กฎหมายท่าเรือในยุค 4.0 ภายใต้โจทย์ท่าเรืออัจฉริยะ

กฎหมายท่าเรือในยุค 4.0 ภายใต้โจทย์ท่าเรืออัจฉริยะ

ฉายภาพการพัฒนาเมืองแห่งท่าเรือ คือ ท่าเรือแห่งเมืองฮัมบวร์ก (The Port of Hamburg) ในมุมมองทางด้าน กฎหมายท่าเรือในยุค 4.0 ภายใต้โจทย์ท่าเรืออัจฉริยะ

บทความ : ดร.ณัชชา สุขะวัธนกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

    ในปัจจุบันพื้นที่ทางทะเลของประเทศไทยถูกใช้งานเพื่อกิจกรรมทางทะเลในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การเดินเรือ ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญอันอาจสังเกตุได้จากรูปแบบวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของผู้คน การสั่งซื้อสินค้าออนไลน์เป็นพฤติกรรมที่ส่งผลต่อปัจจัยที่ขับเคลื่อนการขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศ เนื่องจากเป็นรูปแบบการเคลื่อนย้ายสินค้าที่ตอบโจทย์ทั้งในแง่ระยะเวลา ปริมาณและราคา นอกเหนือจากเทคโนโลยีและความเป็นเลิศของตัวเรือเองซึ่งสนับสนุนการขนส่งทางทะเลที่มีคุณภาพแล้ว การบริหารจัดการและความล้ำสมัยของท่าเรือ ยังเป็นหนึ่งในจุดยุทธศาสตร์ของการพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเลที่มีความสำคัญและเชื่อมโยงกับประเด็นทางกฎหมายที่หลากหลาย 
 
    ในยุค 4.0 นี้ประเทศไทยได้ต่อยอดนโยบายเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) ควบคู่ไปกับการส่งเสริมยุทธศาสตร์ชาติเพื่อสนับสนุนการใช้ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อความเติบโตทางเศรษฐกิจ ประเด็นการจัดการพื้นที่ใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจจึงกลับมาได้รับความนิยมอย่างมากเนื่องจากการประชาสัมพันธ์แนวความคิดนี้ของธนาคารโลก (World Bank) ที่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไปพร้อม ๆ กับการพัฒนางานระบบการขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศหรือ Maritime Logistic ได้ ซึ่งรวมถึงการพัฒนาระบบงานท่าเรือให้ทันสมัย มีประสิทธิภาพ ลดการทำงานโดยมนุษย์ นำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ รวมถึงตอบสนองต่อแนวนโยบายสากลในด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมนั้นมีความสำคัญอย่างมหาศาลในด้านความมั่นคงและอาณาเขตทางทะเลรวมถึงการสะท้อนแนวคิดเศรษฐกิจสีน้ำเงินอีกด้วย 

สำหรับประเทศไทยในขณะนี้มีแนวโน้มในการผลักดันสายการเดินเรือแห่งชาติและการพัฒนาระบบขนส่งทางทะเลอัจฉริยะ หรือเรือขนส่งสินค้าที่ไม่ใช้การควบคุมโดยมนุษย์ซึ่งถือเป็นแนวโน้มทางเศรษฐกิจที่ดีในด้านการจัดการเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้สนับสนุนการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ คำถามที่เกิดขึ้นคือความจำเป็นในการพัฒนางานท่าเรือให้ถูกขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยีอัจฉริยะ จะมีความเป็นไปได้หรือไม่ ในปัจจุบันงานการท่าเรืออยู่ภายใต้การกำกับดูแลของการท่าเรือแห่งประเทศไทย โดยมีท่าเรือที่รองรับการขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศอยู่หลายแห่งในภูมิภาคที่แตกต่างกันไป เช่น ท่าเรือกรุงเทพ ท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือระนอง 

    กฎหมายและระเบียบปฏิบัติที่ใช้บังคับต่อการทำงานและระบบขับเคลื่อนท่าเรือในประเทศไทยในปัจจุบันคือ พระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2543 เป็นหลัก ประกาศและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พระราชกฤษฎีกากำหนดอาณาบริเวณของการท่าเรือแห่งประเทศไทย และประกาศการท่าเรือแห่งประเทศไทย เรื่องวิธีดำเนินการบรรทุกหรือขนถ่ายสินค้าเรือเดินทะเลต่างประเทศเป็นต้น ทั้งนี้การจัดการการท่าเรือในประเทศไทยยังดำเนินการร่วมกับกรมเจ้าท่าและสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ซึ่งหากในอนาคตประเทศไทยจะพัฒนางานท่าเรือไปสู่ระบบอัจฉริยะหรือการควบคุมงานโดยปัญญาประดิษฐ์รูปแบบต่าง ๆ กฎหมายและแนวนโยบายที่สนับสนุนงานท่าเรือจำต้องมีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงและแก้ไขให้สอดคล้องกัน

สำหรับประเทศที่มีความก้าวหน้าในการพัฒนาท่าเรืออัจฉริยะอย่างมีนัยสำคัญในระยะห้าถึงสิบปีนี้ซึ่งจะได้ขอหยิบยกมาเป็นกรณีศึกษาเปรียบเทียบคือ ประเทศสหพันธรัฐเยอรมนี โดยจะขอกล่าวถึงเมืองแห่งท่าเรือคือ ท่าเรือแห่งเมืองฮัมบวร์ก (The Port of Hamburg) สภาพภูมิศาสตร์ที่ตั้งของท่าเรือฮัมบวร์กได้เปรียบในด้านการเป็นจุดยุทธศาสตร์ซึ่งเป็นท่าเรือระหว่างประเทศแห่งทะเลบอลติก  (Baltic Sea) ซึ่งมีส่วนต่อขยายกับท่าเรือภายในประเทศมากมายส่งผลให้ได้รับความนิยมมาก มีสายการเดินเรือเข้ามาใช้บริการและเป็นจุดแลกเปลี่ยนสินค้าจากแต่ละภูมิภาคมากมายเป็นเวลาหลายร้อยปีแล้ว 

    ท่าเรือแห่งนี้ก้าวสู่การเป็นท่าเรืออัจฉริยะ (Port Digitalization) มาเป็นเวลากว่า 17 ปีแล้ว ข้อกฎหมายประการแรกที่กำกับระบบงานท่าเรือฮัมบวร์กคือ Hamburg Port Authority Law ซึ่งเมื่อเยอรมนีเป็นประเทศที่เริ่มมีการสนับสนุนเศรษฐกิจทางทะเลอย่างจริงจัง จึงได้จัดให้มีทั้งข้อบังคับในระดับกฎหมายระดับรัฐสมาชิก และกฎหมายระดับสหพันธ์ (German Government และ Federal State Government) เพื่อสนับสนุนแนวนโยบายท่าเรืออัจฉริยะดังต่อไปนี้

    หลักการท่าเรือสีเขียวของท่าเรือฮัมบวร์ก (Green Port of Hamburg) ที่บทบัญญัติทางกฎหมายจากหลัก EU Directive 2014/94/EU กำหนดให้เทคโนโลยีแห่งท่าเรือนั้น ๆ จะต้องถูกพัฒนาอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจากของเสียบริเวณท่าเรือ การรักษาความปลอดภัยและระบบนิเวศน์ที่ยั่งยืน ซึ่งนอกจากกฎหมายสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศซึ่งบังคับในเรื่องการปล่อยควันพิษ มลพิษทางเสียงและน้ำเสียบริเวณท่าเรือแล้ว ยังมีการกำกับดูแลด้วย Energy and Electricity Taxation Acts เพื่อให้การบริหารงานในท่าเรือครบถ้วนสมบูรณ์โดยบังคับใช้ในเมือง Hamburg และ Lubeck

    ประการต่อมาความจำเป็นด้านการใช้ประโยชน์และการก่อสร้างท่าเรืออัจฉริยะจะอยู่ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญเยอรมัน และการกำกับดูแลอื่น ๆ ตามแผนการพัฒนาท่าเรือ  Digitalizing Hamburg Port 2021- 2025 ซึ่งจะดำเนินการภายใต้กฎหมายระดับสหพันธ์อย่างกฎหมายการจัดการน้ำ, บทบัญญัติเพื่อการปกป้องธรรมชาติและการก่อสร้างท่าเรือ  ในด้านระบบการเงินในท่าเรือขณะนี้อาศัยหลัก Privatization, Public-Private Partnerships (PPP) ซึ่งถูกกำกับโดยหลักกฎหมายแพ่งและกฎหมายมหาชนของเยอรมันเพื่อกำหนดทิศทางในด้านการเงิน การลงทุนและการบริหารงบประมาณในท่าเรือที่อาศัยการทำงานของเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์

    ประการสุดท้ายการจัดการด้านแรงงานจะอาศัยหลัก EU Trade Union และ Regulation (EU) 2017/352 ซึ่งวางระบบในด้านความโปร่งใสทางการเงินและการจัดการแรงงาน ที่ให้บริการในท่าเรือ ซึ่งมีการวางแนวทางเอาไว้อย่างชัดเจน อีกทั้งกฎหมายยังครอบคลุมไปถึงการชดเชยความเสียหาย จากการทำงานในท่าเรือระบบอัจฉริยะอีกด้วย จะเห็นได้ว่าการจะพัฒนาระบบท่าเรืออัจฉริยะซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งเสริมนโยบายเศรษฐกิจสีน้ำเงินยังมีประเด็นที่ต้องหันกลับมามองกฎหมายและนโยบายที่มีอยู่อีกหลายส่วนด้วยกัน ในการเตรียมความพร้อมหากจะพัฒนาส่งเสริมในด้านนี้ จึงควรต้องมีการพิจารณาถึงการบังคับใช้และการกำหนดบทลงโทษจากกฎหมายโดยอาจศึกษาจากต้นแบบที่มีความเกี่ยวข้องและรากฐานทางกฎหมายที่คล้ายคลึงกันให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นได้.