7. การบริหารรัฐกิจ: โลกกว้างแต่ทางแคบ

7. การบริหารรัฐกิจ: โลกกว้างแต่ทางแคบ

เมื่อพิจารณาการระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรงในระลอกหลังเดือนเมษายน 2564 เราได้เห็นสมรรถนะของรัฐไทยได้อย่างแจ่มชัดว่า เป็นระบบที่ไม่สามารถรองรับวิกฤติและปัญหาเฉพาะหน้าขนาดใหญ่

ระบบราชการไทยไม่ยืดหยุ่น ในขณะที่นักการเมืองฝ่ายบริหารไม่สามารถเป็นผู้นำความร่วมมือระหว่างหน่วยราชการต่างๆ แม้จะเป็นรัฐบาลทีมเดียวกัน ผลลัพธ์ก็คือคนไทยตกอยู่ในสถานะที่ลำบากยากแค้นเป็นที่สุด 
    "รัฐ" ในที่นี้หมายถึง "ระบบราชการ" บวกกับ "นักการเมือง" ที่เข้ามาทำหน้าที่บริหาร รัฐเป็นองค์ประกอบใหญ่ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ในปัจจุบันรายได้อื่นของประเทศจากการท่องเที่ยวเกือบเป็นศูนย์ รายจ่ายจากการบริโภคลดลงเพราะประชาชนมีรายได้ลดลง การลงทุนของเอกชนก็ลดลง การส่งออกกำลังมีทีท่าว่าจะกระเตื้องขึ้นบ้าง 
    ดังนั้น การใช้จ่ายของรัฐจึงนับเป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญ ซึ่งรัฐบาลได้กู้เงินมาเพื่อบรรเทาปัญหาโควิด-19 เป็นจำนวนถึง 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อไปสมทบกับงบประมาณอีกปีละประมาณ 3 ล้านล้านบาท แต่การเบิกจ่ายของภาครัฐก็ยังล่าช้าไม่ทันต่อความต้องการของประชาชน 
    ขนาดของรัฐไทยขยายตัวขึ้นตามลำดับ สังเกตได้จากขนาดของงบประมาณเปรียบเทียบกับ GDP จากร้อยละ 15 ในปี 2547 มาเป็นเกือบร้อยละ 18 ในปี 2562 แต่รายจ่ายด้านการลงทุนของรัฐมีค่อนข้างน้อยไม่สามารถผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างรวดเร็ว 

ในปีงบประมาณ 2564 มียอดการลงทุนเพียงร้อยละ 20 ของงบประมาณทั้งหมดหรือร้อยละ 4 ของ GDP ซึ่งต่ำกว่าระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ซึ่งต้องมีรายจ่ายการลงทุนต่องบประมาณไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 เพื่อรักษาคุณภาพการลงทุน ตั้งแต่ปี 2557-2560 ประมาณร้อยละ 40 เป็นรายจ่ายประเภทกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ซึ่งไม่สามารถช่วยยกระดับประสิทธิภาพการผลิตของเศรษฐกิจได้

การลงทุนของรัฐยังให้ประสิทธิผลจำกัด แยกเป็นส่วนๆ ตามกระทรวง ไม่ได้เป็นโครงการที่บูรณาการทั้งในมิติพื้นที่ เวลา และคุณภาพในระดับสูงพอที่จะให้ประสิทธิภาพประสิทธิผล หลายโครงการมีปัญหาด้านความคุ้มค่าในทางเศรษฐกิจ และมีหลายกรณีที่ไม่เชื่อมโยงกับทิศทางการพัฒนาของโลกและเชื่อมต่อไม่ถึงแพลตฟอร์มระดับสากล (สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, 2564) 
    รายจ่ายสำหรับการบริหารจัดการภาครัฐของไทย ที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่และมีแนวโน้มสูงขึ้นตั้งแต่ก่อนการระบาดของโควิด-19 ยังก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการคลัง รายจ่ายของรัฐจำนวนมากใช้ไปกับการจ้างงานในปี 2550 ไทยมีจำนวนข้าราชการ 2.5 ล้านคนและเพิ่มเป็น 3 ล้านคนในปี 2560 ในโครงสร้างงบประมาณปี 2564 รวมทั้งสิ้น 3.2 ล้านล้านบาทเป็นงบบุคลากรถึงร้อยละ 19.5 หากรวมรายจ่ายด้านบุคลากรและสวัสดิการบุคลากรภาครัฐที่กระจายอยู่ในงบอื่นๆ เช่น งบอุดหนุนรายจ่ายอื่นและงบกลางจะทำให้รายจ่ายด้านบริหารจัดการภาครัฐเท่ากับร้อยละ 71.2 ของงบประมาณรายจ่ายทั้งหมด
    โอกาสที่รัฐจะลงทุนขนาดใหญ่ได้ก็ต้องอาศัยเงินกู้เท่านั้น อีกทั้งรัฐยังมีระเบียบขั้นตอนและมีกฎหมายที่ล้าหลังอยู่มาก ซึ่งหากมีการสังคายนาก็จะลดต้นทุนการจัดการของรัฐได้อีกมาก ในปี 2560 การยกเลิกกฎหมายที่ล้าหลังในส่วนการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศสามารถลดต้นทุนรัฐและเอกชนได้ปีละ 1.8 พันล้านบาท TDRI ระบุว่าหากลด 1,094 กระบวนงานในการอนุญาต 198 เรื่อง จะลดต้นทุนไปได้อีก 1.3 แสนล้านบาทต่อปี  
    

ในขณะเดียวกันรัฐยังจัดเก็บรายได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ มีผู้เลี่ยงภาษีด้วยวิธีต่างๆ ทำให้ฐานรายได้ของรัฐจำกัดแค่คนบางกลุ่ม อีกทั้งการลดหย่อนภาษีก็ขาดประสิทธิภาพ ขาดกลไกตรวจสอบและไม่สามารถพัฒนาให้เกิดประโยชน์เกิดความคุ้มค่าได้ รัฐวิสาหกิจก็ยังมีช่องว่างในการพัฒนาอีกมาก (สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, 2564)

     ระบบราชการของไทยเป็นระบบที่มีกฎระเบียบมากมายเพื่อลดการฉ้อราษฎร์บังหลวง แต่ในความเป็นจริงคอร์รัปชันในภาครัฐเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในด้านมูลค่าและวิธีการพลิกแพลงให้พิสดารซับซ้อนขึ้น หรือแม้กระทั่งเปลี่ยนนโยบายให้เอื้อประโยชน์กับพวกพ้องมากขึ้น 
    ใน 2-3 ปีที่ผ่านมายังลามไปถึงส่วนราชการและองค์กรที่เกี่ยวข้องที่น่าจะเป็นปราการสุดท้ายของการรักษาความซื่อสัตย์ เช่นสถาบันการศึกษา องค์กรทางศาสนา หน่วยงานที่ดูแลผู้พิการ เป็นต้น ดัชนีคอร์รัปชันของไทยเทียบกับนานาประเทศถดถอยลงตามลำดับ จากลำดับที่ 76 (ทั้งหมด 168 ประเทศ) ในปี 2558 ตกลงเป็นลำดับที่ 104 (ทั้งหมด 180 ประเทศ) 
    ในปี 2563 รายได้และค่าใช้จ่ายของรัฐนอกจากจะกระทบการหมุนเวียนของรายได้การลงทุนในประเทศแล้ว ยังมีอานุภาพในการปรับ/บิดเบือนโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมอีกด้วย ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ที่รัฐใช้มาตรการการคลังที่หลากหลายโยกย้ายทรัพยากรจากภาคเกษตรมาสู่ภาคอุตสาหกรรม ในช่วงก่อนมีนโยบายประชานิยม 
    ในปัจจุบันรัฐก็พยายามโยกย้ายทรัพยากรที่รัฐกำกับเกือบทั้งหมดไปลงทุนที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกจากเงินภาษีของคนทั้งประเทศ ดังนั้นโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกจะต้องถูกจับตามองและควรถูกคาดหวังให้มีความชัชวาลอย่างยั่งยืน
    ส่วนการกระจายอำนาจจากรัฐบาลกลางสู่ท้องถิ่นเพื่อขยายบริการให้แก่ประชาชนให้ทั่วถึงยิ่งขึ้นนั้นรุดหน้ามาได้ระยะหนึ่ง ในปี 2542 ก็ต้องประสบกับปัญหายูเทิร์นเมื่อรัฐบาลทักษิณปรับระบบให้เกิดผู้ว่า CEO ทำให้สามารถสั่งการโดยตรงจากส่วนกลาง ต่อมารัฐประหารอีกสองครั้งในปี 2549 และ 2557 ก็ทำให้การเลือกตั้งของท้องถิ่นต้องหยุดชะงักไปเกือบ 10 ปี ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวรายได้ของรัฐบาลท้องถิ่นเพิ่มขึ้นน้อยมากเมื่อเทียบกับในช่วงเวลาก่อนหน้า 
    นอกจากนั้นเป้าหมายรายได้ของท้องถิ่นในปัจจุบันที่ร้อยละ 29 ก็ยังห่างจากเป้าหมายแต่แรกเริ่มตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ที่ร้อยละ 35 มากและถ้าเทียบกับประเทศจีนซึ่งเป็นการปกครองแบบรัฐเดียวเหมือนประเทศไทย จีนมีเป้าหมายที่ร้อยละ 40 
    เมื่อมาดูแหล่งรายได้ของรัฐบาลท้องถิ่นก็จะเห็นว่ารัฐบาลไทยชะลอการขยายฐานภาษีที่เก็บจากประชาชนในท้องถิ่น ลักษณะของการให้เงินอุดหนุนยังทำให้รายได้ท้องถิ่นต่อหัวในเมืองสูงกว่าในชนบท (ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์, 2564) บทบาทของรัฐไทยที่ผ่านมาจึงเป็นบทบาทที่ดูดซับทรัพยากร (Extractive) เพื่อไปเน้นความเจริญเติบโตในเมืองและอุตสาหกรรมมากกว่าการเกื้อหนุนให้เกิดการพัฒนาอย่างทั่วถึง (Inclusive) 
    ในขณะที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด ประสิทธิภาพของรัฐก็มีแนวโน้มต่ำลงทั้งในเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย คุณภาพระบบราชการและคอร์รัปชัน การลงทุนภาครัฐถดถอยลง (สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์, 2564) แต่ขนาดของรัฐบาลวัดจากจำนวนข้าราชการกลับใหญ่ขึ้น ในขณะเดียวกันคนรุ่นใหม่เรียกร้องความโปร่งใส ความเสมอภาคมากขึ้น และยังมีความผันผวนทั้งด้านเศรษฐกิจและภัยพิบัติในโลกมากขึ้น พรรคการเมืองไทยก็ยังแก่งแย่งอำนาจโดยวิธีเดิม หาผลประโยชน์จากระบบราชการแบบเดิมๆ 
เส้นทางไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ของไทยคงไม่ใช่ซูเปอร์ไฮเวย์แน่นอน!!