สี จิ้นผิง กับแนวความคิด เจริญรุ่งเรืองร่วมกัน (Common Prosperity)
แนวคิดสังคมนิยมจีนยุคใหม่ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ขจัดความยากจนให้ประชาชนมีความอยู่ดีกินดี
สร้าง “ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน” หรือ Common Prosperity โดยการกระจายความมั่งคั่งให้กับประชาชนทุกคนในประเทศอย่างเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมระหว่างกลุ่มคนรวยและคนจน เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืนและก้าวผ่านจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปเป็นประเทศที่มีรายได้สูง เดินหน้าสู่สังคมนิยมจีนยุคใหม่ภายในปี 2592
การสร้างความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน (Common Prosperity) จะเกิดขึ้นได้ต้องมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีคุณภาพด้วยการวิจัยและพัฒนา ปรับปรุงประสิทธิภาพการการผลิต (Productive Growth) ทั้งในส่วนของที่ดิน แรงงาน เครื่องจักร และผู้ประกอบการ จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้ความสนใจกับมิติอื่นๆ มากขึ้น เช่น การเติบโตสีเขียว (Green Growth) ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม หรือการเติบโตที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของแรงงาน เป็นต้น และจะต้องเป็นการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม (Inclusive Growth) มีการกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกันของประชาชนทุกชนชั้น โดยมีเป้าหมายให้ชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นหนึ่งเท่าตัวภายในปี 2568 เพื่อที่สร้างเสถียรภาพทางเเศรษฐกิจและเติบโตได้อย่างยั่งยืน เฉลี่ยที่ 4-5% ในช่วง 10-15 ปีข้างหน้า แต่หากไม่มี เศรษฐกิจจะเติบโตต่ำที่ 2-3% เท่านั้น
ดังนั้นรัฐบาลจีนจึงเข้ามาควบคุมและออกกฎระเบียบต่างๆ เพื่อที่จะบรรลุการสร้างความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันด้วยการเพิ่มส่วนแบ่งให้แก่ผู้มีรายได้ปานกลางผ่านการกระจายภาษี ลดความไม่สมดุลระหว่างเมือง-ชนบทและภูมิภาค และปรับปรุงกฎระเบียบ เช่น การต่อต้านการผูกขาด การต่อต้านการทุจริต เพิ่มความปลอดภัยของข้อมูลผู้บริโภค เป็นต้น และได้พัฒนากลไกการให้สินเชื่อที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดความเสี่ยงด้านสินเชื่อ รวมทั้งให้สถาบันการเงินทดสอบภาวะวิกฤต เพื่อประเมินความแข็งแกร่งของสถาบันการเงินหากมีวิกฤติการเงินที่รุนแรง ซึ่งจะช่วยรักษาเสถียรภาพของตลาดเงินและลดความเสี่ยงระบบการเงิน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อหลายอุตสาหกรรม ได้แก่ ธุรกิจการเงิน อสังหาริมทรัพย์ การศึกษา เทคโนโลยี ได้แก่ ธุรกิจ e-commerce และธุรกิจเกมออนไลน์ เป็นต้น
ธุรกิจน้ำมันและถ่านหิน ซึ่งนักลงทุนที่อยู่ในตลาดหุ้นได้รับผลกระทบจากการที่ดัชนีหลักต่างๆปรับตัวลง อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทุกอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบเชิงลบ แต่อุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จากแนวคิดและการส่งเสริมของรัฐบาลจะเป็นอุตสาหกรรมที่รองรับเศรษฐกิจใหม่ ได้แก่ เทคโนโลยีชีวภาพ พลังงานทางเลือก รถยนต์ไฟฟ้า และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิตอล เช่น โครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูล โครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการใช้งานของเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ และโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นนวัตกรรมใหม่ที่สนับสนุนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เป็นต้น
ความพยายามในการออกมาตรการและข้อบังคับของรัฐบาลจีน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน แต่ได้สร้างความเสี่ยงด้านกฎระเบียบ (Regulatory Risk) ให้แก่นักลงทุน ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนในจีน ซึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างได้รับผลกระทบ เช่น Alibaba Tencent Didi เป็นต้น แต่การจัดระเบียบเป็นการจัดการ เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กสามารถเติบโตได้และมีความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งจะเกิดผลดีต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการลงทุนในระยะยาว
โดยนักลงทุนจะต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้นในการลงทุนในจีน เนื่องจากฏระเบียบต่างๆ นั้นอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัทที่ถูกกระทบ ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มธุรกิจโทรคมนาคม ที่ ARPU (Average Revenue per User) หรือ รายได้เฉลี่ยของผู้ให้บริการต่อลูกค้าหนึ่งคน และกลุ่มธนาคารที่อัตราการกำไรจากดอกเบี้ยถูกกดดันให้ลดลงต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา