6. ประเทศไทย iCARE "สู่โลกาภิวัตน์"
ในบทความ "ประเทศไทย iCARE" 5 ตอนที่ผ่านมา เราเห็นการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม สาเหตุหนึ่งก็คือโลกาภิวัตน์หรือการเชื่อมโยงกับนานาประเทศผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งด้านการค้า การลงทุน การศึกษา การเสพสื่อต่างๆ และการเดินทางท่องเที่ยว
การเปลี่ยนแปลงในด้านเศรษฐกิจซึ่งดูเหมือนจะออกตัวได้เร็วในช่วงการพัฒนาอุตสาหกรรมแต่ก็มาแผ่วลงและมาติดกับดักรายได้ปานกลาง ในขณะที่สังคมไทยทั้งในเมืองและชนบทตามติดกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว
การสื่อสารอย่างไร้พรมแดนของเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ระบบโลกาภิวัตน์หรือเชื่อมต่อกับนานาประเทศอย่างเต็มตัวมาหลายทศวรรษแล้ว และเข้าสู่ระบบพาณิชย์ทั้งในเมืองและในชนบท ทำให้คนไทยเข้าสู่ระบบเงินตราและตลาดอย่างสมบูรณ์และทำให้ประเทศไทยมีอัตราการเปิดประเทศสูงวัดจากมูลค่าการค้า (การส่งออกและการนำเข้าหารด้วย GDP) ในปี 2562 สูงถึงร้อยละ 110 แต่ยังต่ำกว่ามาเลเซีย (ร้อยละ 123) และเวียดนาม (ร้อยละ 210)
สู่พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เมื่อย่างเข้าทศวรรษที่ 2550 สื่อออนไลน์เริ่มได้รับความนิยมในการติดต่อสื่อสารกันในประเทศไทย พอถึงปี 2563 ประเทศไทยมีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือถึง 93 ล้านเครื่อง และมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและปฏิบัติการบนโซเซียลมีเดียถึง 52 ล้านคน สื่อออนไลน์ยังมีอิทธิพลมหาศาลต่อการค้าและธุรกิจในอนาคต สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (2564) พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่สนใจความโปร่งใสของผู้ขายที่เสนอบนโซเชียลมีเดีย ได้แก่ การยอมรับความผิด การตอบลูกค้าอย่างซื่อสัตย์ และการแสดงราคา เป็นต้น การวิจัยของ PwC ระบุว่าภายในปี 2573 ร้อยละ 45 ของรายได้ทั่วโลกจะมาจากการสร้างสินค้าหรือบริการที่ถูกกระตุ้นด้วยการใช้ AI
วนเวียนในทวิภพ การเข้ามาของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสมัยใหม่ทำให้มนุษย์อยู่กับตัวเองมากขึ้น สามารถทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา ทำให้พื้นที่ทำงานกลายเป็นโลกไร้พรมแดนและเส้นแบ่งระหว่างการทำงานและการพักผ่อนจางลง เช่น การทำงานในร้านกาแฟและถ่ายรูปของตนลง Instagram คนรุ่นใหม่ใช้สื่อออนไลน์เป็นเครื่องมือหาข้อมูลและตัดสินใจในการเดินทางและการเลือกถิ่นที่อยู่อาศัย ใช้แสวงหาความบันเทิงมากขึ้น คนไทยรุ่นใหม่จึงมีแนวโน้มเป็นมนุษย์แพลตฟอร์มและใช้ชีวิตอยู่บนโลกแพลตฟอร์มหรือโลกเสมือนมากขึ้นหรืออาจเรียกได้ว่าวนเวียนอยู่ใน “ทวิภพ” ซึ่งเป็นฉากทัศน์หนึ่งของภาพอนาคตคนเมือง 4.0 ของประเทศไทยในอีก 20 ปี ข้างหน้า (อภิวัฒน์ รัตนวราหะ และคณะ 2563)
สื่อใหม่ โอกาสใหม่ Mintel ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำของโลกด้านข้อมูลตลาดพบว่า ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกพฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภคคือ ต้องการประหยัดเวลา ประหยัดแรงงาน และต้องการความสะดวกอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
งานวิจัยของวิทยาลัยการจัดการ 2561 มหาวิทยาลัยมหิดลพบว่า 5 ธุรกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวสูงในอนาคต ได้แก่ 1) ธุรกิจที่ผู้อื่นสามารถทำแทนได้ เช่น บริการทำความสะอาดบ้าน สั่งอาหาร และซื้อของ 2) ธุรกิจที่ไม่ต้องขยับ จับหรือถือเอง เช่น สินค้าหรือบริการอัตโนมัติ 3) ธุรกิจที่พร้อมใช้งานทันที เช่น อาหารพร้อมรับประทาน 4) ธุรกิจร่วมมือร่วมใจ เช่น ชุมชนออนไลน์ 5) ธุรกิจที่เน้นการฟัง เช่น พอดแคสต์ และวิดีโอคอนเทนท์
จากการศึกษาเรื่อง WI-FI สลัม ของแผนงานคนไทย 4.0 พบว่า สมาชิกชุมชนแออัดได้ประโยชน์จากการใช้สื่อออนไลน์ในการทำมาหากินทั้งเด็ก (ใช้ขายสินค้าออนไลน์) วัยรุ่น (ขายสินค้าและหางาน) และผู้สูงวัย ซึ่งแม้จะอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ก็ใช้คำสั่งเสียง (Voice command) โทรศัพท์มือถือเป็นสื่อที่ให้ทั้งความบันเทิง ความสุข หรือแม้แต่ความทุกข์ (พงศกร 2563) และมีอิทธิพลต่อชีวิตคนไทยรุ่นใหม่ทุกระดับรายได้มากที่สุด
ตามล่าหายูนิคอร์น การเข้าสู่ธุรกิจยุคหลังอุตสาหกรรม (Post industrial) เป็นความฝันของทุกประเทศในอาเซียน รัฐบาลไทยโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้มีทิศทางกลยุทธ์ที่สร้างบริษัทรุ่นใหม่ที่เรียกกันว่าสตาร์ทอัพ (Start-up) ซึ่งเป็นบริษัทที่พัฒนาตนเองบนฐานเทคโนโลยีดิจิทัลที่สามารถสร้างธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ (New business model) เช่น อำนวยความสะดวกด้านธุรกรรมให้เครือข่ายเพื่อการผลิต ขาย และกระจายสินค้าในรูปของแพลตฟอร์ม e-Commerce หรือแพลตฟอร์มเศรษฐกิจแบ่งปัน เช่น Airbnb Grab หรือแพลตฟอร์มแบ่งปันข้อมูล เช่น Tripadvisor
เมื่อวิธีคิดใหม่ๆ สบโอกาสที่ถูกต้อง ธุรกิจสตาร์ทอัพเหล่านี้ก็จะสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ในปัจจุบันมีการแบ่งธุรกิจสตาร์ทอัพตามขนาดและความสามารถในการระดมทุนหรือขายกิจการต่อในมูลค่าที่สร้างกำไรมหาศาล เช่น ระดับยูนิคอร์น (Unicorn) จะมีมูลค่าการลงทุนกว่าพันล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนเดคาคอร์น (Decacorn) จะมีขนาดใหญ่กว่าหมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ และเฮคโตคอร์น (Hectocorn) จะใหญ่กว่าแสนล้านเหรียญสหรัฐฯ
ในการจัดอันดับยูนิคอร์น 10 อันดับแรกของอาเซียนพบว่า สิงคโปร์ติด 3 อันดับ ได้แก่ ลำดับ 1 Grab HyalRoute (ลำดับ 4) และ trax (ลำดับ 8) ส่วนอินโดนีเซียติดอันดับถึง 5 อันดับ ได้แก่ gojek (ลำดับ 2) tokopedia (ลำดับ 3) bukalapak (ลำดับ 5) Traveloka (ลำดับ 6) และ OVO (ลำดับ 7)
ส่วนประเทศไทยเพิ่งจะได้ยูนิคอร์นตัวแรกเมื่อปี 2564 คือ FLASH EXPRESS ซึ่งเป็นกิจการโลจิสติกส์ขนส่งเอกชน สามารถระดมทุนจากกองทุนสิงคโปร์และบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยได้ถึง 150 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 4,700 ล้านบาท ในปัจจุบันบริษัทนี้มียอดจัดส่งพัสดุแต่วันร่วม 2 ล้านชิ้น และมีบริการคลังสินค้าแบบครบวงจร
โลกาภิวัตน์ถดถอย? การระบาดของโควิด-19 สั่นสะเทือนกระแสโลกาภิวัตน์ของโลกเพราะความล้มเหลวของรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมป์ที่จะรับมือกับวิกฤติโรคระบาด ทำให้อำนาจและบทบาทผู้นำของสหรัฐอเมริกาถูกถ่ายโอนไปยังฝั่งตะวันออกคือประเทศจีน ภายใต้วิกฤต
โควิด-19 รัฐบาลในแต่ละประเทศจะคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศตนเองมากขึ้น เช่นในกรณีของการกักตุนวัคซีน ประชาชนในประเทศผู้นำของโลกาภิวัตน์ก็อาจจะเรียกร้องการเยียวยาและการปกป้องจากรัฐบาลของตนมากขึ้น ผู้นำนานาประเทศอาจจะมีพฤติกรรมในการรวมศูนย์อำนาจมากขึ้น มีแนวโน้มที่จะดำเนินนโยบายชาตินิยมมากขึ้น
ประเทศพัฒนาแล้วจะมีแนวโน้มที่จะย้ายอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์กลับมาอยู่ในประเทศของตน แม้ว่าจะมีสัญญาณของการถดถอยของโลกาภิวัตน์ แต่การแทรกซึมของเทคโนโลยีเข้าไปในทุกอณูของชีวิตน่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนที่รุนแรงพอที่กระแสโลกาภิวัตน์ดำเนินต่อไปได้ แต่อาจจะมีรูปแบบและความเข้มแข็งที่ลดลงในบางประเด็น
ห่วงก็แต่ว่ารัฐบาลไทยจะรับมือกับความผันผวนและรุนแรงได้หรือไม่? ติดตามกันต่ออาทิตย์หน้าค่ะ