มาตรการ COVID Free Setting เข้มข้น Step by Step จะดีกว่าไหม?
การคลายล็อกต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบ ทั้งจากภาคประชาชนและภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ภาคประชนส่วนหนึ่งจะต้องยึดการเว้นระยะ หลีกเลี่ยงการรวมตัวของคนจำนวนมาก ทำกิจกรรมแต่พอดี ใส่หน้ากาก หมั่นล้างมือ ส่วนภาคเอกชนก็ต้องยกการ์ดสูง ด้วยมาตรการ COVID Free Setting
จากการเข้าร่วมประชุม กรมอนามัย ในวันอังคารที่ 14 ก.ย.2564 เพื่อฟังการชี้แจงและขับเคลื่อนแนวทางปฏิบัติสำหรับร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม และร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด ซึ่งได้รับแจ้งว่า กรมอนามัย จะคุมเข้มห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) จะเปิดให้บริการต่อไปได้นั้น ต้องขอความปฎิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 มาตรการความปลอดภัยองค์กร หรือ COVID Free Setting อย่างเคร่งครัด หากจะใช้บริการในกิจการเสี่ยง ได้แก่ ร้านอาหาร ร้านเสริมสวย ตัดผม คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม ต้องแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนครบโดส หรือประวัติการติดเชื้อมาก่อนในช่วง 1-3 เดือน หรือตรวจ ATK ผลเป็นลบ ระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน ตั้งแต่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป
3 Step ปฏิบัติการ COVID Free Setting อย่างเข้มข้น
การคลายล็อกต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบ ทั้งจากภาคประชาชนและภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ภาคประชนส่วนหนึ่งจะต้องยึดการเว้นระยะ หลีกเลี่ยงการรวมตัวของคนจำนวนมาก ทำกิจกรรมแต่พอดี ใส่หน้ากาก หมั่นล้างมือ ส่วนภาคเอกชนก็ต้องยกการ์ดสูง ด้วยมาตรการ COVID Free Setting ประกอบด้วย ความปลอดภัย 3 Step ดังนี้
Step 1 ด้านสิ่งแวดล้อมปลอดภัย (COVID Free Environment) อาทิ การทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมทุก 1-2 ชั่วโมง หมั่นทำความสะอาดสินค้า ระบบปรับอากาศทุก 3 เดือน ใช้ระบบกรองอากาศ HEPA หรือติดตั้งอุปกรณ์กรองอากาศเฉพาะที่ รวมทั้งเข้มงวดมาตรการห้ามการรวมตัวกันจุดใดจุดหนึ่ง
Step 2 ด้านพนักงานปลอดภัย (COVID Free Personnel) มีภูมิคุ้มกัน โดยพนักงานทุกคนฉีดวัคซีนครบโดส (2 เข็ม) หรือเคยมีประวัติการติดเชื้อโควิดมาก่อนอยู่ในช่วง 1-3 เดือน และให้คัดกรองความเสี่ยงพนักงานทุกวันด้วยระบบไทยเซฟไทย รวมถึงจัดหา ATK ให้พนักงานตรวจทุก 7 วัน พร้อมกำชับให้งดรวมกลุ่มขณะปฏิบัติงาน ระหว่างพัก และงดกินอาหารร่วมกัน และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล
Step 3 ด้านผู้ใช้บริการปลอดภัย (COVID Free Customer) ให้คัดกรองความเสี่ยงก่อนเข้าร้านด้วยแพลตฟอร์ม “ไทยเซฟไทย” หรือแอพพลิเคชันอื่นที่ทางราชการกำหนด
ทั้งลูกจ้างและลูกค้า ต้องวัคซีนครบโดส-ตรวจ ATK ทุก 7 วัน พร้อมจริงหรือ?
จำนวนผู้ได้รับวัคซีนสะสม ถึงวันที่ 12 ก.ย.2564 รวม 40,276,356 โดส ใน 77 จังหวัด เข็มที่ 1 สะสม 27,303,700 ราย ผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 (ครบตามเกณฑ์) สะสม 12,357,581 ราย แต่หากพิจารณาจำนวนผู้ให้บริการต้องการฉีดวัคซีนตามเกณฑ์ (2 เข็ม) โดยเฉลี่ย ก็ผ่าน 10% มาเพียงเล็กน้อย จังหวัดที่ฉีดวัคซีน เข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 แบ่งเป็น กรุงเทพฯ และปริมณฑล เข็มที่ 1 จำนวน 66.8% เข็มที่ 2 (ครบโดส ) เพียง 17% ส่วนจังหวัดอื่น ๆ 71 จังหวัด เข็มที่ 1 ราว 22.2% เข็มที่ 2 (ครบโดส ) เพียง 8.2%
มาตรการความปลอดภัยองค์กร หรือ COVID Free Setting โดยเฉพาะการตรวจหาเชื้อโควิดให้พนักงานผ่านชุดตรวจ ATK ทุก 7 วันนั้น เป็นต้นทุนที่ค่อนข้างสูงสำหรับผู้ประกอบ และก็ไม่ใช่จะหาซื้อได้ง่าย ๆ รัฐบาลก็ยังไม่สามารถสนับสนุนการแจกชุดตรวจให้ผู้ประกอบการและประชาชนได้
แต่ประเด็นที่สำคัญและต้องคิดให้มาก ก็คือ เราต้องยอมรับว่าเรื่องชุดตรวจ ATK ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทย คนบางกลุ่มยังไม่รู้ว่าชุดตรวจ ATK คืออะไร ใช้อย่างไร มีประโยชน์อย่างไร หากกำหนดวันบังคับใช้มาตรการ COVID Free Setting เข้มข้น 100% ทั้ง 3 Step ในวันที่ 1 ต.ค.นี้ คงโกลาหลวุ่นวายอย่างแน่นอน
หากพิจารณาในแง่ความพร้อม ต้องยอมรับทั้งผู้ประกอบการ ภาคเอกชน และภาครัฐก็ยังไม่พร้อมแน่นอน การตั้งเงื่อนไขที่ต้องให้พนักงานและลูกค้า (ร้านอาหาร ธุรกิจกลุ่มเสี่ยง) ต้องได้รับวัคซีนครบโดส (2 เข็ม) ก่อน ขณะที่จำนวนผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนตามเกณฑ์ (2 เข็ม) เฉลี่ยยังได้แค่ 12-15% ซึ่งเหลืออีกเพียง 15 วัน การบังคับใช้มาตรการความปลอดภัยองค์กร (COVID Free Setting) อย่างเข้มงวด คงยากที่จะบังคับใช้ให้ได้อย่างเกิดประสิทธิภาพ
มาตรการบังคับใช้ Step By Step จะดีกว่าไหม
ในเมื่อ มติที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ให้เริ่มใช้มาตรการ COVID Free Setting วันที่ 1 ต.ค. โดยขอให้พิจารณาให้ยืดเวลาเตรียมความพร้อม บุคลากรได้รับวัคซีนต้านโควิดครบตามเกณฑ์ครบถ้วน และ ภาครัฐและเอกชน สามารถที่จะหาชุดตรวจ ATK เพื่ออำนวยความสะดวกในการตรวจพนักงานทุกสัปดาห์ รวมทั้ง สามารถจัดคู่มือหรืออื่นใด ให้ประชาชนใช้หลักฐานการฉีดวัคซีนครบโดสหรือ “บัตรสีเขียว” หลักการติดโควิด-19 และมีภูมิคุ้มกันแล้ว หรือ “บัตรสีเหลือง” และเอกสารผู้ที่มีผลเป็นลบจากการตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจแอนติเจนแบบรู้ผลเร็ว (ATK) ภายใน 7 วันอย่างเป็นทางการ
แล้วทำไม เราไม่พิจารณาดำเนินการ COVID Free Setting ซึ่งมี 3 Step ให้เข้มข้นที่ละ Step
โดยวันที่ 1 ต.ค. ให้ปฏิบัติ Step 1 ด้านสิ่งแวดล้อมปลอดภัย อย่างเข้มข้น เจ้าหน้าที่ออกตรวจการปฏิบัติอย่างจริงจังและเข้มงวด หลังจากที่ประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนครบโดส 40% ของประชากรและแต่ละจังหวัด รัฐบาลจัดหาชุดตรวจให้ผู้ประกอบการและประชาชนเข้าถึงในต้นทุนที่รับได้ การปฏิบัติ Step 2 ด้านพนักงานปลอดภัย กรมอนามัยก็สามารถประกาศวันบังคับให้ผู้ประกอบการปฏิบัติการ Step 2 และ Step 3 ด้านผู้ใช้บริการปลอดภัย ตามลำดับ
เพียงแค่การยืดเวลาเตรียมความพร้อม สักระยะหนึ่ง ตามความเหมาะสม มาตรการ COVID Free Setting ก็จะสามารถนำมาบังคับใช้อย่างเข้มข้น บังคับให้ปฏิบัติได้จริง และเกิดประสิทธิภาพ และอย่างยั่งยืน จะดีกว่าไหมครับ!!