ไขความลับปัจจัยสู่ความสำเร็จของบริษัทชั้นนำ

ไขความลับปัจจัยสู่ความสำเร็จของบริษัทชั้นนำ

เป็นเรื่องที่ทราบกันดีว่าการระบาดของโควิด-19 ที่กินเวลาไปมากกว่า 18 เดือนแล้วนั้นสร้างผลกระทบต่อทุกภาคส่วนและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคม บริษัททั่วโลกล้วนเผชิญกับความท้าทายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เราได้เห็นข่าวความกังวลต่อปัญหาหนี้สินของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ในจีนที่อาจจะสร้างความกังวลว่าจะเป็นวิกฤตการเงินครั้งใหม่ นอกจากนี้ยังได้เห็นการปรับตัวของบริษัทเพื่อให้อยู่รอดไม่เพียงแต่เพื่อผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้แต่เพื่อความยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งเรื่องนี้มีความน่าสนใจและสำคัญต่อนักลงทุนในการเลือกบริษัทที่จะลงทุนหลังจากนี้ เราจะมีวิธีคัดเลือกหรือประเมินบริษัทที่จะประสบความสำเร็จระยะยาวอย่างไร ปัจจัยใดที่บริษัทเหล่านั้นจำเป็นต้องมี โดยเราได้รวบรวมมุมมองจากนักวิเคราะห์ที่มีประสบการณ์ของ Julius Baer เพื่อไขความลับของบริษัทที่ประสบความสำเร็จเหล่านี้

Resilience ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จ

คำว่า Resilience หรือความหยืดหยุ่น ความสามารถในการฟื้นตัวจากเรื่องต่างๆ หรือการล้มแล้วลุกได้อย่างแข็งแรง ถูกใช้อย่างแพร่หลายมากในช่วงที่ผ่านมาและกลายเป็นทักษะที่จำเป็นของทั้งบุคคลและบริษัทเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ ผู้บริหารของบริษัทจำนวนมากได้พูดถึงคำนี้ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องที่พูดง่ายกว่าทำ ซึ่งปัจจัยสำคัญที่จะบอกว่าบริษัทเหล่านั้นเป็นบริษัทที่เป็น Resilient company อย่างแท้จริงหรือไม่คือ นวัตกรรม (Innovation) ไม่ว่าจะด้านผลิตภัณฑ์หรือบริการและการบริหารงาน หรือ กระบวนการทำงานของบริษัท ทั้งองค์กรต้องขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ซึ่งเราพบว่าบริษัทที่มีสินค้า หรือ บริการที่มีนวัตกรรมชั้นสูงจะมีความได้เปรียบในการแข็งขันและกีดกันคู่แข่งในการเข้ามาแย่งชิงตลาด ส่งผลไปยังอำนาจในการกำหนดราคาสินค้าหรือบริการ

นอกจากนี้นวัตกรรมก็ช่วยให้ต้นทุนนั้นมีประสิทธิภาพจึงส่งผลให้บริษัทเหล่านี้มีการเติบโตที่ดีกว่ามีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่า นอกจากนี้บริษัทที่มีนวัตกรรมมักจะเปิดกว้างทางด้านความคิดทั้งผู้บริหารและพนักงานทำให้มีความยืดหยุ่นในการปรับตัวต่อสถานการณ์ต่างๆ ได้ดีกว่าทั้งในช่วงเวลาที่ดีและไม่ดี อย่างไรก็ตามการสร้างบริษัทที่มีความหยืดหยุ่นแบบนี้นั้นต้องใช้เวลาและทรัพยากรอย่างมากในการหาจุดที่ลงตัวทั้งผลิตภัณฑ์และบุคลากรที่พร้อมจะขับเคลื่อนบริษัทไปในทุกสภาวะ

ทั้งนี้บริษัทที่มีนวัตกรรมที่ดีและมีความหยืดหยุ่นนั้นเราสามารถพบได้ในทุกอุตสาหกรรมซึ่งเราสามารถที่จะวัดได้จาก 1.ความสามารถในการกำหนดราคาหรือ pricing power อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าบริษัทที่มีสินค้าและบริการที่มีนวัตกรรมที่สูงกว่าและเป็นจุดที่สร้างความแตกต่างสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้ลูกค้ายินดีที่จะยอมจ่ายเพื่อให้ได้สินค้าและบริการนั้น 2.รูปแบบการเติบโตของบริษัท จะมีการเติบโตที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมในระยะยาวเนื่องจากไม่ได้มีความสัมพันธ์กับวัฏจักรเศรษฐกิจแต่ขึ้นกับกระแสหรือแนวโน้มหลักของการเติบโตที่เป็น Secular trend หรือ megatrend trend มากกว่า

โดยบริษัทเหล่านี้จะมีการปรับตัวหรือปรับโครงสร้างของธุรกิจเพื่อเกาะไปกับแนวโน้มเหล่านี้ได้ดีกว่าคู่แข่ง 3. Disruption-free supply chains หรือ รอดจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งเป็นประเด็นที่เห็นชัดเจนอย่างมากในช่วงโควิด-19 ที่ทำให้ภาคการผลิตต้องมีการหยุดชะงักงัน บริษัทที่มีความหยืดหยุ่นในด้านการผลิตและการจัดหาทรัพยากรการผลิตจะสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างมาก

ในด้านการลงทุน เราพบว่าบริษัทที่มีคุณลักษณะที่กล่าวไปข้างต้นเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของบริษัทที่มีคุณภาพที่สูง (High Quality and Excellent Company) จากข้อมูลในอดีตพบว่าการลงทุนในบริษัทลักษณะนี้ในระยะยาวสามารถที่จะสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับการลงทุนในตลาดรวมอย่างมีนัยสำคัญ (ผลตอบแทนในอดีต 30 ปีย้อนหลัง ระหว่างปี 1989-2019 ดัชนี MSCI World Quality Total Return ให้ผลตอบแทน 2,105% 

ขณะที่ MSCI World Total Return Index ให้ผลตอบแทน 611%, ที่มาแหล่งข้อมูลจาก Bloomberg) และที่สำคัญเมื่อตลาดเกิดความผันผวนจากปัจจัยลบต่างๆ หุ้นของบริษัทลักษณะนี้มักจะมีการปรับตัวลงที่น้อยกว่าตลาดรวม ดังนั้นเมื่อมองไปถึงการลงทุนในช่วงข้างหน้าที่เราเข้าสู่ช่วงกลางของวัฏจักรเศรษฐกิจ รวมไปถึงการเริ่มลดวงเงินการซื้อสินทรัพย์ของธนาคารกลางสหรัฐฯ และปัจจัยด้านนโยบายของภาครัฐดังที่ได้เห็นในประเทศจีน อาจจะสร้างความผันผวนให้กับตลาดได้มากขึ้นแต่เรายังแนะนำให้นักลงทุนยังคง Stay Invested ในบริษัทที่มีความหยืดหยุ่นหรือ Resilient Company ที่กล่าวไปข้างต้นซึ่งหากท่านสนใจในบริษัทหรือการลงทุนลักษณะนี้ท่านสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากที่ปรึกษาทางการเงินที่น่าเชื่อถือและไว้วางใจ