่อาศัยในโครงการให้ปลอดภัยภายใต้สถานการณ์ที่ท้าทายนี้ครับ