เร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ก่อนเปิดประเทศ
เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าไทย จะเปิดประเทศอีกครั้งในต้นเดือนหน้า หลังจากนายกฯ ออกมาประกาศผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ
การประกาศเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย. เพื่อรับนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศความเสี่ยงต่ำโดยไม่ต้องกักตัว รวมถึง อังกฤษ สิงคโปร์ เยอรมนี จีน และสหรัฐ ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ก็ยังไม่ลดระดับความรุนแรงลง ถือเป็นการตัดสินใจที่มีความเสี่ยง ดังนั้นย่อมมีทั้งจุดดีและจุดด้อย
ทุกครั้งในการตัดสินใจเปิดหรือปิดเมือง ประเทศนั้น รัฐบาลย่อมได้รับเสียงวิจารณ์ เพราะการบริหารงานบ้านเมืองคือการบริหารจัดสรรแบ่งปันผลประโยชน์ ดังนั้นทุกการตัดสินใจจึงจะมีผู้ได้ ผู้เสีย และมีทั้งผู้พอใจและผู้ไม่พอใจ เพราะประชาชนทุกคนมีสิทธิ มีเสียง มีปัญญา มีความเห็นของตัวเอง และนั่นคือความสวยงามของระบอบประชาธิปไตย
หากรัฐสามารถทำให้ประชาชนเชื่อได้ว่าการตัดสินใจเปิดประเทศครั้งนี้ทำไปเพื่อผลประโยชน์ของประเทศแล้ว ประชาชนก็จะเข้าใจ และให้ความร่วมมือกับมาตรการต่าง ๆ
คนไทยหลายคนทราบว่า ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากและเราก็พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวมาก แต่น้อยคนนักจะทราบว่าไทยเรานั้นรับนักท่องเที่ยวหลายสิบล้านคนทุกปี และบางปีก็พีคมากจนทำให้ตัวเลขแตะถึงระดับ 40 ล้านคน ขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยวรวมช่วงก่อนการระบาดของโควิดนั้นสูงถึง 3 ล้านล้านบาท (ในปี 2562)
3 ล้านล้านบาทนั้นมาจากรายได้จากนักท่องเที่ยวคนไทย 1 ล้านล้านบาท และจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2 ล้านล้านบาท ดังนั้นจึงพูดได้ว่า เศรษฐกิจไทยนั้นพึ่งพาการท่องเที่ยวอย่างมาก การตัดสินใจเปิดประเทศจึงเป็นการตัดสินใจที่กระทำลงบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงนี้โดยคำนึงถึงปากท้องของประชาชน
แน่นอนว่า การเปิดประเทศนั้นมีความเสี่ยง ดังนั้นจึงมีความพยายามในการลดความเสี่ยงลงด้วยมาตรการต่าง ๆ อาทิ การรับเฉพาะนักท่องเท่ียวที่ฉีดวัคซีนแล้ว มีการตรวจก่อนเข้าประเทศอีกครั้ง การรับนักท่องเที่ยวจากประเทศเสี่ยงต่ำ การเปิดพรมแดนเฉพาะทางอากาศ การเพิ่มระดับเปิดประเทศและแยกเปิดกิจการเสี่ยงน้อยไปยังเสี่ยงมากในช่วงเวลาที่ต่างกัน ทั้งหมดทั้งมวล คือ ความตั้งใจดี แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ การนำนโยบายสู่ภาคปฏิบัติ
“แล้วเราพร้อมเปิดประเทศแล้วหรือ” น่าจะเป็นคำถามที่เกิดขึ้นในใจประชาชนทุกคนและเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องอธิบาย หากเราใช้สมมติฐานที่ว่า เราจะพร้อมเปิดประเทศเมื่อประเทศไทยได้เข้าสู่ภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ นั่นคือ ประชากรกว่า 70% ของประชากรทั้งหมดในประเทศ (ประมาณ 70 ล้านคน)
ขณะนี้ ไทยได้ฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้วกว่า 62 ล้านโดส ซึ่งกระจายวัคซีนจนครบโดสแล้วแก่ประชากรจำนวน 24 ล้านคน คิดเป็น 35% หากตอบตรง ๆ จากภาพรวมของประเทศ จึงต้องตอบว่า เราไม่พร้อม
แต่มิติทางการเมืองและเศรษฐกิจนั้นมีความซับซ้อนละเอียดอ่อน การระดมฉีดวัคซีนประชากรในกรุงเทพฯ ในเมืองใหญ่ ในหัวเมืองท่องเที่ยว อาทิ ภูเก็ต เกาะสมุย ก่อนประชากรที่เหลือนั้นล้วนมีเหตุผล และเหตุผลก็คือการขับเคลื่อนหัวเมืองเส้นเลือดหลักของเศรษฐกิจไทย และการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวรับเม็ดเงินเพื่อมาหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจของประเทศทั้งหมด
ดังนั้น โมเดลการให้ความสำคัญกับภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่เหล่านี้จึงมีความสำคัญต่อการเปิดเมือง เช่นเดียวกับการปรับสมดุลให้ประชากรไทยทุกคนได้รับวัคซีน ไล่ลำดับความสำคัญจากความเสี่ยงสูงไปยังต่ำ ซึ่งก็เป็นโมเดลที่ต่างประเทศใช้เช่นเดียวกัน
รัฐจึงควรให้ความสำคัญกับการเร่งระดมฉีดวัคซีนประชากรในเมืองใหญ่ให้ถึงภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ให้เร็วและเรียบร้อย ก่อนการเปิดประเทศในต้นเดือน พ.ย.นี้