โรงพยาบาล "พอ" | ประเสริฐ เอี่ยมรุ่งโรจน์

โรงพยาบาล "พอ" | ประเสริฐ เอี่ยมรุ่งโรจน์

ผมมีความสงสัยว่าโรงพยาบาลในประเทศไทยทำไมมีทางเลือกให้ประชาชนเพียง 2 เส้นทาง หนึ่งโรงพยาบาลของรัฐ และสองโรงพยาบาลของเอกชน

โรงพยาบาลของรัฐที่คนไข้กว่าจะได้รับบริการต้องเสียเวลาคอยเป็นเวลานานกว่าจะได้รับการรักษา ทางเลือกที่สองเจ็บปวดไปมากกว่านั้นคือโรงพยาบาลเอกชนที่คนไข้ถูกขูดเลือดขูดเนื้ออย่างมหาศาล แค่ค่ายาถูก mark up เป็นร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำไมไม่มีทางเลือกที่สาม นี่เป็นที่มาที่ผมสร้าง business model ใหม่บนคำว่า "พอเพียง" เป็นโรงพยาบาลเอกชน ที่เจ้าของคือตัวคนไข้ 

ผมตั้งสมมติฐานง่าย ๆ อย่างนี้ครับว่าให้คนไข้หนึ่งคนซื้อหุ้นโรงพยาบาลนี้คนละ 500,000 บาท แล้วมีคนมาซื้อหุ้น 1,000 คน โรงพยาบาลนี้จะมีเงินตั้งต้นที่จะเริ่มประกอบกิจการที่ 500 ล้านบาท ถ้าเงิน 500,000 บาทสูงเกินไป เราอาจจะสร้างเป็นเงินลงทุนสองระดับ 200,000 บาทและ 500,000 บาท ด้วยจำนวนเงินนี้สามารถสร้างโรงพยาบาลขนาดย่อมได้หนึ่งโรงพยาบาล แล้วจัดหาแพทย์ที่มี empathy กับคนไข้ ไม่ใช่แพทย์เชิงพาณิชย์ที่มีดาษดื่นในทุกวันนี้ 

ผมมั่นใจแพทย์ที่มี empathy และไม่เห็นด้วยกับการทำธุรกิจในรูปแบบที่เอาเงินเป็นตัวตั้งมีแน่นอนและมีจำนวนพอสมควร เพียงแต่ว่าแพทย์เหล่านี้ไม่มีเวทีให้พวกเขาทำงานบนจิตวิญญาณของความเป็น “หมอ” คนเหล่านี้เมื่อมาทำงานที่นี่ พวกเขาจะมีความสุข เพราะพวกเขาไม่ต้องทำงานเสมือนหนึ่งเป็นเครื่องพิมพ์ธนบัตรให้กับนายทุน 

ผมขออธิบายคำว่า empathy เพราะคำคำนี้มีความหมายที่ลึกซึ้ง empathy คือความสามารถของผู้คนในการเข้าใจแบบหยั่งรู้ถึงความรู้สึกและอารมณ์ของคนไข้ ไม่ใช่ทำอย่างฉาบฉวย แต่ด้วยความละเมียด คนที่มี empathy ไม่ใช่แค่อ่านความรู้สึกของคนไข้ แต่เขาแคร์ต่อความเป็นดีอยู่ดีของผู้คนที่เจ็บป่วย อยากให้คนไข้มีความสุขและสุขภาพที่แข็งแรงตามสภาพร่างกายที่ควรจะเป็น 

แก่นของความมี empathy คือการที่เรามองโลกจากมุมมองของผู้อื่น และละเอียดอ่อนต่อความรู้สึกนั้น ไม่ว่าเรื่องใหญ่หรือเรื่องเล็ก และดูแลคนไข้เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของคนฝั่งตรงกันข้ามดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เคยมีคนถามผมว่าแพทย์ที่มี empathy มีอยู่ในประเทศไทยมีมากพอที่จะเปิดโรงพยาบาลใน model ใหม่นี้หรือ คำตอบคือมีแน่นอน แต่ทุกวันนี้แพทย์เหล่านี้้้เล่นผิดเวที ไปเล่นเวทีที่นายทุนเป็นคนควบคุมวง

ส่วนผู้ถือหุ้น 1,000 คนเมื่อมาใช้บริการที่โรงพยาบาลนี้ เงินลงทุนที่พวกเขาควักมาเป็นทุนตั้งต้นพวกเขาจะได้สิทธิพิเศษเป็นส่วนลด นอกจากนั้นจะมีคนไข้ที่ไม่ใช่ผู้ถือหุ้นมาใช้บริการด้วย ที่สำคัญคือค่ารักษาเป็นค่ารักษาที่เป็นราคายุติธรรม สมเหตุสมผล ไม่ใช่ราคาที่ขูดเลือดขูดเนื้ออย่างที่โรงพยาบาลเอกชนทั่วไปคิดค่ารักษา ด้วย model นี้ทำให้เกิดทางเลือกที่สามที่เป็น win-win solution ทั้งคุณหมอที่ไม่ต้องรับใช้นายทุนหน้าเลือด 

ผมมีคุณหมอกรณ์ ปองจิตธรรมที่ยินดีเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงทำเรื่องนี้เพื่อรวบรวมคุณหมอที่มีจิตวิญญาณเดียวกัน, founding member มีสิทธิเป็นเจ้าของโรงพยาบาล พร้อมมีสิทธิพิเศษ และยังแผ่อานิสงส์ไปรับคนไข้นอกที่ไม่ต้องไปใช้บริการโรงพยาบาลรัฐหรือโรงพยาบาลเอกชนที่ผู้บริหารที่วันวันคิดแต่คำว่า เงิน เงิน และเงิน

ผู้อ่านอาจจะถามว่า model นี้มีความเป็นไปได้หรือไม่ในเชิงพาณิชย์ ที่รักษาคนไข้ด้วย fair pricing แล้วจะอยู่ได้หรือ อยู่ได้แน่นอนครับ ถ้าเราไปดูงบกำไรของโรงพยาบาลที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ องค์กรเหล่านั้นกำไรเกินความเป็นจริงอย่างมหาศาลครับ ผมคิด model นี้โดยมีเพื่อนคู่คิดคือคุณหมอกรณ์ ปองจิตธรรมซึ่งมีประสบการณ์ในการรักษาคนไข้ด้วย empathetic mindset และเคยบริหารโรงพยาบาลขนาดใหญ่มาก่อน

ดังนั้น model ที่พวกเราสร้างขึ้นมาเพื่อ disrupt วงจรหลุมดำ ทำให้ระบบสาธารณสุขของประเทศมีทางเลือกใหม่ทำให้คนชนชั้นกลางมีชีวิตที่กว่าเดิม โดยผมขอตั้งชื่อโรงพยาบาลว่า "พอ"

ขออธิบายในรายละเอียดว่าทางเลือกใหม่นี้ทำให้ชีวิตของคนไทยดีขึ้นอย่างไร เริ่มต้นต้องบอกว่าโรงพยาบาลพอ ถึงแม้เป็นโรงพยาบาลเอกชนแต่ไม่ได้บริหารงานโดยเอาเงินเป็นตัวตั้ง นี่เป็น pain point ที่เจ็บปวดมากสำหรับผู้คนที่เจ็บป่วย เพราะค่าใช้จ่ายในการรักษาคนไข้ที่ป่วยด้วยโรคหนักแทบทำให้ผู้คนหมดสิ้นประดาตัว เพราะราคาค่ารักษามันแพงเกินกว่าเหตุ ทั้งค่ายาและค่าหมอมันเป็นราคาที่ไร้สติ และถ้าท่านผู้อ่านเป็นคนช่างสังเกต เวลาดูบิลค่ารักษาพยาบาลมันจะมีหมวดหมู่ค่ารักษาที่อธิบายไม่ได้ซ่อนไว้เต็มไปหมด 


ตัวอย่างเช่นค่าบริการทางการแพทย์ ซึ่งไม่รู้ว่ามันคืออะไร ถามก็ไม่ได้รับคำชี้แจงที่ชัดเจน ผมแปลความหมายมันคือเงินกินเปล่าที่มารุมกินโต๊ะคนไข้ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ค่าเหยียบแผ่นดิน" เป็นรายได้กินเปล่าที่ overcharge คนไข้อย่างไม่มีที่มาที่ไป อีกเรื่องหนึ่งคือค่า doctor fee ที่สูงเกินกว่าเหตุ ผมมีเรื่องเล่าดังนี้เพื่อนผมที่เป็นหมอเคยเล่าว่าเขานั่งในห้องพักแพทย์ แล้วหมอท่านอื่นคุยโม้โอ้อวดกันอย่างออกรสออกชาติว่านาฬิกาข้อมือของใครแพงกว่ากัน 

ทราบไหมครับราคานาฬิกาที่พวกนายแพทย์เหล่านั้นคุยกันราคาหลักเรือนละล้านบาท ถามว่านาฬิกาแต่ละเรือนมาจากไหน ก็ได้จากค่า doctor fee ที่ overcharge คนไข้นี่แหละครับ ประเด็นคือหมอเชิงพาณิชย์มันมีอยู่ดาษดื่นที่สร้างความเดือดร้อนกับประชาชน

นี่เป็นที่มาที่คุณหมอกรณ์ ปองจิตธรรมและผมมีแนวคิดที่อยากสร้างโรงพยาบาล "พอ" รูปแบบของโรงพยาบาลนี้คือเป็น social enterprise ไม่ใช่โรงพยาบาลเอกชนเต็มตัว เป็นทางเลือกใหม่ให้กับคนไข้ แนวคิดคือระดมทุนจากคนไข้มาสร้างโรงพยาบาล เคยมีคนให้ความเห็นว่าเงินจำนวนนี้ไม่สามารถสร้างโรงพยาบาลขนาดย่อมได้ ผมมีความเห็นตรงกันข้าม ทำได้ครับ แต่เราต้องสร้าง model ใหม่ที่ปฏิวัติ model เก่าโดยสิ้นเชิง โดยมีรายละเอียดดังนี้

1.เรื่องที่ดิน เราจะขอบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา ในเมื่อยังมีผู้มีจิตศรัทธายินดียกที่ดินสร้างวัด ทำไมไม่มีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคที่ดินสร้างโรงพยาบาล "พอ" เพื่อให้คุณภาพชีวิตคนไทยดีขึ้นกว่าเดิม แล้วไม่ต้องถูกรุมกินโต๊ะจากนายทุนที่หน้าผากเขียนคำว่า เงิน เงิน เงิน เอาอย่างนี้ครับ ไม่ต้องบริจาคก็ได้ ขายที่ดินให้กับโรงพยาบาลในราคาที่เป็น fair price เพื่อให้โรงพยาบาลเพื่อสังคมมีโอกาสรับใช้ประชาชน ผมเชื่อว่ามีผู้ที่มีจิตกุศลอยากช่วยให้แนวคิดนี้เกิดเป็นจริงได้

2.  ผู้ถือหุ้นของโรงพยาบาลมีสิทธิได้รับส่วนลดพิเศษจาก fair pricing และเรายังรับผู้ป่วยนอกที่ไม่ใช่ผู้ถือหุ้น สิ่งที่พวกเขาได้รับบริการคือได้รับการดูแลจากนายแพทย์ที่มีจิตวิญญาณของ "หมอ" ที่แท้จริง และค่ารักษาพยาบาลที่เป็นราคายุติธรรม ตัวอย่างหนึ่งคือราคายาจะ mark up ไม่เกิน 40 %

3. Social enterprise นี้จะไม่จ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นเป็นเวลาแปดปี เพื่อให้กำไรของโรงพยาบาลนำกลับมาเป็น working capital ในการพัฒนาตัวโรงพยาบาลให้มีขีดขั้นความสามารถในการดูแลผู้ป่วยให้มากขึ้นกว่าเดิม ประเด็นคือเราจะเริ่มจากเล็ก แล้วใช้กำไรขยายตัวโรงพยาบาลให้ใหญ่ขึ้นเป็นเงาตามตัว

4. จำกัดจำนวนคนไข้ OPD ที่ตรวจต่อวัน เพื่อให้คุณหมอแต่ละท่านมีเวลามากพอที่จะใช้เวลากับคนไข้ได้อย่างเต็มที่ ประเด็นคือโรงพยาบาลนี้เน้นที่คุณภาพ ไม่เหมือนกับ model ของโรงพยาบาลปัจจุบันที่คนไข้ต้องเล่นเก้าอี้ดนตรี เจอหมอเพียง 10 นาทีต่อคน และหมอทุกคนถูกคัดกรองว่าเป็นหมอที่มี empathy มีจิตวิญญาณของความเป็นแพทย์ที่แท้จริง

5. ควบคุม cost of operation ผมทราบมาว่าการจัดซื้อจัดจ้างในการซื้อเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ของโรงพยาบาลบางแห่ง มีความไม่โปร่งใส ซึ่งนั่นหมายความว่าต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจะถูกผลักให้คนไข้ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่สูงเกินควร

6. ผลตอบแทนของหมอไม่ใช่อยู่ในรูปแบบของ doctor fee per case จะเป็นรูปเงินเดือน หรือ man hour basis ที่คิดเช่นนี้เพื่อให้เกิดความยุติธรรมกับคนไข้ และหมอไม่เร่งรีบตรวจเพื่อหา case เป็นจำนวนมากต่อวัน

7. มีผู้อ่านบอกว่าเครื่อง MRI ตัวหนึ่งราคาสูงมากหลายสิบล้านบาท แล้วแนวคิดของเราจะเป็นจริงได้หรือ คำตอบคือโรงพยาบาลพอ ไม่จำเป็นต้องมีเครื่องมือที่ยังไม่จำเป็นในช่วงแรก เราสามารถ networking กับศูนย์ MRI แล้วส่งคนไข้ของเราไปตรวจ เท่าที่ผมทราบข้อเท็จจริง MRI ของโรงพยาบาลบนถนนสุขุมวิทมัน over-supply นี่เป็นความสูญเปล่าทางด้านทรัพยากร

หลักคิดคือเราอยากทำเรื่องนี้ด้วยจิตใจบริสุทธิ์เพื่อให้ประชาชนมีชีวิตใหม่ แล้วอะไรคือผลลัพธ์ หนึ่งโรงพยาบาลอยู่ได้ สองคุณหมอพันธุ์พิเศษจะมีความสุขที่ไม่ต้องรับใช้นายทุนหน้าเลือด และคนไข้อยู่ดีมีสุข

ประเทศไทยต้องมีวันที่ดีกว่าวันนี้ ท่านผู้อ่านมีความเห็นกับ model นี้อย่างไรครับ