ภาพยนตร์คือความมั่นคง? ไทยต้องมียุทธศาสตร์รับมือ ผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจ

ภาพยนตร์คือความมั่นคง? ไทยต้องมียุทธศาสตร์รับมือ ผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจ

เปิดประเด็น ภาพยนตร์คือความมั่นคง? ไทยต้องมียุทธศาสตร์รับมือ ผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจ ก่อนตกเป็นทาสทางวัฒนธรรมโดยไม่รู้ตัว บั่นทอนความเป็นชาติในอนาคต

น่าสนใจ งานประชุมวิชาการเรื่อง “ภาพยนตร์กับความมั่นคง” ผ่านออนไลน์ระบบซูม จัดโดยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่จันทร์ที่ 13 กันยายน ที่ผ่านมา

ผู้เขียนได้จะเข้าร่วมรับฟังด้วย แม้ว่าจะไม่ได้เข้าร่วมวงตั้งแต่ต้นก็ตาม แต่ก็มีข้อมูลมาเล่าสู่กันฟัง 

กล่าวเปิดประชุม โดยรองศาสตราจารย์ ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อํานวยการสถาบันเอเชียศึกษา นําเข้าสู่การประชุม โดยดร.สุภาค์พรรณ ตั้งตรงไพโรจน์ นักวิจัยศูนย์พหุวัฒนธรรมศึกษาและนวัตกรรมทางสังคม สถาบันเอเชียศึกษา 

มีหัวข้ออภิปราย ดังนี้ "แนวคิดภาพยนตร์กับความมั่นคง" โดย อาจารย์ ดร.ฐณยศ โล่ห์พัฒนานนท์ นักวิจัยด้านวัฒนธรรม ความมั่นคง และอุตสาหกรรมบันเทิงระหว่างประเทศ สถาบันเอเชียศึกษา 

กรณีศึกษาด้านความมั่นคงในภาพยนตร์อินเดีย โดย ดร.ลักษณ์นัยน์ ทรงเสี่ยงไชย นักวิจัยศูนย์เอเชียใต้ สถาบันเอเชียศึกษา 

โลกทัศน์ไทยในภาพยนตร์ โดยนายพัฒนะ จิรวงศ์ เลขาธิการสมาคมผู้กํากับภาพยนตร์ไทย

ทั้งนี้ อภิปรายความเห็นโดยผู้ทรงคุณวุฒิ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ ประธานคณะอนุกรรมาธิการวุฒิสภาด้านศิลปะและวัฒนธรรม , ดนัย หวังบุญชัย อนุกรรมาธิการวุฒิสภาด้านศิลปะและวัฒนธรรม , เจนไวยย์ ทองดีนอก ผู้ควบคุมการผลิตภาพยนตร์ บริษัท ไท เมเจอร์ จํากัด และอาจารย์พิเศษด้านภาพยนตร์ เป็นต้น

ภาพยนตร์คือความมั่นคง? ไทยต้องมียุทธศาสตร์รับมือ ผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจ

เปิดอภิปราย "แนวคิดภาพยนตร์กับความมั่นคง" อาจารย์ ดร.ฐณยศ โล่ห์พัฒนานนท์ อธิบายภาพยนตร์มีความสำคัญในทางความมั่นคงอย่างไร?

เมื่อดูจากกรณีต่างๆ จะพบว่าความสัมพันธ์ระหว่างภาพยนตร์กับความมั่นคงสามารถสรุปออกมาเป็นรายประเด็นได้มากมาย ต่อไปนี้คือตัวอย่างคำอธิบายว่าภาพยนตร์สามารถเสริมส่งความมั่นคงได้อย่างไร

1. ภาพยนตร์ช่วยสื่อสารวัฒนธรรมและเสริมสร้างวัฒนธรรมสัมพันธ์กับนานาชาติ ถ้ามองในมุมความมั่นคง ภาพยนตร์คือสะพานสู่พันธมิตรภาคประชาชน
 

2. ภาพยนตร์ช่วยสร้างความผูกพันระหว่างประชากรกับความเป็นชาติผ่านภาพประวัติศาสตร์ภาพทางสังคม/วัฒนธรรม หรือ ช่วยลดทอนการครอบงำทางวัฒนธรรมที่มากับวัฒนธรรมสมัยนิยมจากภายนอก (เป็นการสร้างสมดุลทางความรู้สึก ไม่ได้หมายถึงการต่อต้านวัฒนธรรมต่างชาติ)

3. ภาพยนตร์ช่วยส่งเสริมลักษณะทางประชากรด้วยการให้แรงบันดาลใจผู้ชมในเรื่องต่างๆ และตอกย้ำภาพประชากรในอุดมคติตามแนวคิด National Character

4. ภาพยนตร์ช่วยสร้างจิตสำนึกทางการพัฒนาผ่านเรื่องราวที่สอดคล้องกับแนวทางพัฒนาในแต่ละยุค

ภาพยนตร์คือความมั่นคง? ไทยต้องมียุทธศาสตร์รับมือ ผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจ

5. ภาพยนตร์ช่วยนิยามความเป็นชาติ หรือ กระทั่งนิยามความเป็นมิตรและศัตรู ครั้งหนึ่ง ภาพยนตร์ฮอลลีวูดกำหนดให้ตัวร้ายมาจากโลกคอมมิวนิสต์เพราะเวลานั้นสหรัฐฯ อยู่ในวังวนสงครามเย็น แต่เมื่อสหรัฐฯ ข้องเกี่ยวกับภัยก่อการร้าย ภาพยนตร์หลายเรื่องใช้แก่นก่อการร้ายเป็นหลัก

6. ภาพยนตร์ช่วยต่อยอดเศรษฐกิจดังกรณีของเกาหลีใต้และญี่ปุ่น

7. ภาพยนตร์ช่วยสร้างความตื่นตัวทางความรู้ ทำให้ผู้ชมรู้จักโลกที่กว้างใหญ่ขึ้น

ภาพยนตร์คือความมั่นคง? ไทยต้องมียุทธศาสตร์รับมือ ผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจ

แต่ถ้ารวบยอดคำอธิบายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างภาพยนตร์กับความมั่นคง จะพบว่าภาพยนตร์มีความสำคัญต่อกิจการความมั่นคง 3 ประการ ได้แก่

1. ภาพยนตร์เป็นดั่งปราการทางวัฒนธรรม ช่วยรักษาความตระหนักรู้ในตัวตนของผู้ชม ประเทศเช่นจีนและเกาหลีใต้จึงพยายามออกระเบียบคุ้มครองกิจการภาพยนตร์และวีดิทัศน์เสมอเพื่อให้ภาพยนตร์ในชาติได้ทำหน้าที่ดังกล่าว
2. ภาพยนตร์คือเครื่องมือเจริญความสัมพันธ์ระหว่างคนต่างวัฒนธรรมดังปรากฏในหลักการของ Soft Power และช่วยสร้างโอกาสทางการค้า การลงทุน การศึกษา รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ ภาคประชาชน
 

 

3. ภาพยนตร์ทำหน้าที่ประหนึ่งผู้ช่วยในการสร้างวาระทางวัฒนธรรม การเมือง และเศรษฐกิจช่วยหลอมรวมผู้ชมในยามที่ต้องขับเคลื่อนสังคมไปยังทางใดทางหนึ่ง ณ จุดนี้ควรสรุปได้ว่าภาพยนตร์มีบทบาททางความมั่นคงสูง และเหตุผลทางความมั่นคงควรจะพัฒนาไปเป็นแรงผลักให้เกิดความสนับสนุน สานความร่วมมือ รวมไปถึงพัฒนาทักษะความรู้ด้านภาพยนตร์ให้พร้อมสำหรับการใช้ประโยชน์ของทุกคน

ภาพยนตร์คือความมั่นคง? ไทยต้องมียุทธศาสตร์รับมือ ผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจ

การใช้ภาพยนตร์เพื่อความมั่นคงควรเป็นอย่างไร?

มุมมองส่วนใหญ่ยังจำกัดด้วยเรื่องการใช้ภาพยนตร์ส่งเสริมเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ทำให้คุณูปการด้านความมั่นคงถูกละเลย จริงๆ แล้วการส่งเสริมดังกล่าวก็คืองานความมั่นคงอย่างหนึ่งเพราะว่าด้วยความปลอดภัยทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม เพียงแต่ความรู้สึกเกี่ยวกับความมั่นคงยังไม่ชัดเจน ดังนั้นก้าวต่อไปควรเริ่มจากความตื่นตัวของทุกภาคส่วนในเรื่องความมั่นคงโดยให้ครอบคลุมส่วนสนับสนุน ส่วนผลิต ส่วนการเรียนการสอน ส่วนการลงทุน ส่วนการเผยแพร่ ส่วนงานอนุรักษ์ ซึ่งจะนำให้ทุกฝ่ายถือเป้าเดียวกัน แล้วจึงดำเนินการขั้นพื้นฐานตามข้อเสนอต่อไปนี้

1. ศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้ตกผลึกเรื่องการใช้ประโยชน์ในมิติความมั่นคง เนื่องจากภาพยนตร์กับความมั่นคงยังเป็นแนวคิดใหม่สำหรับสังคมไทย
2. สร้างวาระภาพยนตร์เพื่อความมั่นคงซึ่งจะเพิ่มพลังความร่วมมือข้ามภาคส่วนและเร่งความพร้อมในหมู่ผู้ผลิต/นักวิชาการ ต่อไปภาพยนตร์จะไม่ใช่เพียงศิลปะบันเทิง แต่มีบทบาทต่อชาติโดยรวม นักสร้างสรรค์จะต้องบูรณาการความรู้เชิงบริบทด้วยภาพยนตร์ไม่ใช่จินตนาการส่วนบุคคล นักวิชาการเองจะต้องค้นคว้าเพื่อเสริมการสร้างสรรค์ให้ตรงเป้าหมาย
3. ผลักดันให้บรรจุสื่อภาพยนตร์และวีดิทัศน์เป็นส่วนหนึ่งในนโยบายความมั่นคงของชาติ เพราะแผนฉบับปัจจุบันมีนโยบาย 16 ข้อแต่ไม่มีข้อใดพูดถึงความจำเป็นที่จะต้องใช้สื่อภาพยนตร์ฯ ในมิติความมั่นคง

ภาพยนตร์คือความมั่นคง? ไทยต้องมียุทธศาสตร์รับมือ ผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจ

กล่าวโดยสรุป การพูดถึงภาพยนตร์กับความมั่นคงมีวัตถุประสงค์เพื่อจุดประกายความคิดเกี่ยวกับการใช้งานภาพยนตร์สำหรับโลกยุคถัดไป โลกจะเต็มไปด้วยคลื่นความเปลี่ยนแปลง ผู้คนจะเห็นการบุกทางวัฒนธรรมจากผู้เล่นรายใหม่ทั้งในโลกตะวันตกและตะวันออก ภัยใหม่ๆ อาจอุบัติขึ้นอย่างเหนือความคาดหมาย บางชาติอย่างจีนจึงได้ทำการปรับตัวโดยวางระเบียบโครงสร้างสำหรับงานภาพยนตร์และวีดิทัศน์เพื่อนำไปเสริมส่งงานความมั่นคง จีนเห็นว่าถ้าปล่อยภาพยนตร์ตามกลไกตลาดความเสียหายจะเกิดขึ้นในภาพรวมด้วยรากฐานการผลิตของจีนยังอยู่ในช่วงตั้งตัวความมั่นคงขึ้นอยู่กับเอกภาพของคนในชาติ อำนาจในการจัดการ และความสามารถในการปรับตัว/แข่งขัน/ตั้งรับของสังคม ภาพยนตร์รวมทั้งงานวีดิทัศน์ทั่วไปสามารถสนับสนุนปัจจัยทั้งสามให้แข็งแกร่งขึ้น การปล่อยวงการภาพยนตร์อย่างที่เป็นมาจึงอาจหมายถึงความเสียหายอย่างยากจะประเมิน

ดาวน์โหลดอ่านฉบับเต็ม เอกสารภาพยนตร์กับความมั่นคง 

ทั้งนี้ อาจารย์ ดร.ฐณยศ ได้สรุปมุมมองผู้ร่วมประชุมวิชาการด้วยว่า ดร.ลักษณ์นัยน์ ทรงเสี่ยงไชย มองว่าว่าอินเดียใช้ภาพยนตร์สื่อสารความเป็นพี่ใหญ่ในภูมิภาค , พัฒนะ จิรวงศ์ ชี้ว่า ภาพยนตร์คือสื่อสร้างสำนึกประชากร ภาพยนตร์ทำให้เกิดความมั่นคงทางประชากร , อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ มองว่าภาพยนตร์บ้านเราต้องการนักแสดงที่สื่อสารได้สมจริง ไม่ใช่สื่อสารแล้วดูเป็นการแสดง , อาจารย์ ดนัย หวังบุญชัย แนะควรมีการสร้าง "ผู้สร้าง" "ผู้เสพ" และ "ผู้สนับสนุน" ไปพร้อมกันเพื่อให้วงการภาพยนตร์อยู่ตัวอย่างยั่งยืน , ผกก.เจนไวยย์ ทองดีนอก  ชี้ว่าไทยต้องการ think tank หรือถังความคิดด้านภาพยนตร์ ถ้าไม่มีถังความคิด ทิศทางการขับเคลื่อนจะไม่ชัดเจน และผอ.ภาณุ อารี มองว่าจะพัฒนาภาพยนตร์เพื่อความมั่นคง เราต้องพัฒนาฐานข้อมูลแบบเรียลไทม์ให้ได้ ต้องรู้ว่าโลกมองอะไรเพื่อใช้เป็นฐานการสร้างสรรค์

ภาพยนตร์คือความมั่นคง? ไทยต้องมียุทธศาสตร์รับมือ ผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจ

ขณะที่ ผศ.ดร.ปรีชา สาคร จากภาควิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้ร่วมประชุมวิชาการดังกล่าว มองว่ายังไม่เห็นภาพการพัฒนาภาพยนตร์ไทยในเชิงยุทธศาสตร์อย่างชัดเจน ท่ามกลางการไหล่บ่าของวัฒนธรรมจากอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลี และอิทธิพลของภาพยนตร์ฮอลลีวูด กลบกระแสภาพยนตร์ไทยที่กระทบจากดิจิทัลดิสรัปชั่นและโควิด-19ระบาด

ขณะเดียวกัน ผู้เขียนเอง เห็นพ้องด้วยกับดร.ฐณยศ , ดร.ปรีชา และผู้ร่วมประชุมวิชาการ ซึ่งการระดมความคิดความเห็นเพื่อหาทางรับมือและแก้ปัญหา

จากการศึกษายุทธศาสตร์ภาพยนตร์ไทย ฉบับที่ผ่านๆ มาขอเสนอโครงร่างยุทธศาสตร์พัฒนาภาพยนตร์ 
     
ด้วยเหตุที่ยุทธศาสตร์พัฒนาภาพยนตร์ฉบับที่ผ่านมา การทำงานไม่พัฒนาและไม่เกิดศักยภาพให้ก้าวเป็นอุตสาหกรรมอันเป็นความหวัง ตามนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้ จึงสมคารปรับยุทธ์ศาสตร์เสียใหม่

โครงร่างยุทธศาสตร์พัฒนาภาพยนตร์ไทย

แนวทางการดำเนินการ แบ่งเป็น ดังนี้
 1. ศึกษาปัญหา อุปสรรคและแก้กฎหมาย
 2.พัฒนาขีดความสามารถ 
 3. ส่งเสริมการรับรู้การเรียนและงานวิจัย

 1. ศึกษาปัญหา อุปสรรคและแก้กฎหมาย
1.1 จัดตั้งคณะกรรมการฯ ศึกษาปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้ภาพยนตร์ไทยไม่พัฒนา หรือไม่ได้รับการส่งเสริมอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งภายใน 1 ปี ต้องได้ข้อสรุป
1.2 จัดตั้งคณะกรรมการฯ ศึกษาแก้กฎหมาย เพื่อแก้ปัญหาและอุปสรรคการส่งเสริมภาพยนตร์ และออกเป็นกฎหมาย ภายใน 2 ปี
1.3 จัดตั้งสภาการส่งเสริมภาพยนตร์ ภายใน 1 ปี โดยคกก.ชุดแรกจำนวนกึ่งหนึ่งต้องมาจากตัวแทนวิชาชีพ นักวิชาการ และนิสิตนักศึกษาที่เรียนภาพยนตร์ มีวาระคราวละ 2 ปี


2.พัฒนาขีดความสามารถ
2.1 จัดตั้ง "เขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษการสร้างภาพยนตร์" ให้ดำเนินการจัดหาพื้นที่รองรับ ภายใน 1 ปี และสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 4 ปี เพื่อจัดระบบนิเวศการทำงานแบบสตูดิโอให้ได้มาตรฐานและการเป็นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่นำรายได้เข้าประเทศโดยตรงและการท่องเที่ยวโดยอ้อม
2.2 ลดหย่อนภาษีให้ผู้สร้าง ผู้ผลิต ผู้กำกับภาพยนตร์ ในระยะ 5 ปี เพื่อลดภาระต่างๆ ต่อลมหายใจ
2.3 สนับสนุนโรงภาพยนตร์ขนาดเล็ก "1 มหาวิทยาลัย 1 โรงภาพยนตร์" ภายใน 5 ปี  ทำให้เป็นระบบมาตรฐาน เน้นฉายภาพยนตร์ไทย จัดเก็บค่าชมในราคาถูกที่สุด เพราะพลังและเสียงคนรุ่นใหม่ จะทำวงการภาพยนตร์ไทยยั่งยืน

3. ส่งเสริมการรับรู้การเรียนและงานวิจัย
3.1 การสร้างการรับรู้และใช้ประโยชน์ในเรื่องของภาพยนตร์ของคนในประเทศ จะต้องเกิดขึ้นเพื่อหนุนนโยบาย Soft Power ด้วยภาพยนตร์ ให้ความรู้และสร้างการมีส่วนร่วมแก่ประชาชนทุกระดับ ตั้งแต่เด็กมัธยมต้นจนถึงโรงเรียนผู้สูงอายุ
3.2 จัดมหกรรม เวทีประกวด เวิร์คช้อปอย่างต่อเนื่องและหลากหลาย
3.3 ใช้ช่องทางสื่อดังเดิมและสื่อใหม่ต่างๆ ในการเผยแพร่ผลงานอย่างเป็นระบบ
3.4 ตั้งกองทุนวิจัยและพัฒนาภาพยนตร์ ศึกษาผลงานภาพยนตร์อย่างหลากหลาย

เหนืออื่นใด "ความเป็นชาติ" จะต้องสร้างเกราะภูมิคุ้มกัน ด้วยความเชื่อ ความภาคภูมิใจ ในสิ่งที่คนในชาติเดียวกันสร้างขึ้น ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งการใช้ "ภาพยนตร์" จะตอบโจทย์ อย่างที่ สหรัฐอเมริกา เกาหลี จีนและอินเดีย ส่งออกทางวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง

อย่างที่ทราบ ภาพยนตร์ เป็นสื่อและผลงานศิลปะที่รวมหลากหลายศาสตร์ศิลปะมาร่วมกัน สามารถต่อสู้กับภาวะดิจิทัลดิสรัปชั่นได้ และเป็นอุตสาหกรรมบันเทิงขนาดใหญ่ของโลก ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวอีกด้วย

(ขอบคุณข้อมูลและภาพ : สถาบันเอเชียศึกษาดร.ฐณยศ โล่ห์พัฒนานนท์ )