สุพันธุ์ มงคลสุธี : ถึงเวลาต้องโฟกัสฟื้นฟูเศรษฐกิจจริงจัง

สุพันธุ์ มงคลสุธี : ถึงเวลาต้องโฟกัสฟื้นฟูเศรษฐกิจจริงจัง

สวัสดีผู้อ่านคอลัมน์ Think Forwards ทุกท่านครับ เข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยยังคงอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อไป

ในหลายๆ ประเทศสถานการณ์เริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดี ขณะที่ประเทศไทยเอง ตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเริ่มลดลงบ้าง แม้บางช่วงผู้ติดเชื้อจะลดลงมาแตะหลักพัน หรือบางช่วงกลับขึ้นไปหลักหมื่น แต่ก็ไม่อยากให้ทุกคนโฟกัส หรือตื่นตระหนกกับตัวเลขผู้ป่วยหรือผู้เสียชีวิตมากนัก เพราะเชื่อว่า ทุกคนต้องอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นี้ไปอีกนาน  

เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องหาวิธีที่จะอยู่ร่วมกับโควิด-19 อย่างไรให้อยู่รอดทั้งชีวิต ธุรกิจ หน้าที่การงาน รัฐบาลเองก็ต้องหาวิธีที่จะทำอย่างไรให้ประชาชนไม่ลำบาก การจัดหาและการฉีดวัคซีนให้เพียงพอ มีประสิทธิภาพ ยังเป็นประเด็นสำคัญที่ภาครัฐต้องให้ความสำคัญต่อไป แม้ว่าในปัจจุบันนี้คนไทยได้รับวัคซีนกันมากในระดับหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่ต้องบูธเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิต้านทาน   
 
เมื่อระบบสาธารณสุข เริ่มดีขึ้นแล้ว จึงอยากให้ทุกภาคส่วนหันมาโฟกัสเรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยอย่างจริงจังเข้มข้น หลังจากที่ผู้ประกอบการหลายต่อหลายคน ต่างอยู่ในสภาวะการประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นช่วงเวลายากลำบากไปให้ได้

โดยเฉพาะคนตัวเล็ก หรือเอสเอ็มอี มีหลายกิจการต้องเลิกไป หลายรายที่อยู่รอดก็อาการหนัก บางรายยังถูกซ้ำเติมด้วยเหตุการณ์น้ำท่วมอีกด้วย

จึงเป็นเรื่องที่ภาครัฐ ต้องเข้ามาฟื้นฟู เยียวยาอย่างเร่งด่วน  โดยเฉพาะการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ อาทิ เพิ่มโครงการคนละครึ่ง เป็น 6,000 บาท จากเดิม 3,000 บาท เพราะเห็นผลชัดเจน เป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพ หรือการฟื้นโครงการช้อปดีมีคืน ให้ลดหย่อนภาษี และกระตุ้นการท่องเที่ยว ล่าสุดกลับมาเปิดให้ประชาชนที่ลงทะเบียนรับสิทธิเข้าร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 จองสิทธิโครงการตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป

ในเรื่องการท่องเที่ยว สิ่งสำคัญ คือ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรจัดระบบให้มีประสิทธิภาพ ปราบมาเฟีย ที่ทำให้ภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทยเสียหายให้หมดไปอย่างเด็ดขาด เพื่อป้องกันนักท่องเที่ยวถูกเอารัดเอาเปรียบ 

 

ส่วนมาตรการระยะยาว รัฐต้องหามาตรการเพื่อเสริมสร้างและรักษาฐานการผลิต รับมือสงครามทางการค้า ผลักดันอุตสาหกรรมใหม่ๆ โดยการลงทุนภาครัฐควรทำต่อเนื่องทั้งการลงทุนโดยรัฐเอง และการลงทุนแบบ PPP พร้อมสร้างบรรยากาศการลงทุน และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไปอย่างเต็มศักยภาพ 

ด้านผู้ประกอบการเอง ก็ต้องกล้าเปลี่ยน เปลี่ยนกลยุทธ์ให้ตอบโจทย์ตลาด เพื่อให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเปลี่ยนรูปแบบสู่ดิจิทัล ยุคใหม่ต้องคิดให้ต่าง โดยใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาเป็นตัวช่วย เพื่อเป็นการลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมทั้งยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอีกด้วย

ขณะที่การตลาด ผู้ประกอบการควรมี 3 กลยุทธ์ Go Online, Go Global และ Go Government ซึ่งภาครัฐมีงบประมาณการจัดซื้อจัดจ้างทั่วประเทศ แต่ละปีกว่า 1.77 ล้านล้านบาท หรือกว่า 5 ล้านโครงการ จึงเป็นที่มาของการผลักดันโครงการ MADE IN THAILAND  สนับสนุนให้ภาครัฐจัดซื้อจัดจ้างสินค้าไทย รวมทั้งรณรงค์ให้ภาคเอกชนซื้อสินค้าคนไทยด้วยกัน เพื่อเป็นทางรอด เปิดตลาดที่สำคัญให้ธุรกิจของคนไทยแข็งแกร่งอย่างยั่งยืน  

หากท่านผู้อ่านหรือนักธุรกิจท่านใดอยากทราบข้อมูลด้านอุตสาหกรรมเพิ่มเติม สามารถแอดไลน์ของสภาอุตสาหกรรมฯ ได้ที่ @ftithailand หรือทักเข้ามาได้ที่เฟซบุ๊กของผมตามลิงก์นี้ได้เลยครับ www.facebook.com/ftichairman