Work From Home เป็นผลลบต่อนวัตกรรมองค์กร?
การ Work From Home ได้ส่งเสริมให้โครงสร้างของการทำงาน ถูกพัฒนาไปในรูปแบบของการเป็นไซโล กล่าวคือ มีการพัฒนาวัฒนกรรมองค์กรแบบ กลุ่ม-หมู่-ก๊ก ขึ้นมามากมาย ที่มีการสื่อสารกันเฉพาะภายในกลุ่มอย่างแน่นหนาแต่แทบที่จะไม่มีการสื่อสารกันระหว่างกลุ่มเลย
ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ได้มีการเผยแพร่ผลงาน "The Effects of Remote Work on Collaboration AmongInformation Workers” ในวารสารวิชาการ Nature Human Behavior ที่ได้วิเคราะห์การมีประสิทธิภาพของการทำงานจากที่บ้าน หรือ Work From Home ของพนักงานไมโครซอฟท์ในสหรัฐอเมริกา 61,182 คน ในช่วงเวลา 6 เดือน ของปี 2020
ผลที่ได้คือ การ Work From Home ได้ส่งเสริมให้โครงสร้างของการทำงาน ถูกพัฒนาไปในรูปแบบของการเป็นไซโล กล่าวคือ มีการพัฒนาวัฒนกรรมองค์กรแบบ กลุ่ม-หมู่-ก๊ก ขึ้นมามากมาย ที่มีการสื่อสารกันเฉพาะภายในกลุ่มอย่างแน่นหนาแต่แทบที่จะไม่มีการสื่อสารกันระหว่างกลุ่มเลย
ทั้งนี้เป็นเพราะ การสื่อสารระหว่างกลุ่มนั้น ในสถานการณ์ปกติมักเกิดขึ้นในรูปแบบที่ไม่เป็นทางการ เช่นในการเดินสวนทางกันในที่ทำงาน การคุยเล่นกันก่อนและหลังการประชุม หรือการร่วมรับประทานอาหารในโรงอาหารด้วยกัน
แต่สิ่งเหล่านี้ได้ขาดหายไปในระหว่างการ Work From Home
วัฒนกรรมองค์กรแบบไซโลที่เกิดขึ้นจากการ Work From Home ถูกมองโดยนักวิจัยว่า ไม่เอื้ออำนวยต่อการสร้างนวัตกรรมในองค์กร เพราะการสื่อสารระหว่างกลุ่มเป็นปัจจัยที่สำคัญของการสร้างนวัตกรรม
อย่างไรก็ตาม ผลงานวิจัยดังกล่าว เป็นการสวนกระแสกับผลงานวิจัยจำนวนหนึ่ง ที่ได้ถูกเผยแพร่ออกมาก่อนหน้านี้ ที่ได้ยกย่องการมีประสิทธิภาพของการ Work From Home
ผลงาน "Why Working From Home Will Stick” โดยนักวิจัยจากInstituto Tecnológico Autónomo de México, Stanford University และ University of Chicago ที่ได้ถูกเผยก่อนหน้านี้ ในปีนี้เช่นกัน ก็ได้เปิดเผยว่า การ Work From Home สามารถเพิ่มประสิทธิภาพได้ถึง 2.7% แม้ในยุคหลังโควิด-19
เมื่อผสมผสานบทเรียนจากงานวิจัยทั้งสองแนวทาง อาจตีความได้ว่า การ Work From Home มีประสิทธิภาพสำหรับการทำงานที่โฟกัสและมีการดำเนินงานที่ชัดเจน แต่อาจเป็นผลลบต่อการพัฒนาองค์กรในระยาว ที่ต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบของการสร้างนวัตกรรม
นี่เป็นครั้งแรก ที่มนุษย์เป็นจำนวนมาก ได้ทดสอบการWork From Home และได้เรียนรู้ทั้งข้อดีและข้อเสีย
ในยุคต่อไป ที่เป็นยุคหลังโควิด-19 จะเป็นช่วงเวลาของการเรียนรู้ ที่จะนำข้อดีของการ Work From Home และ การทำงานที่ทำงาน มาประยุกต์รวมกัน สำหรับ ไมโครซอฟท์ เอง เรียกสิ่งนี้ว่า The Hybrid Work Paradox กล่าวคือ พนักงานต้องการอิสระของการทำงานจะที่ไหนก็ได้ ในขณะที่ก็ต้องการการได้แรงบันดาลใจและความง่ายในการสื่อสารของการพบหน้ากัน
และในบางครั้ง ความแตกต่างทางแนวคิด ระหว่างการ Work From Home และ การทำงานที่ทำงาน ก็ได้กลายมาเป็นข้อเรียกร้อง ที่อาจถึงขั้นของความแตกแยก แม้กระทั่งในบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกอย่างเช่น แอปเปิล ที่พนักงาน กว่า 1,000 คนได้ลงนามเพื่อเรียกร้องสิทธิในการ Work From Home ในขณะที่ แอปเปิลกำหนดให้พนักงานต้องเข้าทำงานที่บริษัทอย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์
อย่างไรก็ดี ยังไม่มีบทสรุปสำหรับการ Work From Home หรือ การทำงานที่ทำงาน แต่ละบริษัทชั้นนำในต่างประเทศ ต่างก็มีนโยบายที่แตกต่างกัน และยังไม่เกิด แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด หรือ Best Practice ที่สามารถอ้างอิงเป็นต้นแบบได้
สำหรับประเทศไทยเอง ก็คงต้องกลับมาพูดคุยกันเรื่องนี้อีกครั้ง เมื่อสถานการณ์โควิด-19 เริ่มดีขึ้นอีกครั้งหนึ่ง