การจ้างงานยุค Next Normal แนวคิดใหม่!!! ที่ปฎิเสธไม่ได้

การจ้างงานยุค Next Normal  แนวคิดใหม่!!! ที่ปฎิเสธไม่ได้

ในขณะที่ประเทศไทยอยู่ท่ามกลางวิกฤติการระบาดของไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแรงงานไทย รวมถึงการปรับโครงสร้างอย่างรวดเร็วของภาคธุรกิจได้ส่งผลต่อตลาดแรงงานอย่างมาก

โดย แรงงานที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็เป็นแรงงานภาคบริการที่มีความเปราะบางและศักยภาพในการปรับตัวน้อยที่สุด

ภูมิทัศน์ตลาดแรงงานภายใต้วิกฤติไวรัสโควิด

ตลาดแรงงานไทยประกอบด้วยผู้มีงานทำรวมกันประมาณ 37.58 ล้านคน หากไม่รวมแรงงานในภาคเกษตร ภาคราชการ-รัฐวิสาหกิจ ด้านการศึกษา พบว่ามีแรงงานอยู่ในภาคเอกชนรวมกัน 21-22 ล้านคน เป็นแรงงานในระบบประมาณ 11.077 ล้านคน นอกนั้นเป็นแรงงานนอกระบบหรือบุคคลที่อยู่ในระบบประกันสัมคมมาตรา 39 และ 40 ประมาณ 5.09 ล้านคน ซึ่งบางส่วนเกษียณและ/หรือบางส่วนยังทำงาน

เมื่อพิจารณาแรงงานไทยผู้มีงานทำรวมกันประมาณ 37.58 ล้านคน ปรากฏว่า 45% เป็นเพศหญิง และ 55% เป็นเพศชาย จากจำนวนทั้งหมดนี้ 67% จบการศึกษาชั้นประถม สะท้อนค่าเฉลี่ยระดับการศึกษาของแรงงานไทยยังคงต่ำกว่าหลายประเทศในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ซึ่งมีความเสี่ยงในการถูกเลิกจ้างสูง และจะถูกทดแทนโดยเทคโนโลยีการผลิตมากยิ่งขึ้นในอนาคต ฉะนั้นต้องเตรียมความพร้อมและรับมือกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้วยการเตรียมทักษะให้สามารถทำงานกับนวัตกรรมเทคโนโลยีเหล่านี้ให้ได้

 

แรงงานภาคการค้าและบริการเป็นกลุ่มเปราะบางที่สุด

จากรายงานทางวิชาการ การขับเคลื่อนตลาดแรงงานไทยหลังยุคโควิด-19 สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) กลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ลูกจ้างพนักงาน ในภาคการค้าและบริการ 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มโรงแรมที่พักแรม กลุ่มค้าปลีกค้าส่ง กลุ่มภัตตาคาร ร้านอาหาร กลุ่มศิลปะ บันเทิง และนันทนาการ กลุ่มการศึกษา และกลุ่มกิจกรรมบริการด้านอื่น ๆ ลูกจ้างพนักงาน

กลุ่มที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่เป็นแรงงานหญิง แรงงานที่มีการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาหรือต่ำกว่า และแรงงานที่ได้รับผลกระทบโดยตรง คือ แรงงานกลุ่มรายได้ระดับล่าง (รายได้ 6,000-9,000 บาทต่อเดือน)

จากรายงานสถาบันวิจัยป๋วย อึ้งภากรณ์ (เม.ย.2563) ระบุว่า แรงงานไทยในภาคบริการกว่า 6.1 ล้านคน ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ในการระบาดระลอกแรก และเพิ่มอีก 6.8 ล้านคน เมื่อวิกฤติการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิดช่วงที่ 3 รุนแรง ส่งผลให้รัฐบาลต้องประกาศล็อกดาวน์พร้อมกับเคอร์ฟิว 29 จังหวัดสีแดงเข้มซึ่งรวมกรุงเทพฯ ปริมณฑล และ 4 จังหวัดภาคใต้ กลางเดือนก.ค.2564 ส่งผลให้ตัวเลขคนตกงานคาดการณ์น่าจะพุ่งสูงถึง 3-8 ล้านคน สูงกว่าทุกวิกฤติในอดีตของไทย

การจ้างงานยุค Next Normal  แนวคิดใหม่!!! ที่ปฎิเสธไม่ได้

โครงสร้างตลาดแรงงานปรับรูปแบบหลังวิกฤติโควิด-19

รายงาน The future of work after COVID-19 โดย McKinsey Global Instituteพูดถึง 3 เทรนด์สำคัญที่ส่งผลต่อการจ้างงานแล้ว ได้แก่ 1.รูปแบบการทำงานที่มีการผสมผสานระหว่างการทำงานที่บ้าน และการทำงานในออฟฟิศ โดย 10% ของลูกจ้างในประเทศกำลังพัฒนาเปลี่ยนมาทำงานในรูปแบบนี้มากขึ้น ทำให้เกิดการหดตัวของการจ้างงานในธุรกิจที่เกี่ยวข้องในระยะยาว 2. การเติบโตของการบริโภคผ่านช่องทางออนไลน์ มีผลต่อการเคลื่อนย้ายการจ้างงาน (transition) ของแรงงานทักษะต่ำ ซึ่งเมื่อก่อนจะมีการจ้างงานเยอะในธุรกิจบริการที่เป็นร้านค้า และร้านอาหาร มาเป็นการจ้างงานในภาคการขนส่งสินค้าจากผู้ขายไปสู่ผู้บริโภค และ 3.การนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการทำงานมากขึ้น (automation and AI) ทำให้งานที่ถูกทดแทนได้ด้วยหุ่นยนต์ เช่น สายงานการผลิตในโรงงาน แคชเชียร์ในร้านที่ใช้ customer kiosks แทนมนุษย์ จะหายไปถาวร

ทั้ง 3 ปัจจัยเบื้องต้น ทำให้เห็นถึงความลึก กว้าง และเร่งด่วนของปัญหาการจ้างงานในระยะยาว การออกแบบการจ้างงานในอนาคตจะต้องมีความยืดหยุ่นที่จะทำให้ทรัพยากรมนุษย์ถูกนำมาใช้ในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

โควิด-19 ผลกระทบต่อการจ้างงานใหม่ และแรงงานนอกระบบของไทย

ในอดีต ตลอดช่วงระยะเวลากว่าทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยนับว่ามีอัตราการว่างงานที่ตํ่ามาก คือ ประมาณ 1% เนื่องจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่แรงงานมากกว่าครึ่งของทั้งหมด เป็นแรงงานนอกระบบ คำจำกัดความของแรงงานนอกระบบคือ แรงงานที่ทำงานแต่ไม่ได้รับความคุ้มครอง หรือไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงาน ซึ่งเกือบทั้งหมดอยู่ในภาคการค้าและบริการ เรามักจะไม่ค่อยพบแรงงานนอกระบบในประเทศที่พัฒนาแล้ว กล่าวคือ นักศึกษาจบใหม่จะเข้าทำงานในระบบ หรือว่างงาน ซึ่งแตกต่างจากประเทศไทย ที่แรงงานกลุ่มใหม่มีทางเลือกทั้งทำงานในระบบ ว่างงาน หรือได้งานนอกระบบ โดยตลาดแรงงานนอกระบบเป็นที่แพร่หลายในประเทศไทย คิดเป็น 54% ของแรงงานทั้งหมดโดยประมาณ

ความท้าทายมาจากตลาดแรงงานที่เปราะบางในภาคการค้าและบริการซึ่งประกอบด้วยแรงงานนอกระบบ ที่ส่วนใหญ่ “ไร้ทักษะ” และกึ่งทักษะจำนวนมาก ขณะที่แรงงานใหม่ 5 แสนกว่าคนที่เข้ามาเสริมทุกปีเป็นผู้จบระดับอุดมศึกษามีสัดส่วนสูงถึง 70% ส่วนใหญ่เป็นสาขาที่ไม่ตรงกับความต้องการการจ้างงานยุคใหม่ 

ที่สำคัญ อีกประเด็นหนึ่ง ตลาดแรงงานของไทยประกอบด้วยแรงงานสูงวัยหรือ “High Aged Labours” อายุ 50 ปีขึ้นไปรวมกันประมาณ 9.52 ล้านคนคิดเป็นสัดส่วน 25.4%

คำถามที่เกิดขึ้นคือ ผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีต่อแรงงานนอกระบบ แรงงานใหม่ และ แรงงานสูงวัย ในประเทศไทย อย่างไร จากภาวะเศรษฐกิจขาลงที่การจ้างงานในระบบที่มัการปรับโครงสร้างสู่ Lean Organization และ ใช้เทคโนโลยีในกระบวนการทำงานมากขึ้น

การจ้างงานประจำรายชั่วโมง คำตอบของการจ้างงานยุค New Normal

การจ้างงานประจำรายชั่วโมงมีข้อดี คือ เป็นการจ้างงานที่มีความยืดยุ่นสูงและสามารถปรับให้เข้ากับ โครงสร้างตลาดแรงงานปรับรูปแบบหลังวิกฤติโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี 

ที่ผ่านมา ธุรกิจภาคการค้าและบริการมีการจ้างรายชั่วโมงเฉพาะนักเรียน นักศึกษาและผู้สูงอายุตามกฎหมายที่กำหนดไว้ แต่ก็ไม่พอเพียงและความยืดหยุ่นชั่วโมงค่อนข้างจำกัด 

ทั้งนี้ วัตถุประสงค์การจ้างนักศึกษา และผู้สูงอายุมีข้อจำกัดในเรื่องทักษะการทำงาน ความรู้ และความชำนาญในงานที่ปฏิบัติ โดยเฉพาะงานที่ต้องการเน้นในเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน การจ้างงานเประจำป็นรายชั่วโมงเป็นการทั่วไปนั้น ถือว่าเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งและสอดคล้องกับรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไปตามเทคโนโลยี เพราะงานบางอย่างไม่จำเป็นต้องทำเต็มเวลา หรือทำอยู่ในสำนักงาน ทำให้ลูกจ้างมีทางเลือกในการหารายได้มากขึ้น และส่งเสริมการมีงานทำได้หลากหลายอาชีพมากขึ้นไม่ข้อจำกัดของสถานที่และเวลาในการปฏิบัติงาน

การจ้างงานประจำรายชั่วโมงจะได้สวัสดิการ ไม่ได้มีความแตกต่างกับการจ้างงานประจำรายเดือนแต่อย่างไร เพียงแต่การคำนวณการจ้างงานเป็นวันก็เป็นรายชั่วโมง อาทิ เช่น เรื่องสิทธิประโยชน์วันหยุด วันลาโดยได้รับค่าจ้าง โดยคิดตามสัดส่วนเช่นเดียวการจ้างงานรายเดือน (เป็นความรวมมือของภาครัฐ และเอกชน ที่มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และสามารถส่งเสริมการจ้างงานให้มีความหลากหลายและมีทางเลือกให้กับผู้ประการและมีความยืดหยุ่นสูงสำหรับลูกจ้าง สามารถกำหนดชั่วโมงการทำงาน และสถานทีทำงานที่สอดคล้องกับลูกจ้างได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีนายจ้างเดียวในการจ้างงาน ส่วนสิทธิ์สวัสดิการต่างๆ สามารถออกแบบให้เหมาะสมโดยหากจากค่าจ้างเพื่อนำส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการออกแบบสวัสดิการให้มีความสอดคล้องกลับสิทธิ์ และสวัสดิการต่างๆ ที่จะมีการร่วมกับออกแบบ ดังเช่นที่ผ่านมาเช่นใน ม.39 ม. 40 เป็นต้น

การจ้างงานประจำรายชั่วโมง เหมาะกับการจ้างงาน แรงงานนอกระบบ แรงงานใหม่ และ แรงงานสูงวัย ที่ส่วนใหญ่อยู่ในภาคการค้าและบริการที่ได้ผลกระทบจากการแพร่ระบาด โควิด 19 มากที่สุด แต่ไม่เห็นด้วยกับการนำระบบนี้มาใช้เต็มที่ในภาคอุตสาหกรรม การจ้างงานประจำรายชั่วโมง สำหรับภาคการค้าสินค้าและการค้าบริการจึงเป็นอัตราการจ้างงานเพิ่ม มิได้ไปทดแทนการจ้างงานประจำแต่อย่างใด เพื่อสอดรับการให้บริการช่วงพีคของวันในแต่ละช่วงให้เกิดประสิทธิภาพการบริการลูกค้าสูงสุด

 บทสรุปของ แนวคิดใหม่ !!!!

ดังนั้น เพื่อพยุงธุรกิจไว้ให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ ประกอบกับในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงการจ้างงานหรือการทำงานแบบไม่เต็มเวลามากขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่กระทรวงแรงงานจะต้องมีนโยบายในการส่งเสริมและคุ้มครองลูกจ้างที่มีการทำงานไม่เต็มเวลาให้ได้รับค้าจ่างที่เหมาะสมเพื่อรองรับความปกติใหม่ในด้านการจ้างงาน และ ได้พิจารณาออกประกาศอัตราค่าจ้างรายชั่วโมงเพื่อคุ้มครองลูกจ้างที่มีการทำงานไม่เต็มเวลาและเป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีการจ้างงานประจำรายชั่วโมง